เพกวิโซแมนท์ (Pegvisomant)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพกวิโซแมนท์(Pegvisomant) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคอะโครเมกาลี (Acromegaly, สภาพโตเกินไม่สมส่วน)ซึ่งมีสาเหตุจากต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต(Growth hormone)ออกมามากเกินไป โดยตัวยานี้จะออกฤทธิ์ในลักษณะที่ต้านฮอร์โมนนี้ ที่เรียกว่า Growth hormone receptor antagonist ยาเพกวิโซแมนท์เหมาะที่จะใช้รักษาผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาต่อมใต้สมองด้วย การผ่าตัด การฉายรังสีรักษา หรือใช้ยาชนิดอื่น อย่างเช่น ยาสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโซมาโตสแตติน (Somatostatin analogues)

ยาเพกวิโซแมนท์ ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อที่ต้องนำมาผสมน้ำกลั่นก่อนที่จะฉีดให้กับผู้ป่วย ตัวยาเพกวิโซแมนท์สามารถอยู่ในกระแสเลือดได้เป็นเวลานานหลายวันจนต้องใช้เวลาประมาณ 60–138 ชั่วโมงเพื่อกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะ

ยาเพกวิโซแมนท์มีกลไกออกฤทธิ์ โดยกดการทำงานของฮอร์โมนการเจริญเติบโต ส่งผลให้ฮอร์โมนดังกล่าวมีระดับอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเป็นผลให้ควบคุมอาการของโรคอะโครเมกาลีได้ แต่มีบางกรณีที่แพทย์อาจต้องใช้ยาฮอร์โมนสังเคราะห์อย่าง Somatostatin analogues ร่วมรักษาด้วย

จากการศึกษาด้านการออกฤทธิ์ของยาเพกวิโซแมนท์ นักวิทยาศาสตร์ยังได้ค้นพบว่า ยาเพกวิโซแมนท์มีศักยภาพที่สามารถนำไปรักษาโรคมะเร็งหลายประเภท แต่ยังคงอยู่ในการศึกษาที่จะนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งทางคลินิก

สำหรับการให้ยาเพกวิโซแมนท์กับผู้ป่วย จะต้องใช้ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อเนื่อง แพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดยา และระยะเวลาการใช้ยานี้ได้ดีที่สุด

ผู้ที่ได้รับยาเพกวิโซแมนท์ อาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ เช่น เจ็บหน้าอก ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ คลื่นไส้ และมีภาวะตับอักเสบ กรณีพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรงดังกล่าว ผู้ป่วยควรรีบขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที

ยังมีข้อจำกัดการใช้ยาเพกวิโซแมนท์บางประการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค/ผู้ป่วยดังต่อไปนี้ เช่น

  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาเพกวิโซแมนท์
  • หากอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ให้ทราบ ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจาก ยาต่างๆหลายประเภทซึ่งรวมยาเพกวิโซแมนท์ด้วย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยด้วยเนื้องอกชนิดต่างๆ หรือผู้ที่มีประวัติโรคตับ รวมถึง มีตับทำงานผิดปกติ อาการโรคอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากใช้ยานี้ เพื่อเป็นการป้องกัน ผู้ป่วยควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง
  • ยาเพกวิโซแมนท์สามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาชนิดอื่นได้หลายประเภท จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้ป่วยต้องแจกแจงรายละเอียดกับ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรว่า ตนเองมีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อนบ้าง
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจเลือดดูการทำงานของตับเป็นระยะๆตามที่แพทย์สั่งทุกครั้ง

อนึ่ง ก่อนที่จะนำเพกวิโซแมนท์มารักษาอาการโรค ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ เพื่อยืนยันความปลอดภัยและความเหมาะสมของการใช้ยาชนิดนี้ และหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยใดๆเกี่ยวกับการใช้ยานี้ ก็สามารถสอบถามจากแพทย์หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้

