เปลือกลูกตา ตาขาว (Sclera)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 พฤษภาคม 2557
- Tweet
เปลือกลูกตาเป็นเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดที่ห่อหุ้มอวัยวะต่างๆภายในลูกตา โดยเปลือกลูกตามีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของวงกลม มีความยาวคิดเป็นประมาณ 5/6 ของเส้นรอบวงลูกตาทั้งหมด โดย 1/6 ของเส้นรอบวงของลูกตา คือ กระจกตา/ตาดำ ที่อยู่ส่วนหน้าสุดของลูกตา
เปลือกลูกตาเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดที่เรียกว่า เนื้อเยื่อเส้นใย จึงต่างจากเนื้อเยื่ออื่นๆ โดยจะมีความเหนียว คงทน และทรงรูปร่างได้ เปลือกลูกตาจะมีความหนาแต่ละจุดแตกต่างกัน แต่อยู่ในช่วงประมาณ 0.3 - 1 มิลลิเมตร มีสีขาวขุ่น ทึบแสง
เปลือกลูกตาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
- ส่วนหน้าลูกตาที่อยู่รอบกระจกตา/ตาดำ และเรามองเห็นได้ ซึ่งจากการที่มีสีขาว ทำให้เราเรียกเปลือกลูกตาส่วนนี้ว่า “ตาขาว”
- อีกส่วนของเปลือกลูกตาจะอยู่ด้านหลังลูกตา เป็นส่วนที่เรามองไม่เห็น โดยเป็นส่วนที่จะเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆภายนอกลูกตา ที่ทำหน้าที่เคลื่อนไหวลูกตา/กลอกตา (อ่านเพิ่ม เติมในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของกล้ามเนื้อนอกลูกตา)
หน้าที่ของเปลือกลูกตาคือ ทรงรูปร่างของลูกตา, ให้ความแข็งแรงต่อลูกตา, ปกป้องเนื้อ เยื่อต่างๆภายในลูกตา, และเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อต่างๆนอกลูกตาที่ทำหน้าที่กลอกตา
เปลือกลูกตาไม่ค่อยเกิดโรค ซึ่งเมื่อเกิดโรคหรือมีภาวะผิดปกติ มักเป็นเรื่องที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อ หรือ การฉีกขาดจากอุบัติเหตุที่รุนแรงต่อลูกตา
บรรณานุกรม
1. Sclera http://en.wikipedia.org/wiki/Sclera[2014,april13].