เพอร์เฟนิโดน (Pirfenidone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพอร์เฟนิโดน(Pirfenidone) เป็นยาที่ใช้รักษาการอักเสบของปอดที่เกิดพังผืดโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic pulmonary fibrosis/IPF) อาการเจ็บป่วยนี้จะทำให้การทำงานของปอดด้อยประสิทธิภาพลง เช่น ทำให้การหายใจติดขัด สาเหตุของ IPF ยังไม่ทราบแน่ชัดแต่การรักษาด้วยยาเพอร์เฟนิโดนจะลดการสร้างพังผืดในปอดโดยตัวยาจะไปชะลอการผลิตปัจจัยการสร้างพังผืด(Growth factor) รวมถึงสารประกอบพื้นฐานที่เป็นตัวตั้งต้นของคอลลาเจน(Procollagens I และ II) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการสร้างพังผืดนั่นเอง ทั้งนี้ยาเพอร์เฟนิโดนถูกรับรองให้ใช้รักษา IPF ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.2010(พ.ศ.2553) และในเวลาอีก 1–2 ปีต่อมาก็ถูกรับรองการใช้ในยุโรปและในแคนาดาตามลำดับ

ยาเพอร์เฟนิโดนเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเมื่อตัวยานี้เข้าสู่ร่างกาย/กระแสเลือด ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีน ได้ประมาณ 50–58% ตับสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาเพอร์เฟนิโดนได้ ประมาณ 70–80% และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2.4 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ข้อจำกัดและข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนใช้ยาเพอร์เฟนิโดน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะที่รุนแรง
  • ห้ามใช้ยาเพอร์เฟนิโดนร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ผิวหนังมีสภาพที่ไวเกินต่อแสงแดด การใช้ยาร่วมกันดังกล่าวจะทำให้ผิวหนังมีอาการผื่นแพ้แสงแดดมากขึ้น
  • ผู้ที่ติดบุหรี่ขณะที่ได้รับยานี้ต้องหยุดสูบบุหรี่ ด้วยกลไกของสารเคมีในบุหรี่จะต่อต้านประสิทธิภาพการรักษาของยาเพอร์เฟนิโดน
  • การใช้ยานี้ต้องมีความต่อเนื่อง โดยทั่วไป ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้วันละ 3 ครั้ง เวลารับประทานยานี้ ควรต้องตรงตามเวลาในแต่ละวัน ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์โดยเด็ดขาด
  • การใช้ยานี้อาจทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ ท้องเสีย เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้อง กรณีที่อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)เหล่านี้เกิดไม่รุนแรง ร่างกายจะค่อยๆปรับตัว ทำให้อาการดังกล่าวลดลงไปเองภายใน 3 เดือนหลังหยุดยานี้
  • การรับประทานยานี้พร้อมอาหารมีข้อดี คือ ช่วยลดอาการข้างเคียงจากยานี้ เช่น คลื่นไส้และวิงเวียน แต่ก็ทำให้การดูดซึมของยาล่าช้าออกไปได้เช่นกัน
  • ควรต้องเฝ้าระวังอาการข้างเคียงจากการใช้ยาเพอร์เฟนิโดนที่อาจเกิดกับตับ หากพบเห็น ภาวะตัวเหลือง/ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีคล้ำจัด ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ เพื่อแพทย์ยืนยันผลการ รักษา ตามที่แพทย์นัดหมาย ทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนการใช้ยาเพอร์เฟนิโดน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อความเหมาะสมที่จะรับยาเพอร์เฟนิโดนมาใช้ ขนาดรับประทานและระยะเวลาของการใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง ในต่างประเทศ เราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Esbriet”

เพอร์เฟนิโดนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เพอร์เฟนิโดน

ยาเพอร์เฟนิโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการปอดอักเสบที่มีสาเหตุจากการเกิดพังผืดในปอดจนทำให้มี อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง(Idiopathic pulmonary fibrosis, IPF)

เพอร์เฟนิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ด้วยคุณสมบัติของยาเพอร์เฟนิโดนเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ต่อต้านการสร้างพังผืด(Antifibrotic)ในปอด และช่วยต้านการอักเสบ โดยยานี้จะออกฤทธิ์ลดการแบ่งตัวของพังผืดที่เกิดขึ้นในปอด โดยยับยั้งการทำงานของสาร Transforming growth factor beta (TGF-β) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญ คือกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจน(Collagen)ในปอด ซึ่งการลดการสร้างคอลลาเจนในปอด เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ลดการสร้างพังผืดในปอดตามมา จากกลไกนี้จึงทำให้มีสรรพคุณรักษาโรค IPF

เพอร์เฟนิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพอร์เฟนิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยยา Pirfenidone 267 และ 801 มิลลิกรัม/แคปซูล

เพอร์เฟนิโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเพอร์เฟนิโดนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: วันที่ 1–7 รับประทานยาครั้งละ 267 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง, วันที่ 8–14 รับประทานยาครั้งละ 534 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง, วันที่ 15 เป็นต้นไป รับประทานยาครั้งละ 801 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนขนาดยาดังกล่าวต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • การรับประทานยานี้พร้อมอาหาร จะช่วยลดอาการข้างเคียงอย่างเช่น คลื่นไส้ และลดอาการวิงเวียน
  • รับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาของแต่ละวัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาเพอร์เฟนิโดน และผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าตนเองมีการใช้ยาประเภทใดอยู่บ้าง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพอร์เฟนิโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพอร์เฟนิโดน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเพอร์เฟนิโดน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานขนาดปกติ

แต่เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ผู้ป่วยต้องใช้ยาเพอร์เฟนิโดน อย่างต่อเนื่อง การลืมรับประทานยาบ่อยครั้ง อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล

เพอร์เฟนิโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพอร์เฟนิโดนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องอืด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน) ไซนัสอักเสบ ไอ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง เกิดผื่นแพ้แสงแดดได้ง่าย
  • ต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ใบหน้าแดง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ

มีข้อควรระวังการใช้เพอร์เฟนิโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพอร์เฟนิโดน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น แคปซูลแตกหัก เปียกชื้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • รับประทานยานี้ให้ตรงตามคำสั่งแพทย์
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและการตรวจเลือดดูสภาพการทำงานของตับว่า ยังเป็นปกติหรือไม่
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเพอร์เฟนิโดนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เพอร์เฟนิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพอร์เฟนิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเพอร์เฟนิโดนร่วมกับยา Amiodarone , Ciprofloxacin , Enoxacin, Fluvoxamine , Lomitapide, ด้วยจะทำให้ระดับยาเพอร์เฟนิโดนในเลือดสูงขึ้นจนก่อให้เกิดอันตรายกับตับของผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพอร์เฟนิโดนร่วมกับยา Omeprazole , Quinidine, ด้วยจะทำให้ผิวหนังของผู้ป่วยมีความไวเกินต่อแสงแดดมากยิ่งขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพอร์เฟนิโดนร่วมกับยา Carbamazepine ด้วยจะทำให้ระดับยาเพอร์เฟนิโดนในเลือดลงจนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา

ควรเก็บรักษาเพอร์เฟนิโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาเพอร์เฟนิโดนภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เพอร์เฟนิโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพอร์เฟนิโดน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Esbriet (เอสบริเอท)Genentech, Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pirfenidone#Medical_uses[2017,July8]
  2. https://www.drugs.com/cdi/pirfenidone.html[2017,July8]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/pirfenidone-index.html?filter=3&generic_only=[2017,July8]