เมตารามินอล (Metaraminol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 เมษายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- เมตารามินอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เมตารามินอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เมตารามินอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมตารามินอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เมตารามินอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เมตารามินอลอย่างไร?
- เมตารามินอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเมตารามินอลอย่างไร?
- เมตารามินอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)
- กรดไทรคลอโรอะซีติค (Trichloroacetic acid)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- ซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic drug)
บทนำ
ยาเมตารามินอล (Metaraminol) เป็นสารประกอบประเภทซิมพาโทมิเมติก เอมีน (Sympa thomimetic amine หรือ Sympathomimetic drug) มีข้อบ่งใช้ทางคลินิกช่วยบำบัดหรือป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำหลังฉีดยาชาเข้าทางไขสันหลังก่อนการทำหัตถการทางการแพทย์ หรือเป็นยาช่วยเพิ่มความดันโลหิตให้ผู้ป่วยที่มีภาวะเสียเลือด/ตกเลือด รวมถึงบำบัดภาวะช็อกของผู้ป่วยที่ได้รับบาดแผลบริเวณศีรษะหรือเกิดเนื้องอกสมอง โดยตัวยาจะเพิ่มความดันโลหิตทั้งขณะที่หัวใจบีบตัวและคลายตัว ระยะเวลาการออกฤทธิ์เมื่อให้ยาทางหลอดเลือดจะอยู่ที่ 1 - 2 นาที หากฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อการออกฤทธิ์จะใช้เวลาประมาณ 10 นาที หรือการฉีดยาเมตารามินอลเข้าใต้ผิวหนังจะใช้เวลาออกฤทธิ์ประมาณ 5 - 20 นาที
มีข้อพึงระวังบางประการที่แพทย์ต้องทราบก่อนการใช้ยาเมตารามินอลกับผู้ป่วยอาทิ
- ผู้ป่วยเคยมีประวัติการแพ้ยาเมตารามินอลมาก่อนหรือไม่
- ผู้ป่วยได้รับยากลุ่ม MAOIs หรือ TCAs อยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่ ด้วยยาทั้ง 2 กลุ่มอาจทำให้ยาเมตารามินอลแสดงฤทธิ์ได้มากยิ่งขึ้น
- ผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน หากได้รับยานี้อาจกระตุ้นให้อาการของโรคประจำตัวดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น
- สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการใช้ยาหลายตัวร่วมกัน การใช้เมตารามินอลกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาที่ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป
ขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาเมตารามินอล แพทย์/บุคลากรทางการแพทย์จะเฝ้าระวังและคอยควบคุมความดันโลหิตให้เป็นไปอย่างปกติรวมถึงสัญญาณชีพต่างๆเช่น อัตราการเต้นของหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในบริเวณสมอง ปอดยังทำงานได้ปกติหรือมีภาวะน้ำท่วมปอด/ปอดบวมน้ำหรือไม่
นอกจากนี้ยังต้องสังเกตด้วยว่า ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาดหรือไม่โดยใช้เกณฑ์ดังต่อไปนี้มาพิจารณาเช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมากและมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน มีอารมณ์เคลิ้ม/การรู้สึกตัวผิดปกติ เกิดภาวะน้ำท่วมปอด เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้าผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีเลือดออกในสมอง/มีอาการผิดปกติทางสมอง หัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น หรือเกิดภาวะลมชัก เป็นต้น
หากพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตขึ้นสูงมากหลังที่ได้รับยาเมตารามินอล แพทย์อาจใช้ยาที่มีฤทธิ์ตรงข้ามเช่น กลุ่มซิมพาโทไลติก (Sympatholytic agent, ยาต้านการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ) อย่างเช่น ยา Phentolamine หรือยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะบางตัวมาบำบัดภาวะดังกล่าว
ยาเมตารามินอลจัดเป็นยาอันตราย การใช้ยานี้ได้เหมาะสมและปลอดภัยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว และจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
เมตารามินอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเมตารามินอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดภาวะความดันโลหิตต่ำในสภาวะต่างๆเช่น
- ผู้ป่วยได้รับยาชา (ยาชาเฉพาะที่) โดยฉีดเข้าน้ำไขสันหลังก่อนการทำหัตถการทางการแพทย์
- ผู้ที่อยู่ในภาวะเสียเลือดมาก
- ผู้ที่อยู่ในภาวะช็อกด้วยสมองได้รับบาดเจ็บหรือเกิดเนื้องอกสมอง
เมตารามินอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเมตารามินอลเป็นยาสังเคราะห์ประเภทซิมพาโทมิเมติก เอมีน (Sympathomimetic amine) จะออกฤทธิ์โดยตรงต่อตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า แอลฟาและเบต้า แอดริเนอร์จิก รีเซ็ปเตอร์ (Alpha and beta-adrenergic receptors) ที่อยู่ในอวัยวะต่างๆของร่างกาย ทำให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาท Norepinephrine ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการหดตัวและกระตุ้นการทำงานของหัวใจ จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตตามสรรพคุณ
เมตารามินอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเมตารามินอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
เมตารามินอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเมตารามินอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
ก. สำหรับป้องกันความดันโลหิตต่ำขณะฉีดยาชาเข้าน้ำไขสันหลัง:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนังขนาด 2 - 10 มิลลิกรัม
ข. สำหรับบำบัดภาวะความดันโลหิตต่ำด้วยเสียเลือดมาก:
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 15 - 100 มิลลิกรัมโดยนำยาผสมกับสารละลายโซเดียมคลอไรด์/น้ำเกลือ (Sodium chloride injection) หรือสารน้ำ 5% เด็กซ์โทรส (5% Dextrose injection) ที่สามารถละลายยานี้โดยใช้ขนาดยาเมตารามินอล 150 - 500 มิลลิกรัมต่อสารละลาย 500 มิลลิลิตรและปรับอัตราการหยดยาให้เหมาะสมกับการควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติ
ค. กรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะช็อก:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยตรงขนาด 0.5 - 5 มิลลิกรัม จากนั้นหยดยาเข้าหลอดเลือดดำต่อเนื่องในขนาด 15 - 100 มิลลิกรัมต่อน้ำเกลือ 500 มิลลิลิตร
*อนึ่ง
- การเจือจางตัวยานี้ลงในน้ำเกลือเพื่อหยดเข้าหลอดเลือดดำ ควรใช้ยาภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผสมยานี้ หากเกิน 24 ชั่วโมงไปแล้วควรทิ้งและไม่นำยาที่ผสมแล้วมาใช้อีก
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลด้านผลข้างเคียงที่แน่ชัดของยานี้ในผู้ป่วยเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในผู้ป่วย เด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเมตารามินอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมตารามินอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เมตารามินอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเมตารามินอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการเหล่านี้มักเกิดกับผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจล้มเหลว หรืออาจเกิดฝีในบริเวณที่ฉีดยาได้
มีข้อควรระวังการใช้เมตารามินอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเมตารามินอลเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ด้วยเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงจากผลข้างเคียงของยานี้ การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอาทิ เกิดการตกตะกอนหรือมีสีเปลี่ยนไป เป็นต้น
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากแทงเข็มยาทะลุหลอดเลือด (เข็มยาอยู่ในเนื้อเยื่อข้างเคียงที่ไม่ใช่ในหลอดเลือด) หรือหลอดเลือดมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นขณะที่ให้ยานี้
- ขณะใช้ยานี้ควรต้องตรวจวัดสัญญาณชีพของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องและใช้ค่าสัญญาณชีพต่างๆมาเป็นตัวชี้วัดเพื่อรายงานแพทย์เป็นระยะๆ
- เฝ้าสังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการได้รับยานี้เกินขนาดหรือไม่ กรณีเกิดอาการจากได้รับยานี้เกินขนาด (อาการดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ บทนำ) และเกิดความดันโลหิตสูง ต้องหยุดการให้ยานี้แล้วรายงานแพทย์ทันที
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเมตารามินอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เมตารามินอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเมตารามินอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ระวังหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาเมตารามินอลร่วมกับยากลุ่ม Digitalis และยาในกลุ่มซิมพาโทมิเมติก เอมีน (Sympathomimetic amine) ตัวอื่นๆด้วยจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Ectopic arrhythmias)
- การใช้ยาเมตารามินอลร่วมกับยากลุ่ม MAOIs หรือ TCAs อาจทำให้การออกฤทธิ์ของยาเมตารามินอลเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆจากยาเมตารามินอลตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการให้ยาเมตารามินอลให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาเมตารามินอลอย่างไร?
ควรเก็บยาเมตารามินอลภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เมตารามินอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมตารามินอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบรืษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aramine (เอรามีน) | MSD |
บรรณานุกรม
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB00610 [2016,March26]
- https://www.drugs.com/drp/metaraminol-bitartrate.html [2016,March26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Metaraminol [2016,March26]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Aramine/ [2016,March26]
- https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Metaraminol [2016,March26]