เบนโซเคน (Benzocaine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เบนโซเคนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- เบนโซเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบนโซเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบนโซเคนมีวิธีการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- เบนโซเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบนโซเคนอย่างไร?
- เบนโซเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบนโซเคนอย่างไร?
- เบนโซเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- ยาลูกอม (Throat lozenge)
- ยาหยอดหู (Ear drops)
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia)
บทนำ: คือยาอะไร?
เบนโซเคน (Benzocaine) คือ ยาชาเฉพาะที่ ที่ใช้ลดอาการเจ็บปวด อย่างเช่น ปวดจากแผลในปาก, บรรเทาอาการปวดฟัน, ปวดเหงือก, อาการปวดของหูชั้นกลาง, อาการคันจากแพ้พืช เป็นต้น
ยาเบนโซเคน ถูกสังเคราะห์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) โดยนักเคมีชาวเยอรมัน หลัง จากนั้นเป็นเวลา 12 ปีต่อมาจึงนำมาผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า “Anasthesin” รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้เท่าที่พบเห็นจะเป็นยาทาภายนอก (ยาใช้ภายนอก) ประเภทครีม ยาขี้ผึ้ง ยาเจล โลชั่น ยาหยอดหู ยาลูกอม/ยาเม็ดอม ยาสเปรย์ ยาผง และยาเหน็บ เช่น ยาเหน็บทวาร
ยาเบนโซเคน เป็นอีกหนึ่งรายการยาที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนมักมีสำรองไว้ใช้กับผู้ป่วยที่จะเข้ามารับบริการและจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้
การใช้ยาเบนโซเคนได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมควรต้องได้รับความเห็นจากแพทย์เท่านั้นด้วยตัวยาเบนโซเคนมีข้อห้ามใช้อยู่หลายประการเช่น ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือผู้ที่มีอาการแพ้ยาชนิดนี้ ผู้ที่ร่างกายตอบสนองต่ออาการข้างเคียงได้ค่อนข้างมากอย่างเช่น หลังทา ยาแล้วเกิดลมพิษ หรือมีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงที่เรียกว่า ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia) ในทางคลินิก ห้ามทายานี้ในบริเวณที่มี แผลเปิด ตุ่มพอง แผลไฟไหม้ ด้วยจะเกิดการดูดซึมตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด และเป็นอันตรายกับร่างกายมากยิ่งขึ้น หรือต้องระวังยาเบนโซเคนเข้าตาด้วยจะทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างมาก
*หากเกิดเหตุการณ์ยาเบนโซเคนเข้าตาต้องรีบล้างด้วยน้ำสะอาดเป็นเวลาอย่างน้อยประมาณ 15 นาที แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
กรณียาเบนโซเคนที่มีรูปแบบการใช้เป็นชนิดน้ำเพื่อทา ไม่ควรใช้เกิน 4 ครั้ง/วัน หรือการใช้ยาเบนโซเคนทาในเด็กเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันปวดเหงือก ให้แตะยาที่ปลายนิ้วแล้วทาในบริเวณที่ปวดอย่างเบาบาง และห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีเพราะยังไม่มีข้อมูลถึงผลข้างเคียงที่ชัดเจนของยานี้ในผู้ป่วยวัยนี้
ยาเบนโซเคน มีข้อพึงระวังข้อห้ามที่ยังไม่ได้กล่าวอ้างในบทความนี้อีกมากมาย ผู้ป่วยจึงไม่ควรไปหาซื้อยามาใช้เอง ควรใช้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาโดยเคร่งครัด
เบนโซเคนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเบนโซเคนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- บรรเทาอาการเจ็บแผลในช่องปากและลำคอ
- ใช้กับหัตถการทางทันตกรรม เช่น ทาเพื่อบรรเทาอาการปวดเหงือก ปวดฟัน
- ใช้เป็นยาหยอดหูเพื่อระงับอาการปวดของหูชั้นกลาง
- ใช้บรรเทาอาการปวดริดสีดวงทวารในรูปแบบยาเหน็บทวาร
เบนโซเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเบนโซเคนจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการส่งกระแสประสาทในบริเวณที่ได้รับยา ทำให้ความรู้สึกต่างๆถูกจำกัดโดยมีอาการชาเกิดขึ้น จึงเกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ
เบนโซเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบนโซเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
ยาเบนโซเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
ก. ยาลูกอมที่ผสมร่วมกับยาอื่น: เช่น
- Tyrothricin/ยาปฏิชีวนะ 2 มิลลิกรัม + Benzocaine 2 มิลลิกรัม/เม็ด
- Tyrothricin 2 มิลลิกรัม + Benzocaine 5 มิลลิกรัม/เม็ด
- Tyrothricin 1 มิลลิกรัม + Benzethonium/สารระงับเชื้อ Cl 0.5 มิลลิกรัม + Benzocaine 3 มิลลิกรัม/เม็ด
ข. ยาหยอดหูที่ผสมร่วมกับยาอื่น: เช่น
- Benzocaine 14 มิลลิกรัม + Antipyrine/ยาแก้ปวด 54 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ค. ยาเหน็บทวารระงับอาการปวดของริดสีดวงโดยผสมร่วมกับยาอื่นเช่น
