เพรดนิคาร์เบท (Prednicarbate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 มกราคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เพรดนิคาร์เบทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เพรดนิคาร์เบทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เพรดนิคาร์เบทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เพรดนิคาร์เบทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- เพรดนิคาร์เบทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เพรดนิคาร์เบทอย่างไร?
- เพรดนิคาร์เบทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเพรดนิคาร์เบทอย่างไร?
- เพรดนิคาร์เบทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone)
- ยาเบต้าเมทาโซน (Betamethasone)
บทนำ: คือยาอะไร?
เพรดนิคาร์เบท (Prednicarbate) คือ ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบชนิดสเตียรอยด์รุ่นใหม่ที่อยู่ในกลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) โดยความแรงของยาเพรดนิคาร์เบทนี้ใกล้เคียงกับยา Hydrocortisone และใช้เป็นยาทาเฉพาะที่ภายนอกร่างกายเหมือนกับยา Betamethasone, แต่ยาเพรดนิคาร์เบทจะก่อให้เกิดอาการผิวบางที่เป็นผลข้างเคียงจากยากลุ่มสเตียรอยด์ได้’ช้า’กว่ายา Betamethasone
ทางคลินิก นำยาเพรดนิคาร์เบทมาใช้รักษาอาการผื่นผิวหนังอักเสบ, ผื่นคันที่เกิดจากการแพ้, รวมถึงโรคสะเก็ดเงิน
การใช้ยาเพรดนิคาร์เบทกับบริเวณที่เกิดการอักเสบของผิวหนัง ไม่ควรใช้ครั้งละมากๆหรือใช้มากกว่าคำแนะนำของแพทย์, และห้ามใช้ผ้าพันแผล หรือ พลาสเตอร์ยาใดๆปิดทับในบริเวณผิวหนังที่มีการทายานี้ ด้วยอาจทำให้การดูดซึมของยาเพรดนิคาร์เบทซึมผ่านผิวหนังได้มากขึ้นจนทำให้ร่างกายได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆมากมายขึ้น
ยาเพรดนิคาร์เบทไม่เหมาะที่จะใช้กับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) นอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์โดยพิจารณาเป็นกรณีบุคคลไป ด้วยฤทธิ์ของยากลุ่มสเตียรอยด์ คือ กดการเจริญเติบโตของเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการใช้ยาเป็นเวลานานๆ, นอกจากนี้การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานานๆจะกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดการติดเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ในบริเวณผิวหนังที่ใช้ยาได้ง่าย
ซึ่งเมื่อมีการใช้ยาสเตียรอยด์ทุกชนิดรวมถึงยาเพรดนิคาร์เบทไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ แต่อาการอักเสบทางผิวหนังกลับไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
มีเหตุผลอยู่หลายประการที่ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาเพรดนิคาร์เบทตามคำสั่งแพทย์เท่านั้นจึงจะก่อประโยชน์ในการรักษา และปลอดภัยกับตัวผู้ป่วยเอง เช่น
- หากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน การใช้เพรดนิคาร์เบทชนิดทาผิวหนังอย่างผิดขนาดสามารถทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้
- หากเป็นสตรีและอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรก็ตาม การใช้ยากลุ่ม สเตียรอยด์ก็สามารถถูกส่งผ่านจากมารดาเข้าสู่ทารกได้ และก่อให้เกิดผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ต่อการเจริญเติบโต รวมถึงมีอาการข้างเคียงอื่นๆจากยาสเตียรอยด์เกิดขึ้นกับทารกได้
- ผู้ป่วยบางรายเคยแพ้ยาเพรดนิคาร์เบท หากเกิดการหลงลืมมิได้แจ้งให้แพทย์ทราบและได้ รับยานี้มาใช้ ก็สามารถก่อให้เกิดผลกระทบ/การแพ้ยาที่รุนแรงติดตามมา
- การใช้ยานี้ในบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อโรคอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เชื้แบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส จะทำให้อาการโรคลุกลามและขยายผลจนเกิดผลเสียต่อร่างกายผู้ป่วยได้มากมาย นอกจากอาการป่วยไม่ทุเลาลงแล้ว ยังอาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคติดตามมาได้มากขึ้น
ทั้งนี้ เราสามารถพบเห็นการใช้ยาเพรดนิคาร์เบทตามสถานพยาบาล และมีขายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ในรูปแบบของยาครีมในขนาดความเข้มข้น 0.25% ภายใต้ยาชื่อการค้าว่า ‘Dermatop’
เพรดนิคาร์เบทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเพรดนิคาร์เบทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการอักเสบของผิวหนัง (ผื่นผิวหนังอักเสบ)
- บำบัดอาการผื่นคันของผิวหนังเนื่องจากการแพ้
- บำบัดรักษาอาการโรคสะเก็ดเงิน
