เมทิลีน บลู (Methylene blue)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 พฤษภาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ ยาอะไร?
- เมทิลีน บลู มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เมทิลีน บลู มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เมทิลีน บลู มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมทิลีน บลู มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เมทิลีน บลู มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เมทิลีน บลู อย่างไร?
- เมทิลีน บลู มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเมทิลีน บลู อย่างไร?
- เมทิลีน บลู มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite)
- ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
เมทิลีนบลู(Methylene blue) หรือ Methylthioninium chloride คือ สารประกอบเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นได้ทั้ง ยาต้านอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบขณะขับถ่ายปัสสาวะ, หรือใช้เป็นสีย้อมในการทำหัตถการทางการแพทย์ที่เรียกว่า Endoscope polypectomy, อีกทั้งยังใช้เป็นยาต้านพิษ (Antidote)ของสารโพแทสเซียม ไซยาไนด์ (Potassium cyanide), ประเด็นสำคัญคือ ใช้บำบัดอาการผิดปกติของเม็ดเลือดที่เรียกว่า ‘ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด/Methemoglobinemia’คือ มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงที่มีสาร Methemoglobulin(สารที่ไม่สามารถนำส่งออกซิเจนให้กับเซลล์ได้)ที่มากเกินไป
*เมทิลีนบลู คือ สารประกอบเคมี ที่เป็นของแข็งเมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้อง ไม่มีกลิ่น มีสีเขียวเข้ม เมื่อละลายน้ำจะได้สารละลายสีฟ้า ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านชีววิทยา, ภาควิชาเคมี, และใช้เป็นเภสัชภัณฑ์ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนำมาเป็นยาต่อต้านเชื้อมาลาเรียเมื่อปี ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434)
ทั้งนี้ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเมทิลีน บลู ที่พบเห็นได้จะเป็นลักษณะของยาฉีด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เมทิลีน บลู เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน และคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุ ‘เมทิลีน บลู’ ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัดอาการ/ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด(Methemoglobinaemia) โดยจะพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาลเท่านั้น
เมทิลีน บลู มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเมทิลีน บลู มีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:
- เป็นยาบำบัดและรักษาอาการโรคเลือดชนิดที่เรียกว่า ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia)
เมทิลีน บลู มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเมทิลีน บลู คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการออกซิเดชั่น(Oxidation, ขบวนการใช้ออกซิเจน)ของเม็ดเลือดแดง โดยจะช่วยป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสารฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดงไปเป็นสารเมทฮีโมโกลบิน การเกิดเมทฮีโมโกลบินปริมาณมากจะทำให้เกิด ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia) ซึ่งจากกลไกดังกล่าวจึงทำให้เมทิลีน บลู มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
เมทิลีน บลู มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมทิลีน บลู มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาฉีดในรูปสารละลาย ขนาดความเข้มข้น 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยมีขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร/ขวด
เมทิลีน บลู มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเมทิลีน บลู มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่ และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำผู้ป่วยขนาด 1 - 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดย ให้ยาอย่างช้าๆ อาจให้ยาซ้ำหลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้ว 1 ชั่วโมงทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมทิลีน บลู ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเมทิลีน บลู อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลาย ประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เมทิลีน บลู มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเมทิลีน บลู สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- เจ็บหน้าอก
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- รู้สึกสับสน
- ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ร่วมกับ มีสีปัสสาวะจาง
มีข้อควรระวังการใช้เมทิลีน บลู อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เมทิลีน บลู เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเมทิลีน บลู
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
- ห้ามฉีดยาเมทิลีน บลู เข้าน้ำไขสันหลัง หรือฉีดเข้าทางผิวหนัง ด้วยจะเป็นอันตรายต่อเส้นประสาทและเกิดฝีอักเสบบริเวณผิวหนัง
- ระวังการใช้ยาเมทิลีน บลู กับผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระหว่างได้ยาเมทิลีน บลู แพทย์จะคอยตรวจเลือดผู้ป่วยเพื่อตรวจสอบระดับของ Methemoglobin ควบคู่กันไป
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทิลีน บลู ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เมทิลีน บลู มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมทิลีน บลู มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามการใช้ยาเมทิลีน บลู ร่วมกับยา Phenylpropanolamine, Pseudoephedrine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและอาจเป็นอันตรายถึงขั้นตายได้ ควรใช้ยา Phenylpropanolamine, Pseudoephedrine กับผู้ป่วยหลังจากหยุดใช้เมทิลีน บลูไปแล้ว 14 วันเป็นอย่างต่ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทิลีน บลู ร่วมกับ ยา Fentanyl ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะกดการหายใจ /หายใจช้าและเบาของผู้ป่วยทำให้ความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยบางรายจะเกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน(Serotonin syndrome: เช่น อาจพบอาการสับสน ประสาทหลอน เป็นตะคริว/ปวดบีบที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย) เกิดภาวะโคม่า และถึงขั้นตายได้ ดังนั้นก่อนทำการใช้ยา Fentanyl ควรเว้นเวลาอย่างน้อย 14 วันหลังใช้ยาเมทิลีน บลู
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทิลีน บลู ร่วมกับ ยา Tramadol ด้วยเสี่ยงกับการเกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการ สับสน ประสาทหลอน เกิดลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยน แปลง หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ เหงื่อออกมาก ตาพร่า คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ก่อนการใช้ยาเมทิลีน บลู ควรหยุดการใช้ยา Tramadol อย่างน้อย 14 วันเป็นอย่างต่ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทิลีน บลู ร่วมกับยา Methyldopa ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะ ความดันโลหิตสูง และเกิดการกระตุ้นประสาทส่วนกลางหรือสมองจนเกิดอาการกระสับกระส่ายรวมถึงมีอาการประสาทหลอน การจะใช้ยา Methyldopa ควรเว้นเวลาอย่างน้อย 14 วันหลังการใช้ยาเมทิลีน บลู
ควรเก็บรักษาเมทิลีน บลู อย่างไร?
ควรเก็บยาเมทิลีน บลู:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เมทิลีน บลู มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมทิลีน บลู มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Methylene Blue Omega (เมทิลีน บลู โอเมกา) | Omega |
Methylene Blue T P (เมทิลีน บลู ที พี) | T P Drug |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Methylene_blue [2021,May8]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/methylene%20blue%20t%20p [2021,May8]
- https://www.mdpoison.com/media/SOP/mdpoisoncom/healthcareprofessionals/antidote-facts/Methylene%20Blue%20Antidote%20Facts.pdf [2021,May8]
- https://www.pharmgkb.org/pathway/PA165980834 [2021,May8]
- https://www.medsafe.govt.nz/profs/Datasheet/p/proveblueinj.pdf [2021,May8]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/methylene-blue-index.html?filter=3&generic_only= [2021,May8]