เมทิเซอร์ไจด์ (Methysergide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 กันยายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- เมทิเซอร์ไจด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เมทิเซอร์ไจด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เมทิเซอร์ไจด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมทิเซอร์ไจด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เมทิเซอร์ไจด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เมทิเซอร์ไจด์อย่างไร?
- เมทิเซอร์ไจด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเมทิเซอร์ไจด์อย่างไร?
- เมทิเซอร์ไจด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไมเกรน (Migraine)
- โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
- เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ (Serotonin antagonists)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic daily headache)
- อาการปวดศีรษะร้ายแรง:สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ (Red Flag in Headache)
บทนำ
ยาเมทิเซอร์ไจด์ (Methysergide หรือ Methysergide maleate) คือยาประเภทเซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ (Serotonin antagonists) สามารถออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของตัวรับ(Receptor)ที่ผนังหลอดเลือดในสมอง หรือที่เรียกว่า เซโรโทนิน รีเซ็ปเตอร์ (Serotonin receptors/5-HT receptors/ 5-hydroxytryptamine receptor) ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว ซึ่งสภาพการหดตัวของหลอดเลือดในสมองเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยลดอาการปวดศีรษะประเภทไมเกรน นอกจากนี้ ยาเมทิเซอร์ไจด์ยังนำมาประยุกต์ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะอันเนื่องมาจากหลอดเลือดดำที่มาหล่อเลี้ยงสมองเกิดอาการบวมอีกด้วย ยานี้ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน แต่จะถูกใช้เป็นยาควบคุมอาการไมเกรนมิให้กำเริบ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเมทิเซอร์ไจด์คือยารับประทาน โดยการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น
ข้อห้ามใช้และข้อควรระวังของยาเมทิเซอร์ไจด์ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้กับ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการไหลเวียนของโลหิต ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคปอด ผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคข้อ ด้วยยาเมทิเซอร์ไจด์จะทำให้อาการของโรคดังกล่าวกำเริบและเป็นมากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้รักษาไมเกรนที่มีอาการทางสมองร่วมด้วยที่เรียกว่า Hemiplegic migraines หรือ Basillar migraines
- ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร เพราะยานี้สามารถก่อ ให้เกิดอาการข้างเคียงได้อย่างรุนแรงกับเด็ก และทารก
- หลังรับประทานยานี้แล้ว มีอาการตาพร่า หรือเวียนศีรษะ ห้ามไม่ให้ผู้ป่วยขับขี่ ยวดยานพาหนะหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะก่อให้เกดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาดที่แพทย์กำหนด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียนอย่างรุนแรง รูม่านตาขยายกว้าง หัวใจเต้นเร็ว มื้อ-เท้าเย็นและมีสีคล้ำ มีอาการเคลิบเคลิ้ม หากพบเห็นผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
- ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันผลข้างเคียงที่อาจ เกิดขึ้นอย่างรุนแรงตามมา
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ระวังการเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย อาทิ หัวใจเต้นผิดปกติ แน่นหน้าอก/หายใจลำบาก ตาพร่า ตัวบวม กรณีเกิดอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ทันที
- ระวังการเกิดพังผืดที่เยื่อบุช่องท้อง ซึ่งจะทำให้เลือดที่ถูกลำเลียงจากเส้นเลือดแดง/หลอดเลือดแดงใหญ่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะช่วงล่างของร่างกายลดน้อยลงและก่อให้เกิดอาการปวดท้องหรือปวดหลัง การปวดอาจรุนแรงเหมือนโดนเข็มแทง อาจเกิดเลือดออกในช่องท้อง นอกจากนี้อาจพบอาการปวดและบวมที่ขาร่วมด้วย
เพื่อความปลอดภัยเมื่อต้องใช้ยาเมทิเซอร์ไจด์ ผู้ป่วยต้องรับประทานยาและปฏิบัติตัวตามที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำเท่านั้น
ในตลาดการค้ายาแผนปัจจุบัน เราจะพบเห็นยาเมทิเซอร์ไจด์ถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Deseril และ Sansert
เมทิเซอร์ไจด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเมทิเซอร์ไจด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ป้องกันและควบคุมอาการปวดศีรษะไมเกรน(Migraine) และปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster headache)
