เมทิลไดจอกซิน (Metildigoxin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมทิลไดจอกซิน(Metildigoxin หรือ Beta-methyldigoxin หรือMethyldigoxin หรือ Medigoxin ย่อว่า MD) เป็นยาในกลุ่มคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ (Cardiac glycoside) ตัวยามีฤทธิ์ทำให้หัวใจมีแรงบีบตัวมากขึ้น ทางคลินิกใช้ยานี้รักษาอาการโรคหัวใจล้มเหลวทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง รวมถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด Supraventricular arrhythmia รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเมทิลไดจอกซินมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีด

ยาเมทิลไดจอกซินชนิดรับประทาน มีการดูดซึมอย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร และเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 5 – 20 นาที ตับมีหน้าที่เปลี่ยนยาเมทิลไดจอกซินไปเป็นตัวยา Digoxin ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจและยังทำให้การเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ ยาเมทิลไดจอกซินจะถูกขับทิ้งออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

ในช่วงเริ่มต้นของการรักษา ต้องรับประทานยาเมทิลไดจอกซินวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 2–4 วัน แพทย์จะสังเกตอาการผู้ป่วยโดยเฉพาะการตอบสนองของหัวใจ จากนั้นผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ การรับประทานยานี้เกินขนาดที่แพทย์แนะนำในครั้งเดียว จะเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายอย่างรุนแรง นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องเฝ้าสังเกตอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้ที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน ตลอดจนกระทั่งประสาทหลอน เกล็ดเลือดต่ำ หรือ ไตทำงานผิดปกติ *กรณีพบเห็นอาการข้างเคียงดังกล่าว ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อห้ามใช้ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาเมทิลไดจอกซินได้ อาทิ ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติจากคลื่นไฟ้หัวใจผิดปกติ(Wolff-Parkinson-White syndrome) และผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม หรือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic obstructive cardiomyopathy)

ยาเมทิลไดจอกซินมีข้อพึงระวังอีกมากมายเมื่อจะใช้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ตลอดจนกระทั่งยาต่างๆที่ควรหลีกเลี่ยง หรือห้ามใช้ร่วมกับยาเมทิลไดจอกซินที่แพทย์ต้องนำมาพิจารณาและแจ้งให้ผู้ป่วยรับทราบ เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยการใช้ยาเมทิลไดจอกซิน จึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

และในปัจจุบันเราสามารถพบเห็นการใช้ยาเมทิลไดจอกซินแต่ในต่างประเทศโดยมีการจัดจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Lanitop”

เมทิลไดจอกซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เมทิลไดจอกซิน

ยาเมทิลไดจอกซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ(Cardiac arrhythmias)
  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว(Heart failure)

เมทิลไดจอกซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมทิลไดจอกซินมีกลไกออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะถูกตับเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็นยา Digoxin ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่ช่วยให้หัวใจมีแรงบีบตัวและสูบฉีดเลือดได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยทำให้หัวใจมีการเต้นได้อย่างเป็นปกติ จึงทำให้เป็นที่มาของสรรพคุณ

เมทิลไดจอกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมทิลไดจอกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Metildigoxin ขนาด 0.1 มิลลิกรัม/เม็ด

เมทิลไดจอกซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมทิลไดจอกซิน มีขนาดรับประทานสำหรับอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจล้มเหลว เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 0.2 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น เป็นเวลา 2-4 วัน ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 0.05 – 0.3 มิลลิกรัมอย่างไรก็ตาม สามารถรับประทานยานี้เพียงครั้งเดียว หรืออาจแบ่งรับประทานก็ได้โดย แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้แนะนำการใช้ยาได้ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดที่ รวมถึงว่า ควรรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหาร
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก แพทย์ต้องคำนวณขนาดการรับประทานจาก อายุ และน้ำหนักตัวเด็กเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง: ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่อง ไม่ปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยานี้ โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่เท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมทิลไดจอกซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทิลไดจอกซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตรเพราะ ยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมทิลไดจอกซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

เมทิลไดจอกซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมทิลไดจอกซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ปวดใบหน้า วิงเวียน ง่วงนอน เกิดลมชัก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ฝันร้าย มีอาการเพ้อ ประสาทหลอน
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า การเห็นสีต่างๆผิดปกติ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ : เช่น ทำให้มีภาวะหน้าอก/เต้านมโต

มีข้อควรระวังการใช้เมทิลไดจอกซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทิลไดจอกซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคปอด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายแบบเฉียบพลัน โรคหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง ผู้ป่วยโรคไต ด้วยยานี้สามารถทำให้อาการของโรคดังกล่าวทวีความรุนแรงได้มากยิ่งขึ้น
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเมทิลไดจอกซินร่วม ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เมทิลไดจอกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมทิลไดจอกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเมทิลไดจอกซินร่วมกับ ยาDiltiazem เพราะจะทำให้เกิดอาการ หัวใจเต้นช้าตามมา
  • ห้ามใช้ยาเมทิลไดจอกซินร่วมกับยา Rifampicin และ Colestyramine ด้วยจะทำให้ระดับยาไดจอกซินที่ถูกเปลี่ยนมาจากเมทิลไดจอกซินมีปริมาณต่ำลงจนกระทบต่อประสิทธิ ผลของการรักษาจากยาเมทิลไดจอกซิน

ควรเก็บรักษาเมทิลไดจอกซินอย่างไร?

ควรเก็บยายาเมทิลไดจอกซินร่วมภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เมทิลไดจอกซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทิลไดจอกซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
LANITOP (แลนิทอป) Pliva Hrvatska d.o.o.

บรรณานุกรม

  1. https://euromeds-doctor.com/en/product/metildigoxin/lanitop[2017,Dec.9]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/metildigoxin/?type=brief&mtype=generic[2017,Dec.9]
  3. https://euromeds-doctor.com/en/product/metildigoxin/lanitop[2017,Dec.9]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Metildigoxin[2017,Dec.9]