เบราโพรส (Beraprost)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเบราโพรส (Beraprost หรือ Beraprost sodium)เป็นยาประเภทโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ (Prostacyclin analoques) มีฤทธิ์เป็นยาขยายหลอดเลือด และป้องกันการรวมตัวของเกล็ดเลือดไปเป็นลิ่มเลือด จากคุณสมบัติดังกล่าว ทางคลินิกจึงนำยานี้มาใช้เป็นยารักษาภาวะความดันของหลอดเลือดแดงในปอดสูง รวมถึงโรคหลอดเลือดแดงและดำของแขนขาอักเสบ อย่างเช่นโรค Buerger’s disease ยานี้เป็นที่นิยมใช้ในหลายประเทศของทวีปเอเชียซึ่งรวมญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วย

รูปแบบของผลิตภัณฑ์ยาเบราโพรส เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกาย/กรพแสเลือดได้ประมาณ 50 – 70% และสามารถอยู่ในกระแสเลือดได้นานประมาณ 35 – 40 นาทีเท่านั้น ก็จะถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ยาเบราโพรสมีขนาดรับประทานอยู่ในช่วง 60–180 ไมโครกรัมต่อวันโดยแบ่งรับประทานวันละ 3-4 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของผู้ป่วย

ข้อจำกัดของการใช้ยาเบราโพรสที่ผู้บริโภคควรทราบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะตกเลือด เช่น เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร หรือเลือดออกในระบบทางเดินปัสสาวะ(ปัสสาวะเป็นเลือด)
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยทางคลินิกเพียงพอที่สามารถยืนยันการใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • สำหรับผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดใดๆ ควรหยุดใช้ยานี้ก่อนล่วงหน้า 4 – 5 วัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูญเสียเลือดในระหว่างการผ่าตัด
  • ยานี้อาจมีฤทธิ์รบกวนสมาธิการทำงานของผู้ป่วย ระหว่างการใช้ยาเบราโพรสจึงควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร หรือการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆด้วยจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ยาเบราโพรสยังอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้ อาทิเช่น ปวดศีรษะ หน้าแดง รู้สึกร้อนวูบวาบ ท้องเสีย กรณีพบว่าผู้ได้รับผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง ชีพจรเต้นผิดปกติ ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่มาก ซึ่งหากพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องรีบเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลด่วนโดยไม่ต้อรอถึงวันนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยาเบราโพรสเป็นยาควบคุมพิเศษ สามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาเบราโพรสภายใต้ชื่อการค้าว่า “Dorner” และการใช้ยาจะต้องมีใบสั่งจ่ายจากแพทย์เท่านั้น

เบราโพรสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เบราโพรส

ยาเบราโพรสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะความดันของหลอดเลือดแดงในปอดสูง (Primary pulmonary hypertension)
  • รักษาอาการโรคหลอดเลือดของแขนขาอักเสบ (Buerger’s disease)

เบราโพรสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเบราโพรสมีกลไกการออกฤทธิ์โดยเข้ารวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ในผนังหลอดเลือดที่มีชื่อว่า Prostacyclin membrane receptors ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการซึมผ่านของเกลือแคลเซียมในหลอดเลือด จนส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว นอกจากนี้ยาเบราโพรสยังสามารถยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดเป็นลิ่มเลือดจึงทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก จากกลไกดังกล่าวส่งผลลดความดันโลหิตภายในปอดรวมถึงของหลอดเลือดส่วนปลาย(หลอดเลือดแขนขา)ได้ตามสรรพคุณ

เบราโพรสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบราโพรสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนผสมของ ยา Beraprost sodium 20 ไมโครกรัม/เม็ด

เบราโพรสมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเบราโพรส มีขนาดรับประทาน เช่น

ก.บำบัด/รักษาภาวะความดันของหลอดเลือดแดงในปอดสูง:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 60 ไมโครกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร แพทย์อาจปรับขนาดยาได้สูงสุดถึง 180 ไมโครกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 3 – 4 ครั้ง

ข.บำบัดอาการหลอดเลือดส่วนปลายอักเสบ/อุดตัน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 120 ไมโครกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 3 ครั้ง/วันหลังอาหาร

อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกหรือตกเลือด
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบราโพรส า ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหืด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบราโพรส อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไป หากลืมรับประทานยาเบราโพรส ก็สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

เบราโพรสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบราโพรสสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบต่างๆอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หลอดเลือดแดงขยายตัวเลือดจึงไหลเวียนมากขึ้น ส่งผลให้เกิด หน้าแดง
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย: เช่น ค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้เบราโพรสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบราโพรส เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดด้วยจะทำให้มีฤทธิ์ เสริมกันจนทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดบาดแผลและนำมาด้วยอาการเลือดออก
  • หากพบอาการ วิงเวียนหลังใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด เพื่อแพทย์ตรวจดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบราโพรสด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เบราโพรสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบราโพรสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบราโพรสร่วมกับยา Acetovanillone(ยาโรคข้ออักเสบ) ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของยาเบราโพรสเพิ่มมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบราโพรสร่วมกับยา Azapropazone(ยากลุ่มNSAIDs) และ Azelastine(ยาแก้แพ้) ด้วยยาดังกล่าวอาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเบราโพรสด้อยลงไป
  • การใช้ยาเบราโพรส ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเบราโพรสอย่างไร?

ควรเก็บยาเบราโพรส ในอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

เบราโพรสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบราโพรสที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dorner (ดอร์เนอร์)Astellas Pharma

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Kaina, Orphan

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Beraprost [2016,Dec31]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/dorner/?type=brief [2016,Dec31]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/beraprost/?type=brief&mtype=generic [2016,Dec31]
  4. http://link.springer.com/article/10.2165/00003495-200262010-00005 [2016,Dec31]
  5. http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=2243&type=1#Interactions [2016,Dec31]
  6. https://www.drugbank.ca/drugs/DB05229 [2016,Dec31]