เพกวิโซแมนท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เพกวิโซแมนท์

ยาเพกวิโซแมนท์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคอะโครเมกาลี (Acromegaly)

เพกวิโซแมนท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพกวิโซแมนท์คือ ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Growth hormone receptors เกิดผลยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต(Growth hormone)ที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และทำให้ฮอร์โมนนี้มีระดับกลับมาเป็นปกติ ทำให้ร่างกายมีสมดุลของฮอร์โมนการเจริญเติบโตที่เหมาะสม จึงสามารถควบคุมอาการของโรคอะโครเมกาลีได้ดียิ่งขึ้น

เพกวิโซแมนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพกวิโซแมนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดชนิดผง ที่ประกอบด้วย Pegvisomant 10, 15, 20, 25 และ 30 มิลลิกรัม/ขวด

เพกวิโซแมนท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเพกวิโซแมนท์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นฉีดยาขนาด 40 มิลลิกรัมเข้าใต้ผิวหนัง จากนั้นฉีดยาวันละ 10–30 มิลลิกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคลตามดุลพินิจของแพมย์
  • ผู้อายุต่ำกว่า18ปี: ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา

อนึ่ง: การเตรียมยาฉีดเพกวิโซแมนท์ ให้ใช้น้ำกลั่นที่ผู้ผลิตบรรจุมาพร้อมกับขวดยาฉีดโดยนำมาผสมกับยาจนเข้ากันดี แล้วจึงฉีดให้ผู้ป่วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพกวิโซแมนท์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคเบาหวาน เนื้องอกชนิดต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพกวิโซแมนท์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถส่งผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยาเพกวิโซแมนท์ให้เกิดผลสำเร็จ ผู้ป่วยจะต้องมารับการให้ยาอย่างต่อเนื่อง หากลืมมารับการฉีดยา ให้ผู้ป่วยรีบนัดหมายกับ แพทย์ พยาบาล หรือบุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง แล้วรีบมารับการให้ยานี้โดยเร็ว โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 2 เท่า

เพกวิโซแมนท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพกวิโซแมนท์สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตับ: เช่น ทำให้เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดมีระดับสูงขึ้น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง เจ็บ/ปวดบริเวณหน้าอก
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น ไซนัสอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง มือ-เท้าบวม
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

มีข้อควรระวังการใช้เพกวิโซแมนท์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพกวิโซแมนท์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน หรือยาตกตะกอนแข็ง
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเนื้องอกชนิดต่างๆ และผู้ป่วยโรคตับ
  • ปฏิบัติตามคำสั่งของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมารับการให้ยานี้ตรงตามแพทย์นัด
  • ห้ามช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน(รวมยาเพกวิโซแมนท์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เพกวิโซแมนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพกวิโซแมนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเพกวิโซแมนท์ร่วมกับยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) ยาแก้ปวด อย่างยา Codeine หรือ Hydrocodone จะทำให้ลดประสิทธิภาพการรักษาของยาเพกวิโซแมนท์ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาเพกวิโซแมนท์ร่วมกับยารักษาเบาหวาน อย่างยาอินซูลิน (Insulin) หรือยารักษาเบาหวานชนิดอื่นๆ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาเพกวิโซแมนท์มากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาเพกวิโซแมนท์ร่วมกับยา Rosiglitazone(ยารักษาเบาหวาน) สามารถเสริมฤทธิ์ต่อการ ลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยจนอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับลดขนาดการ ใช้ยาRosiglitazone ลง

ควรเก็บรักษาเพกวิโซแมนท์อย่างไร?

ควรเก็บยาเพกวิโซแมนท์ภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เพกวิโซแมนท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพกวิโซแมนท์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Somavert (โซมาเวอร์ท)pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pegvisomant[2017,May6]
  2. https://www.drugs.com/cdi/pegvisomant.html[2017,May6]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/021106s028lbl.pdf[2017,May6]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/pegvisomant.html[2017,May6]