เพนตาโซซีน (Pentazocine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพนตาโซซีน(Pentazocine หรือ Pentazocine hydrochloride หรือ Pentazocine lactate) เป็นยาประเภทโอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์(Opioid antagonist) ที่มีการแสดงฤทธิ์เป็นโอปิออยด์ อะโกนิสต์(Opioid agonist,ยาออกฤทธิ์เหมือนยาโอปิออยด์)ร่วมด้วย และจัดเป็นสาร/ยาที่ทำให้เสพติดได้ชนิดหนึ่ง แต่ด้วยกลไกการออกฤทธิ์บางอย่าง ยานี้จึงถูกนำมาใช้ร่วมบำบัดผู้ติดยาเสพติดได้เช่นกัน ทางคลินิกใช้ยาเพนตาโซซีนบำบัดรักษาอาการปวดระดับรุนแรง โดยตัวยานี้จะออกฤทธิ์ที่สมองและที่ระบบประสาทจนทำให้หมดความรู้สึกรับรู้อาการเจ็บปวด

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเพนตาโซซีนที่พบเห็น มีทั้งยารับประทาน ยาฉีด และยาเหน็บทวารหนัก ความเหมาะสมของการใช้ยาในลักษณะใดนั้น ขึ้นอยู่กับอาการป่วย วัยของผู้ป่วย โรคประจำตัว และต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์

กรณีใช้ยาเพนตาโซซีนแบบ รับประทาน หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ตัวยานี้จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15–30 นาที และมีระยะเวลาออกฤทธิ์นานประมาณ 4–5 ชั่วโมง กรณีฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ตัวยานี้จะออกฤทธิ์ภายใน 2–3 นาที และมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ประมาณ 2–3 ชั่วโมง

ยาเพนตาโซซีนในเลือดสามารถผ่านรก และเข้าถึงตัวทารกได้ จึงไม่เหมาะกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และขณะที่ตัวยาอยู่ในกระแสเลือด จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ ประมาณ 60% ตับจะเปลี่ยนโครงสร้างของยาเพนตาโซซีนอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2–3 ชั่วโมง เพื่อทยอยกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดทางปัสสาวะ

การใช้ยาเพนตาโซซีนนานกว่า 4–5 วันขึ้นไป ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดด้วยยาเพนตาโซซีนเป็นยาที่มีฤทธิ์เสพติด และการหยุดยานี้อย่างกระทันหันจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการถอนยาเกิดขึ้น โดยสังเกตจากการเกิดอาการเป็นตะคริวที่หน้าท้อง อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น น้ำมูกไหลต่อเนื่อง กระสับกระส่าย วิตกกังวล น้ำตาไหล เป็นต้น

อนึ่ง สรุปคำเตือน ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังต่างๆ ของยาเพนตาโซซีน ได้ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ยาเพนตาโซซีนกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • การใช้ยาเพนตาโซซีนในลักษณะของยาฉีด ต้องระวังการฉีดยาซ้ำที่ตำแหน่งเดิม ด้วยอาจส่งผลทำให้ผิวหนังที่ได้รับการฉีดยามีลักษณะแข็งกระด้าง จึงควรสลับ หมุนเวียนบริเวณฉีดยาตามความเหมาะสม
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ด้วยยานี้อาจก่อให้เกิดความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนเกิดการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ ของสมองมากขึ้น จนผู้ป่วยอาจเกิดอาการชัก และ/หรือภาวะโคม่า แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าสมควรใช้ยาเพนตาโซซีนหรือไม่
  • ยาเพนตาโซซีนสามารถก่อให้เกิดภาพหลอน/ประสาทหลอน มีความรู้สึกสับสน ซึ่งแพทย์/นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบสาเหตุหรือกลไกอย่างชัดเจน จึงถือเป็นข้อควรระวังอีกประการหนึ่ง กรณีเกิดภาพหลอนต่างๆ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนตัวยา
  • ยาเพนตาโซซีนมีฤทธิ์สงบประสาท/กดระบบประสาทส่วนกลาง อาจทำให้รู้สึกวิงเวียน หรือมีอาการเคลิบเคลิ้ม กรณีนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือการทำงานกับเครื่องจักรต่างๆเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย เพราะตัวยาเพนตาโซซีนสามารถทำให้อาการของโรคหัวใจย่ำแย่ลง และอาจก่อให้เกิด ความดันของหลอดเลือดแดงในปอดสูงขึ้น
  • ยานี้มีผลกดการหายใจ จึงไม่เหมาะนำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคหืด และโรคของหลอดลม/ โรคปอด
  • ยาเพนตาโซซีนสามารถกระตุ้นสมองและทำให้เกิดอาการชักขึ้นได้ จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
  • การใช้ยาเพนตาโซซีนที่เป็นยาฉีดกับเด็กตั้งแต่อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป แพทย์จะคำนวณปริมาณขนาดการใช้ยานี้จากน้ำหนักตัวของเด็ก และการใช้ยานี้ต้องเป็นไปโดยคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุอาจก่อให้เกิดภาวะสงบประสาท/กดการทำงานของระบบประสาทอย่างมาก ด้วยไตของผู้สูงอายุอาจขับยานี้ได้น้อยกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น ดังนั้นแพทย์มักจะนำข้อมูลการทำงานของไตมาคำนวณขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยสูงอายุด้วย
  • การได้รับยาเพนตาโซซีนเกินขนาด สามารถส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ได้รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา การใช้ยา Naloxone ฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ/หลอดเลือดดำเพื่อแก้ไขและต้านพิษของยาเพนตาโซซีน เป็นทางเลือกในการบำบัดอาการของผู้ป่วย และต้องประกอบกับการให้ออกซิเจนบริสุทธิ์อย่างเพียงพอ ร่วมกับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ รวมถึงการใช้ยาที่กระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือดตามดุลพินิจของแพทย์

