เฟนเทอร์มีน (Phentermine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเฟนเทอร์มีน (Phentermine) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท มีสูตรโครงสร้างคล้ายคลึงกับยาแอมเฟตามีน (Amphetamine, ยากระตุ้นระบบประสาทที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวช) วงการแพทย์ได้นำยานี้มาใช้เป็นยาลดน้ำหนัก โดยจะออกฤทธิ์กดศูนย์การหิวที่สมอง ทำให้ร่างกายไม่อยากอาหาร การใช้ยานี้แพทย์จะให้รับประทานอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น

ด้วยเหตุผลที่เฟนเทอร์มีนมีฤทธิ์คล้ายคลึงกับยาแอมเฟตามีน ในหลายประเทศจึงจัดให้ยานี้อยู่ในบัญชีของยาควบคุมพิเศษ ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้เฟนเทอร์มีนอยู่ในหมวดวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประชาชนทั่วไปไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักจะต้องมาพบแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น

เฟนเทอร์มีนมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก การรับประทานหรือขนาดยาที่ใช้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น การปรับเปลี่ยนขนาดการรับประทานเองอาจจะเป็นผลเสียต่อร่างกายของผู้ที่รับประทานยา จึงห้ามมิให้ผู้ป่วยเพิ่มหรือปรับขนาดรับประทานเองโดยเด็ดขาด

ยาเฟนเทอร์มีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เฟนเทอร์มีน

ยาเฟนเทอร์มีนมีสรรพคุณดังนี้

  • ลดความอยากอาหารในผู้ที่ชอบรับประทานอาหารมากเกินไป
  • ลดน้ำหนักของร่างกายโดยมีขอบเขตการใช้ยาเป็นระยะเวลาสั้นๆ

ยาเฟนเทอร์มีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเฟนเทอร์มีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นสมองส่วนที่เรียกว่า ซีรี บรัลคอร์เทกซ์ (Cerebral cortex, สมองส่วนหนึ่งของสมองใหญ่) ทำให้ความรู้สึกของความอยากอาหารลดลง นอกจากนี้เฟนเทอร์มีนยังออกฤทธิ์ภายนอกสมอง โดยทำให้ร่างกายหลั่งสารที่เพิ่มการใช้พลังงานของร่างกายที่เรียกว่า อีพิเนฟริน (Epinephrine) หรืออะดรีนาลีน (Adrenalin) จึงเป็นเหตุให้เกิดการเผาผลาญเซลล์ไขมันที่สะสมอยู่ตามร่างกาย ด้วยกลไกข้างต้นทำให้เกิดการลดน้ำหนักภายในไม่กี่สัปดาห์

ยาเฟนเทอร์มีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเฟนเทอร์มีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาแคปซูลขนาด 15 และ 30 มิลลิกรัม/แคปซูล

ยาเฟนเทอร์มีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเฟนเทอร์มีนมีขนาดรับประทานดังนี้

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 15 - 30 มิลลิกรัมวันละ 1 - 2 ครั้ง ควรรับประทานยาในเวลาที่ท้องว่าง เวลาที่เหมาะสมคือ ก่อนอาหารเช้า
  • เด็กและผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 18 ปี: การใช้ยาต้องขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเฟนเทอร์มีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟนเทอร์มีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเฟนเทอร์มีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเฟนเทอร์มีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเฟนเทอร์มีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ปากแห้ง มีอาการกระวนกระวาย/กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ตัวสั่น วิงเวียนศีรษะ

หากรับประทานยานี้ในขนาดสูงจะพบอาการข้างเคียงเช่น อ่อนเพลีย ท้องเสีย ท้องผูก ความดันโลหิตสูง ซึมเศร้า มีไข้ เกิดความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ เกิดจิตหรือประสาทหลอน เกิดอาการชัก สมรรถภาพทางเพศเสื่อม (ความรู้สึกทางเพศลดลง)

มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟนเทอร์มีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟนเทอร์มีนดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และผู้ที่แพ้ยากลุ่มซิมพาโทมิเมติก เอมีน (Sympathomimetic amines, กลุ่มยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจหยุดเต้น, ภาวะความดันโลหิตต่ำ เช่น ยา Adrenalin)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดตีบตัน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง ผู้ป่วยที่มีเซลล์สมองไว/ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆมากเกินไป (Hyperexcitability) ผู้ป่วยโรค หัวใจ ผู้ป่วยไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) และผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี การจะใช้ยาในบุคคลกลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์เท่านั้นว่าเหมาะสมและปลอดภัยเพียงใด
  • ไม่ควรรับประทานยาก่อนนอนด้วยจะทำให้นอนไม่หลับ
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุแล้ว

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเฟนเทอร์มีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเฟนเทอร์มีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเฟนเทอร์มีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้

  • การใช้ยาเฟนเทอร์มีนร่วมกับยาลดน้ำมูกเช่น Phenylpropanolamine เป็นข้อที่ควรหลีกเลี่ยง ด้วยจะก่อให้เกิดอาการผิดปกติของหัวใจและอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจขัด/หายใจลำบาก วิงเวียน เป็นลม ขาบวม ติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆห้ามใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
  • การใช้ยาเฟนเทอร์มีนร่วมกับยาแก้ปวดบางตัวเช่น Tramadol อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการชักในผู้ป่วยได้ จึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ยาทั้งคู่ร่วมกัน
  • การใช้ยาเฟนเทอร์มีนร่วมกับยารักษาโรคพาร์กินสันหรืออาการซึมเศร้าเช่น Selegiline สามารถเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตสูงในระดับที่เป็นอันตราย และอาจถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย) จึงห้ามใช้ยาร่วมกัน หากต้องการใช้ยาเฟนเทอร์มีนต้องหยุดการใช้ยา Selegiline เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน จึงจะเข้าเกณฑ์ปลอดภัยของปฏิกิริยาระหว่างยาทั้งคู่
  • การใช้ยาเฟนเทอร์มีนร่วมกับยาต้านโรคซึมเศร้าเช่น Fluoxetine อาจเกิดการเสริมฤทธิ์ของผลข้างเคียงของยาเฟนเทอร์มีนเช่น พบอาการกระวนกระวาย/กระสับกระส่าย วิตกกังวล หงุดหงิดเพิ่มมากขึ้น หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาเฟนเทอร์มีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเฟนเทอร์มีนที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเฟนเทอร์มีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเฟนเทอร์มีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Duromine (ดูโรมีน) 3M Pharma
Panbesy (แพนเบซี) Eurodrug
Phentermine Trenker (เฟนเทอร์มีน เทรนเกอร์) Trenker

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Phentermine [2014,Nov1]
2 http://www.mims.com/Thailand/Viewer/Html/PoisonCls.htm [2014,Nov1]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Panbesy/?type=brief [2014,Nov1]
4 http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=phentermine [2014,Nov1]
5 http://www.drugs.com/drug-interactions/phentermine-index.html?filter=3&generic_only= [2014,Nov1]
6 http://www.drugs.com/drug-interactions/acetaminophen-tramadol-with-phentermine-85-0-1851-0.html [2014,Nov1]
7 http://www.drugs.com/drug-interactions/jumex-with-phentermine-2051-4722-1851-0.html [2014,Nov1]
8 http://www.drugs.com/cdi/phentermine.html [2014,Nov1]