- Hydrocortisone acetate 7.5 มิลลิกรัม + Zinc oxide 250 มิลลิกรัม + Benzocaine 40 มิลลิ กรัม/แท่ง
ง. อื่นๆ: เช่น ยาครีม, ยาขี้ผึ้ง, ยาสเปรย์, ยาผงใช้โรยรอยโรค และโลชั่น
เบนโซเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาเบนโซเคนมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันหลากหลาย เช่น ชนิดครีม ขี้ผึ้ง โลชั่น ยาสเปรย์ ยาหยอดหู ยาเหน็บทวาร หรือแม้แต่ยาชนิดผง การใช้ยาที่เหมาะสมที่รวมถึงขนาดยาจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
กรณีที่สถานพยาบาลจัดยาเบนโซเคนให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ที่บ้าน ผู้ป่วยจะต้องมีวินัยและเคร่งครัดต่อการใช้ยานี้ ห้ามปรับเพิ่มขนาดการใช้ยาด้วยตนเองเป็นอันขาด หากใช้ยานี้แล้วอาการปวดไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแพ้ยาควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเบนโซเคน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนโซเคนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาเบนโซเคน สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เบนโซเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบนโซเคนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาการข้างเคียงที่พบน้อย: เช่น นิ้วมือ ริมฝีปาก ผิวหนัง ฝ่ามือ หรือฐานของเล็บมีลักษณะคล้ำ ออกสีน้ำเงิน
- อาการข้างเคียงที่ไม่ทราบกลไกการเกิดแน่ชัด: เช่น
- มีอาการผิวแห้ง แสบ คัน และแดงในบริเวณที่ใช้ยา
- ปัสสาวะมีสีคล้ำ
- อึดอัด/หายใจลำบาก
- การเดินและการทรงตัวทำได้ยาก
- วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม
- มีไข้
- ปวดหัว
- ชามือและเท้า
- รู้สึกระคายเคืองจมูก
- ตาแดงและแสบเคือง
- เจ็บคอ
- ง่วงนอน
- เหนื่อยง่าย
- อ่อนเพลีย/ไม่มีแรง
มีข้อควรระวังการใช้เบนโซเคนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนโซเคน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- ห้ามปรับเพิ่มขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามมิให้ยานี้เข้าตา จมูก ด้วยจะทำให้รู้สึกระคายเคือง
- ห้ามใช้ยานี้ในบริเวณที่มี แผลเปิด แผลฉีกขาด แผลติดเชื้อ
- ห้ามทาเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณใดๆทับซ้ำลงบริเวณที่ใช้ยาเบนโซเคน
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการผื่นคัน บวม ระคายผิวหนัง
- กรณีใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 วันควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ระวังการเกิดปัญหากับระบบโรคเลือด (เกิดเม็ดเลือดแดงผิดปกติ) หรือที่เรียกว่า ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia) โดยเฉพาะการใช้ยานี้กับเด็ก ควรแจ้งผู้ป่วยให้ทราบถึงอาการที่จะแสดงออกจากภาวะนี้ (เช่น ซีด เกิดจ้ำห้อเลือดง่ายทั่วตัว อ่อนเพลีย) พร้อมกับรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเมื่อพบอาการทางระบบเลือดดังกล่าว
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคหืด โรคหัวใจ โรคซีด ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบนโซเคนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เบนโซเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบนโซเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเบนโซเคน ร่วมกับ ยาบางกลุ่มอาจทำให้เกิดภาวะที่เม็ดเลือดแดงของร่างกายลดความสามารถในการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกาย หรือที่เรียกว่า ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด ซึ่งยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยาชาเฉพาะที่ เช่นยา Prilocaine, ยารักษาพิษจากสารไซยาไนด์ (Cyanide) เช่นยา Sodium nitrite
ควรเก็บรักษาเบนโซเคนอย่างไร?
ควรเก็บยาเบนโซเคน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เบนโซเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบนโซเคน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Auralgan (อูราลแกน) | Wyeth |
Doproct (ดูพร็อก) | Continental-Pharm |
Iwazin (ไอวาซิน) | Masa Lab |
Tonsilon (ทอนซิลอน) | Charoon Bhesaj |
Trocacin (โทคาซิน) | Nakornpatana |
Troneo (โทรนิโอ) | Thai Nakorn Patana |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benzocaine [2021,Dec18]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/benzocaine-topical-application-route/description/drg-20072913 [2021,Dec18]
- https://www.drugs.com/sfx/benzocaine-topical-side-effects.html [2021,Dec18]
- http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf [2021,Dec18]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=benzocaine [2021,Dec18]
- https://www.drugs.com/mtm/benzocaine-topical.html [2021,Dec18]