ตามกฎหมายไทย ยาเพนตาโซซีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 3 เราจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษา และจากเภสัชกรโดยทั่วไป

เพนตาโซซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เพนตาโซซีน

ยาเพนตาโซซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เป็นยาระงับความเจ็บ/ปวด การเจ็บครรภ์คลอดบุตร และช่วยสงบประสาท/ยาคลายเครียด

เพนตาโซซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเพนตาโซซีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธ์กดการทำงานของสมอง โดยเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)สมองที่เรียกว่า โอปิออยด์ รีเซพเตอร์ (Opioid receptor) ส่งผลทำให้ร่างกายไม่สามารถรับรู้กระแสประสาทของความรู้สึกเจ็บ/ปวดและช่วยสงบประสาท/กดการทำงานของระบบประสาทจนเป็นที่มาของสรรพคุณ

เพนตาโซซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพนตาโซซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีขนาดของยา Pentazocine HCl/Hydrochloride 25 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดที่มีขนาดของยา Pentazocine lactate 30 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเหน็บทวาร/ยาเหน็บทวารหนักที่ประกอบด้วยตัวยา Pentazocine 50 มิลลิกรัม/แท่ง

เพนตาโซซีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทาน/การบริหารยาเพนตาโซซีนเฉพาะใช้สำหรับบำบัดอาการปวดระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง เช่น

ก.กรณียารับประทาน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 50–100 มิลลิกรัม ทุกๆ 3–4 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม ทุกๆ 3–4 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข.กรณียาฉีด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 30–60 มิลลิกรัม เข้าใต้ผิวหนัง หรือเข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้า หลอดเลือดดำทุกๆ 3–4 ชั่วโมง
  • เด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป: ฉีดยาขนาด 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าใต้ผิวหนัง หรือเข้ากล้ามเนื้อ ทุกๆ 3–4 ชั่วโมง หรืออาจใช้ยาขนาด 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทุกๆ 3–4 ชั่วโมง

ค. กรณียาเหน็บทวารหนัก:

  • ผู้ใหญ่: เหน็บยาเข้าทวารหนักครั้งละ 1 แท่ง(50 มิลลิกรัม/แท่ง) วันละ1- 4 ครั้ง
  • เด็ก: รูปแบบยาเหน็บทวารไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับเด็ก

*อนึ่ง: ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงอาการถอนยา

******หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพนตาโซซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหืด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาเพนตาโซซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเพนตาโซซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เพนตาโซซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพนตาโซซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดการผลิตเม็ดเลือดขาวของไขกระดูก/เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ประสาทหลอน ง่วงนอน สับสน อ่อนแรง ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น กดการหายใจ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสีย รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง เบื่ออาหาร
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังเป็นผื่น นูน แดง เกิดภาวะ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่นย มีอาการง่วงซึม
  • ผลต่อตา: เช่น มีอาการตาพร่า
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด

มีข้อควรระวังการใช้เพนตาโซซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพนตาโซซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทานยาเพนตาโซซีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยา/สารละลายยาเปลี้ยนสี หรือเม็ดยาแตกหัก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มี โรคหัวใจ โรคความดันโลหิสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคระบบหายใจ/โรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงโรคไต
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้นานเกินจำเป็น ด้วยเป็นยาที่ก่อให้เกิดอาการเสพติด
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพนตาโซซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เพนตาโซซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพนตาโซซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพนตาโซซีนร่วมกับยา Propoxyphene ด้วยจะทำให้ผู้ป่วย ได้รับอาการข้างเคียงต่างๆจากยาเพนตาโซซีนสูงขึ้นตามมา เช่น วิงเวียน ง่วงนอน การครองสติทำได้ยาก อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจพบได้ง่ายขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ
  • การใช้ยาเพนตาโซซีนร่วมกับยา Tramadol, Bupropion, อาจเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะลมชัก กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพนตาโซซีนร่วมกับยา Methylene blue ด้วยจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ค่อนข้างอันตราย โดยจะเกิดภาวะกดการหายใจ มีความดันโลหิตต่ำ เป็นลม เกิดอาการโคม่า หรือถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
  • ห้ามใช้ยาเพนตาโซซีนร่วมกับยา Citalopram ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ตามมา

ควรเก็บรักษาเพนตาโซซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเพนตาโซซีนภายใต้อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

เพนตาโซซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพนตาโซซีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Pangon (แพงกอน)L.B.S.
Talwin (ทาลวิน)Hospira

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Fortral, Sosegon, Talwin NX, Talwin PX, Fortwin,Talacen, Foracet, Fortagesic, Pentawin

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/pentazocine/?type=brief&mtype=generic [2017,Jan28]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Pentazocine [2017,Jan28]
  3. https://www.drugs.com/cdi/pentazocine.html [2017,Jan28]
  4. https://www.drugs.com/pro/talwin-injection.html [2017,Jan28]
  5. https://www.medicines.org.uk/emc/PIL.18130.latest.pdf [2017,Jan28]
  6. https://www.drugs.com/sfx/pentazocine-side-effects.html [2017,Jan28]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/pentazocine-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Jan28]
  8. http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/wp-content/uploads/2012/01/psychotropic-table2556.pdf.pdf [2017,Jan28]
  9. MIMS Thailand Ed 2008 [2017,Jan28]