เพนโททาล หรือ ไทโอเพนทอล (Pentothal or Thiopental)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพนโททาล (Pentothal หรือ Sodium pentothal) หรืออีกชื่อคือ ไทโอเพนทอล (Thiopental หรือ Sodium thiopental) จัดเป็นยาที่ให้กับผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดมีการออกฤทธิ์เร็ว และจะทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะหลับก่อนเข้ารับการผ่าตัด โดยตัวยาจะกดการทำงานของประสาทส่วนกลางหรือสมองนั่นเอง นอกจากนี้ทางคลินิกยังนำมาใช้รักษาอาการชักในผู้ป่วยบางรายอีกด้วย

รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันในปัจจุบันของยาเพนโททาลจะเป็นยาฉีด หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับ ยาเพนโททาล ยานี้ก็จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 - 40 วินาที และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด

มีข้อจำกัดบางประการในการใช้ยาเพนโททาลที่ผู้บริโภคควรทราบได้แก่

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้และแพ้ยากลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturate) ด้วยยาเพนโททาล ก็เป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างคล้ายยาบาร์บิทูเรต
  • ห้ามใช้หรือต้องระวังเป็นอย่างมากหากใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่หมดสติด้วยความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยด้วยโรคแอดดิสัน (Addison disease) ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่มีภาวะตับ-ไตทำงานผิดปกติ ผู้ที่มีสารยูเรีย (Urea) ในเลือดสูง ผู้ป่วยโลหิตจางรุนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ยานี้สามารถผ่านเข้ารกและซึมผ่านน้ำนมของมารดาได้ ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร

ทั้งนี้การให้ยาเพนโททาลกับผู้ป่วยจะต้องกระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญด้วยต้องให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำ

กรณีที่เกิดภาวะผู้ป่วยได้รับยาเพนโททาลเกินขนาดจะรู้ได้จากสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วย อาทิ ความดันโลหิตลดต่ำจนอาจถึงภาวะช็อก การหยุดหายใจชั่วคราว ไอ กล่องเสียงมีภาวะหดเกร็ง การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก หากพบเห็นอาการเหล่านี้ต้องหยุดการให้ยานี้และรักษาช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเร็วเช่น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและ/หรือการให้ออกซิเจน

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาเพนโททาลเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ใช้งาน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุเพนโททาลอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดเป็นยาประเภทควบคุมพิเศษ ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ทั้งในสถานพยาบาลของ รัฐและของเอกชนโดยทั่วไป

เพนโททาลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เพนโททาล

ยาเพนโททาลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ใช้กระตุ้นให้เกิดภาวะหลับของผู้ป่วยโดยใช้ในกระบวนการวางยาสลบก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • บำบัดอาการชัก

เพนโททาลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเพนโททาลมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะกดการทำงานของสมองและกระตุ้นให้เกิดอาการหลับและทำให้ร่างกายไร้ความรู้สึก ก่อให้เกิดความสะดวกในการวางยาสลบก่อนการผ่าตัดหรือ ทำหัตถการทางการแพทย์ต่างๆ

เพนโททาลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพนโททาลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาฉีดขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม/ขวด
  • ยาฉีดขนาดความเข้มข้น 2.5% และ 5%

เพนโททาลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเพนโททาลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาขึ้นกับข้อบ่งใช้ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเช่น

ก. กรณีกระตุ้นให้เกิดภาวะหลับและมีสภาพไร้ความรู้สึก:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 3 - 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็กอายุน้อยกว่า 1 เดือน: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 3 - 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิ โลกรัม
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนถึงน้อยกว่า 1 ปี: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 5 - 8 มิลลิกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 ปี - 12 ปี: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 5 - 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิ โลกรัม
  • เด็กและผู้ใหญ่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 3 - 5 มิลลิกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม

ข. ขนาดที่ทำให้ผู้ป่วยคงสภาพการหลับในระหว่างการทำหัตถการ/การผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 25 - 50 มิลลิกรัมโดยขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วย
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไปโดยขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวเด็ก อาการโรค และสุขภาพทั่วไปของเด็ก

*อนึ่งการใช้ยานี้กับเด็กในขนาดที่นอกเหนือที่ระบุในบทความนี้ให้เป็นไปตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพนโททาล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพนโททาลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่/ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เพนโททาลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพนโททาลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น กดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ (ทำให้หัวใจเต้นช้าลง) มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำจนถึงขั้นทำให้เกิดภาวะช็อกได้
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น กดการหายใจ (อาการเช่น หายใจเบา หายใจตื้นๆ หายใจช้า) เกิดอาการไอ จาม หลอดลมและกล่องเสียงมีภาวะหดเกร็งส่งผลให้หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ทำให้มีอาการนอนหลับยาวนานขึ้น
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจางด้วยเม็ดเลือดแดงแตกร่วมกับเกิดภาวะไตวาย

มีข้อควรระวังการใช้เพนโททาลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้เพนโททาลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ยากลุ่มบาร์บิทูเรต
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ได้รับยา Sodium oxybate
  • ระหว่างการใช้ยานี้บุคลากรทางการแพทย์จะคอยตรวจสอบสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยให้อยู่ในระดับปกติอยู่ตลอดเวลา กรณีที่ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพผิดปกติแพทย์จะหยุดการใช้ยานี้และให้การบำบัดอาการผู้ป่วยโดยเร็ว
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคปอด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตต่ำ โรคแอดดิสัน (Addison disease) โรคหืด โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคต่อมไทรอยด์ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง รวมถึงผู้ที่มีประวัติติดยา/สารเสพติด
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นเช่น ง่วงนอน ซึม เศร้า หรือรู้สึกสับสน
  • กรณีที่มีการใช้ยานี้นานกว่า 2 - 3 สัปดาห์หรือใช้ยานี้ในขนาดสูงๆอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะติดยานี้ได้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพนโททาลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เพนโททาลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพนโททาลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาเพนโททาลร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลงไป เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะตั้งครรภ์ตามมาควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยาเพนโททาลร่วมกับยากลุ่ม MAOI, Probenecid, Sodium oxybate อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาเพนโททาลเพิ่มมากขึ้นเช่น อาจเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ง่วงนอน วิงเวียน ซึมเศร้า รู้สึกสับสน เป็นต้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเพนโททาลร่วมกับยา Warfarin อาจทำให้ระดับยา Warfarin ในเลือดลดต่ำลงจนทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดด้อยประสิทธิภาพไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเพนโททาลอย่างไร?

ควรเก็บยาเพนโททาลตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

เพนโททาลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพนโททาลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Anesthal (แอเนสทาล)Jagsonpal
Thiopen (ทีโอเพน) Unique

อนึ่งยาเพนโททาลที่จำหน่ายในประเทศตะวันตกมียาชื่อการค้าเช่น Thiopentone, Trapanal

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_thiopental [2016,April16]
  2. http://www.drugs.com/pro/pentothal.html [2016,April16]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/192#item-9070 [2016,April16]
  4. http://www.globalrph.com/thiopental_dilution.html [2016,April16]
  5. http://www.drugs.com/dosage/thiopental.html [2016,April16]