เพรดนิคาร์เบทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพรดนิคาร์เบท คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัวยับยั้งการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวในบริเวณที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อ จึงป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อในบริเวณที่อักเสบดังกล่าว
เพรดนิคาร์เบทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเพรดนิคาร์เบทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาครีม ขนาดความแรง 1 และ 0.25%
- ยาขี้ผึ้ง ขนาดความแรง 0.1%
เพรดนิคาร์เบทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเพรดนิคาร์เบทมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. ผู้ใหญ่: เช่น ทายาในบริเวณที่มีการอักเสบเพียงบางๆวันละ 1 - 2 ครั้ง โดยการทายาให้ปฏิบัติตามขั้นตอน เช่น
- ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังใช้ยาเสมอ
- ห้ามทายาในบริเวณกว้างและรุกล้ำเข้าไปในบริเวณผิวหนังที่ไม่เกิดอาการอักเสบ
- ห้ามใช้ผ้าพันแผล หรือ พลาสเตอร์ยาปิดทับในบริเวณที่มีการทายา
- หลังใช้ยาฯเสร็จแล้วต้องปิดปากภาชนะบรรจุ แล้วเก็บภาชนะบรรจุให้เรียบร้อย (อ่านเพิ่มเติมใน ‘หัวข้อ ควรเก็บยาอย่างไร’)
ข. เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): เนื่องจากยานี้อาจส่งผลกดการเจริญเติบโตของเด็กได้ การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเพรดนิคาร์เบท ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพรดนิคาร์เบทอาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาเพรดนิคาร์เบท สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เพรดนิคาร์เบทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเพรดนิคาร์เบท สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- แสบคันผิวหนังที่สัมผัสยา
- ทำให้ผิวแห้งในบริเวณที่มีการใช้ยานี้
- รู้สึกปวด/เจ็บผิวหนัง หรือมีจุดจ้ำแดงขึ้นกับผิวหนังส่วนที่ทายานี้
- ทำให้ผิวหนังที่สัมผัสกับยานี้บางลงจนเกิดการอักเสบได้ง่าย
- บางกรณีอาจทำให้เกิดสิว
- ทำให้เกิดผิวหนังส่วนที่ทายานี้มีสีซีดจางลง
มีข้อควรระวังการใช้เพรดนิคาร์เบทอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเพรดนิคาร์เบท เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามทายานี้ในบริเวณตา และห้ามรับประทาน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มี การติดเชื้อวัณโรค โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส หรือมีการติดเชื้อทางผิวหนังอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
- หากใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์แล้วอาการป่วยไม่ดีขึ้น ต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- กรณีที่ต้องการใช้ยานี้ในบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือโรคเชื้อราต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียหรือยาต้านเชื้อรากรณีติดเชื้อราร่วมด้วย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพรดนิคาร์เบทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เพรดนิคาร์เบทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
การใช้ยาเพรดนิคาร์เบทอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ มักจะไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานชนิดใดๆ
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยใช้ยาชนิดอื่นร่วมกับยาเพรดนิคาร์เบท แล้วเกิดอาการผิดปกติ ให้หยุดใช้ยาเพรดนิคาร์เบท แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ควรเก็บรักษาเพรดนิคาร์เบทอย่างไร?
ควรเก็บยาเพรดนิคาร์เบท: ทั่วไป เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เพรดนิคาร์เบทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเพรดนิคาร์เบท มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dermatop (เดอร์มาท็อป) | sanofi-aventis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Corticosteroid [2023,Jan28]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Prednicarbate [2023,Jan28]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Dermatop/?type=brief [2023,Jan28]
- https://www.drugs.com/pro/prednicarbate-ointment.html [2023,Jan28]
- https://www.drugs.com/mtm/prednicarbate-topical.html [2023,Jan28]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/prednicarbate-topical-index.html?filter=1&generic_only= [2023,Jan28]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/prednicarbate?mtype=generic [2023,Jan28]