เมทิเซอร์ไจด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเมทิเซอร์ไจด์มีกลไกออกฤทธิ์ที่ตัวรับที่บริเวณกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดที่สมอง ดังได้กล่าวในบทนำ จึงทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดดังกล่าว ด้วยกลไกนี้เอง ที่ช่วยป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน และการปวดศีรษะคลัสเตอร์ได้ตามสรรพคุณ
เมทิเซอร์ไจด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมทิเซอร์ไจด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Methysergide maleate 1 และ 2 มิลลิกรัม/เม็ด
เมทิเซอร์ไจด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเมทิเซอร์ไจด์ มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 1–2 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ควรรับประทานยาครั้งแรก 1 มิลลิกรัมหรือตามคำสั่งแพทย์ ก่อนนอน ในวันถัดมาให้รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับเด็ก
อนึ่ง:
- การใช้ยาเมทิเซอร์ไจด์เพื่อป้องกันและควบคุมอาการปวดศีรษะไมเกรน และปวดศีรษะคลัสเตอร์ อาจต้องรับประทานยาต่อเนื่องถึง 6 เดือน
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
- ห้ามหยุดรับประทานยานี้ทันที เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้นได้การปรับลดขนาดรับประทานจนกระทั่งหยุดการใช้ยานี้ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมทิเซอร์ไจด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคความดันโลหิสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทิเซอร์ไจด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเมทิเซอร์ไจด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
เมทิเซอร์ไจด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเมทิเซอร์ไจด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดขาหรือปวดแขน ปวดหลัง เป็นตะคริวที่ขา
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น อาจทำให้มีภาวะปัสสาวะขัด
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ แน่นหน้าอก บวมตามร่างกาย
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง แสบร้อนกลางอก
- ผลต่อตา: เช่น สูญเสียการมองเห็น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง เกิดผื่นคัน
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้เมทิเซอร์ไจด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิเซอร์ไจด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- ห้ามใช้ยานี้ใน สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- การใช้ยาทุกตัวมีระยะเวลาของการรักษารวมยาเมทิเซอร์ไจด์ด้วย ดังนั้นหากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยาเมทิเซอร์ไจด์ ควรกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทิเซอร์ไจด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เมทิเซอร์ไจด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมทิเซอร์ไจด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเมทิเซอร์ไจด์ร่วมกับยา Pseudoephedrine, Phenylephrine, เพราะ จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา
- ห้ามใช้ยาเมทิเซอร์ไจด์ร่วมกับยา Ritonavir ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของยาเมทิเซอร์ไจด์มากขึ้น
- ห้ามใช้ยาเมทิเซอร์ไจด์ร่วมกับยา Almotriptan เพราะจะทำให้หลอดเลือดในร่างกายตีบแคบลง จนทำให้การไหลเวียนเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆลดลง จนเกิด ความเสี่ยงต่ออวัยวะต่างๆเสื่อมสภาพ ตลอดจนเกิดเนื้อเยื่อต่างๆตายลง
- ห้ามใช้ยาเมทิเซอร์ไจด์ร่วมกับยา Lorcaserin เพราะสามารถทำให้ลิ้นหัวใจเสียหาย
ควรเก็บรักษาเมทิเซอร์ไจด์อย่างไร?
ควรเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
เมทิเซอร์ไจด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมทิเซอร์ไจด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Deseril (เดเซอริล) | Alliance Pharmaceuticals Limited |
SANSERT (แซนเซอร์ท) | Novartis Pharmaceuticals Corporation |
บรรณานุกรม
- http://www.medicines.org.uk/emc/PIL.11902.latest.pdf[2017,Aug26]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00247[2017,Aug26]
- https://www.drugs.com/mtm/methysergide.html[2017,Aug26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Methysergide[2017,Aug26]
- file:///C:/Users/apai/Downloads/20060424_3fae28ee-700e-4d4f-a040-02ef01a2aeb4%20(1).pdf[2017,Aug26]
- http://www.healthline.com/health/retroperitoneal-fibrosis#overview1[2017,Aug26]