เมทาโซลาไมด์ (Methazolamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมทาโซลาไมด์ (Methazolamide) เป็นสารอนุพันธุ์ของยา Sulfonamide มีฤทธิ์ยับยั้งการ ทำงานของเอนไซม์คาร์บอนิก แอนไฮเดรส (Carbonic anhydrase inhibitor) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคต้อหินและช่วยลดความดันของลูกตาอันมีสาเหตุจากปริมาณของเหลวในลูกตามีมากเกินไป

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเมทาโซลาไมด์จะเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาถูกดูดซึมได้เป็นอย่างดีจากระบบทางเดินอาหารภายในเวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา ซึ่งเมื่อตัวยาเมทาโซลาไมด์ซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือด ยาจะกระจายไปยังน้ำไขสันหลัง ท่อต่างๆในระบบทางเดินน้ำดี และตาที่ซึ่งด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้จะทำให้ของเหลวภายในลูกตาลดน้อยลง ส่งผลต่อความดันของลูกตาลดลงด้วย โดยร่างกายต้องใช้เวลา 14 ชั่วโมงโดยประมาณเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยาเมทาโซลาไมด์ยังมีฤทธิ์ในการเป็นยาขับปัสสาวะอย่างอ่อนๆ ผู้ที่ได้รับยานี้จึงอาจพบว่าตนเองมีปัสสาวะเพิ่มขึ้นจากปกติ

ทั้งนี้มีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาชนิดเมทาโซลาไมด์นี้ได้ อย่างเช่น

  • มีประวัติแพ้ยาเมทาโซลาไมด์
  • เป็นผู้ป่วยโรคตับ หรือมีไตทำงานผิดปกติ หรือผู้ที่มีภาวะต่อมหมวกไตทำงานล้มเหลว
  • ผู้ที่มีระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำและ/หรือมีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษก่อนการใช้ยาเมทาโซลาไมด์อย่างเช่น

  • สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาทุกประเภทรวมถึงยาเมทาโซลาไมด์
  • ผู้ที่มีการใช้ยากลุ่ม Salicylates อย่างเช่น Aspirin อยู่ก่อน หากใช้ร่วมกับยาเมทาโซลาไมด์ จะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเมทาโซลาไมด์เพิ่มมากขึ้น
  • เป็นผู้ที่ใช้ยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitors ตัวอื่นอยู่ก่อนเช่น Acetazolamide หากใช้ร่วมกับยาเมทาโซลาไมด์ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาเมทาโซลาไมด์ได้เพิ่มมากขึ้น

ยาเมทาโซลาไมด์สามารถรับประทานก่อน พร้อม หรือหลังอาหารก็ได้ หากรับประทานยานี้ตอนท้องว่างแล้วมีความรู้สึกไม่สบายภายในท้อง แพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนมารับประทานยาพร้อมอาหารแทน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการออกแดดหรือสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง ด้วยยาเมทาโซลาไมด์จะทำให้ร่างกายแพ้แสงแดดได้ง่ายมากขึ้น

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการใช้ยาเมทาโซลาไมด์ จะต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกายอย่างใกล้ชิด

ทางคลินิกให้ใช้ยาเมทาโซลาไมด์กับผู้ใหญ่เท่านั้น สำหรับผู้ป่วยเด็กยังมิได้มีการศึกษาขนาดรับประทานรวมถึงข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยานี้ต่อผู้ป่วยเด็ก

ยาเมทาโซลาไมด์ยังก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่พบเห็นได้บ่อยเช่น ตาพร่า การรัรสชาติของลิ้นเปลี่ยนไป ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ง่วงนอน ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

อนึ่งการใช้ยาเมทาโซลาไมด์มีความจำเพาะเจาะจงต่อโรค ผู้ป่วยควรต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายาเมทาโซลาไมด์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด

เมทาโซลาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เมทาโซลาไมด์

ยาเมทาโซลาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • บำบัดรักษาอาการโรคต้อหิน
  • ใช้เป็นยาลดความดันในลูกตาก่อนเข้ารับการผ่าตัดตาด้วยโรคต้อกระจก

เมทาโซลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมทาโซลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Carbonic anhydrase (เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการสร้างของเหลวในลูกตา) ส่งผลยับยั้งปฏิกิริยาเคมี ที่ทำให้เกิดโมเลกุลของสารน้ำ/ของเหลวในลูกตา เมื่อการผลิตสารน้ำในลูกตาน้อยลง ความดันภายในลูกตาจะลดลงมาตามลำดับ

เมทาโซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมทาโซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด

เมทาโซลาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมทาโซลาไมด์มีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 50 - 100 มิลลิกรัมวันละ 2 - 3 ครั้ง ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นกับคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา ยานี้สามารถรับประทานก่อน พร้อม หรือหลังอาหารก็ได้ หากรับประทานยานี้ตอนท้องว่างแล้วมีความรู้สึกไม่สบายภายในท้อง แพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนมารับประทานยานี้พร้อมอาหารแทน
  • เด็ก: ยังมิได้มีการศึกษาทางคลินิกที่แน่ชัดถึงขนาดรับประทานรวมถึงข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยานี้ต่อผู้ป่วยเด็ก การใช้ยานี้ต่อผู้ป่วยเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง: ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมทาโซลาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทาโซลาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมทาโซลาไมด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเมทาโซลาไมด์ตรงเวลา

เมทาโซลาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาเมทาโซลาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมากขึ้น มีน้ำตาลในปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร เสียสมดุลของอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte) ในร่างกาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น แพ้แสงแดดง่าย เกิดลมพิษ
  • ผลต่อตา: เช่น อาจเกิดภาวะสายตาสั้น

มีข้อควรระวังการใช้เมทาโซลาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมทาโซลาไมด์เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้หรือใช้ยานี้ต่อเนื่องด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับโรคไต
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitor ตัวอื่นๆโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการทำงานของต่อมหมวกไตล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินกว่าคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำและ/หรือเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้หลัง 6 โมงเย็นด้วยตัวยาอาจกระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยจนเป็นการรบกวนเวลาพักผ่อนของผู้ป่วย
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น มีผื่นคันเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ให้หยุดใช้ ยานี้ทันทีแล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ดื่มน้ำพร้อมรับประทานยานี้อย่างเพียงพอ
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมทาโซลาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เมทาโซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมทาโซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเมทาโซลาไมด์ร่วมกับยา Cyclosporine, Quinidine, Phenytoin, Amphetamine, Sodium bicarbonate ด้วยยาเมทาโซลาไมด์จะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจาก กลุ่มตัวยาดังกล่าวมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาเมทาโซลาไมด์ร่วมกับยา Dichlorphenamide ด้วยจะทำผู้ป่วยเกิดภาวะเลือดเป็นกรด
  • ห้ามใช้ยาเมทาโซลาไมด์ร่วมกับยา Levomethadyl acetate (ยาแก้ปวดในกลุ่มยา Opioid) ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การใช้ยาเมทาโซลาไมด์ร่วมกับยา Salsalate อาจทำให้มีภาวะหูได้ยินเสียงแว่ว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน สับสน ประสาทหลอน หายใจเร็ว มีไข้ ชักจนอาจถึงขั้นโคม่า หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเมทาโซลาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาเมทาโซลาไมด์ในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

เมทาโซลาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทาโซลาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Neptazane (เนพทาเซน)Wyeth

อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศเช่น Glauctabs, MZM

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/methazolamide.html [2016,July16]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/methazolamide/?type=brief&mtype=generic [2016,July16]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Carbonic_anhydrase [2016,July16]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/neptazane/ [2016,July16]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/methazolamide-index.html?filter=3&generic_only= [2016,July16]