เบนาซีพริล (Benazepril)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเบนาซีพริล(Benazepril หรือ Benazepril hydrochloride) เป็นยาในกลุ่ม ACE inhibitors ทางคลินิกนำมารักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจล้มเหลว รวมถึงช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของตาและไตในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยาเบนาซีพริลมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัว ช่วยลดปริมาตรโลหิตที่ออกจากหัวใจ และลดความต้องการออกซิเจนจากการสูบฉีดโลหิตของกล้ามเนื้อหัวใจ อันที่จริง ยาเบนาซีพริล ยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ด้วยตัวยาเอง แต่จะต้องผ่านการเปลี่ยนโครงสร้างเคมีโดยตับ แล้วได้สารประกอบที่มีชื่อ เรียกว่า “เบนาซีพริแลต (Benazeprillat)” จึงจะสามารถออกฤทธิ์ในการรักษาได้

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเบนาซีพริลเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 96.7% ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 – 11 ชั่วโมง เพื่อขจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

เราอาจจะพบเห็นการใช้ยาเบนาซีพริลในลักษณะ ยาเดี่ยว หรือ จะใช้ร่วมกับยาอื่นอย่างเช่น Amlodipine ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิต

ข้อจำกัดสำคัญบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาเบนาซีพริลได้ เช่น

  • เป็นสตรีตั้งครรภ์ ด้วยยานี้เป็นพิษต่อทารกในครรภ์ สามารถทำให้ทารกเสียชีวิตได้
  • เคยมีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่ม ACE inhibitors ตัวอื่นๆ
  • เป็นผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยภาวะ Angioedema โดยมีอาการบวมของมือ ใบหน้า ริมฝีปาก รอบตา คอ ลิ้น รวมถึง การกลืนลำบาก และหายใจขัด/หายใจลำบาก
  • ผู้ป่วยเด็ก ที่ป่วยด้วยโรคไตระยะรุนแรง จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ห้ามใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับยา Aliskiren ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับ อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆมากขึ้น เช่น ไตทำงานหนัก/ไตอักเสบ ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นต้น
  • การมีโรคประจำตัวต่างๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนาซีพริล อาทิเช่น โรคข้อรูมาตอยด์ โรคลูปัส โรคหัวใจล้มเหลว ภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงาน(เช่น การได้รับยาเคมีบำบัด) ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ(เช่น จากการได้รับยาเคมีบำบัด) มีปริมาตรเลือดน้อย(ภาวะซีด) มีเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ มีเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ผู้ที่มีการใช้ยาต่างๆดังต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาเบนาซีพริล อาทิ เช่น Eplerenone, Amiloride (Potassium-sparing diuretics), Trimethoprim ยาที่เสริมด้วยเกลือโพแทสเซียม (Potassium supplements, เช่นยา Potassium chloride), Everolimus, Sirolimus, Valsartan, ยาInsulin, Glyburide, Sodium aurothiomalate, Dextran sulfate, NSAIDs, Lithium

เบนาซีพริลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เบนาซีพริล

ยาเบนาซีพริลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยสามารถใช้ยานี้ได้กับผู้ใหญ่ และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป

เบนาซีพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเบนาซีพริลในร่างกายจะถูกตับเปลี่ยนไปเป็นสาร Benazeprillat ซึ่งสารนี้จะมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในร่างกายที่มีชื่อว่า Angiotensin-converting enzyme ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว นอกจากนี้ยังส่งผลลดการหลั่งฮอร์โมนชื่อ Aldosterone hormone(ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตที่ช่วยควบคุมความดันโลหิตและระดับเกลือแร่ในร่างกาย) ทำให้ลดภาวะการคั่งของน้ำและของโซเดียมในร่างกาย จากกลไกเหล่านี้ จึงส่งผลให้ลดความดันโลหิตได้ตามสรรพคุณ

เบนาซีพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบนาซีพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของ Benazepril hydrochloride/ Benazepril HCl ขนาด 5,10, 20, และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนผสมของยาอื่น เช่น Amlodipine besylate 5 มิลลิกรัม +Benazepril HCl 10 มิลลิกรัม/เม็ด

เบนาซีพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเบนาซีพริลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง พร้อมยาขับปัสสาวะที่แพทย์แนะนำหรือ รับประทาน 10 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง โดยไม่ต้องใช้ยาขับปัสสาวะ(ขึ้นกับแพทย์แนะนำเช่นกัน) ซึ่งขนาดรับประทานที่ใช้คงการรักษาของยาเบนาซีพริลอยู่ที่ 20 – 40 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง หรือ แพทย์อาจให้แบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้งก็ได้ โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทาน 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 0.6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง โดยห้ามใช้ยาเกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6ปี: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีลงมา

อนึ่ง:

  • การจะเลือกใช้ยาเบนาซีพริลที่เป็นสูตรตำรับเดี่ยว หรือสูตรตำรับผสมกับยาอื่น ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้กำหนด
  • การปรับขนาดรับประทานยานี้จะต้องเป็นขั้นตอน ซึ่งต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์
  • ยานี้บริโภคได้ทั้ง ก่อน พร้อม และหลังอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบนาซีพริล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคลูปัส โรคหัวใจล้มเหลว ภาวะไขกระดูกถูกกการทำงาน ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนาซีพริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบนาซีพริล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเบนาซีพริลตรงเวลา

เบนาซีพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบนาซีพริลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ฮีโมโกลบินลดลง โลหิตจางด้วยมีเม็ดเลือดแดงแตก เกิดภาวะ Eosinophilia(มีเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil ในเลือดสูง) Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ)
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบภาวะ Steven-Johnson syndrome ผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ผื่นแพ้แสงแดด เหงื่อออกมาก ผิวหนังส่วนต่างๆในร่างกายบวม ผมร่วง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ไอ หยุดหายใจ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย: เช่น กรดยูริคในเลือดเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ตับอ่อนอักเสบ ท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ อาเจียน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบ/ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย มีโปรตีนในปัสสาวะ
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น มีโอกาสติดเชื้อต่างๆง่ายขึ้น
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล อารมณ์ทางเพศถดถอย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย

มีข้อควรระวังการใช้เบนาซีพริลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนาซีพริล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามหยุดการรับประทานยานี้เอง
  • การใช้ยานี้ต้องอาศัยความต่อเนื่อง จึงจะเห็นประสิทธิผลของการรักษา
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที เมื่อพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • เรียนรู้วิธีการปฏิบัติตัวให้พ้นจากอาการข้างเคียงต่างๆ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเพื่อรับ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบนาซีพริลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เบนาซีพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบนาซีพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาเบนาซีพริลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้เกิดภาวะวิงเวียน ปวดศีรษะ และความดันโลหิตต่ำตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนาซีพริลร่วมกับยา Losartan, Valsartan, Olmesartan,ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงต่อ ความดันโลหิตต่ำ ไตทำงานผิดปกติ ไตวาย เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต รวมถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนาซีพริลร่วมกับยา Potassium chloride, Trimethoprim ด้วยอาจทำให้มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง จนทำให้เกิดภาวะไตวาย กล้ามเนื้อ เป็นอัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนาซีพริลร่วมกับยา Sodium biphosphate ด้วยอาจทำให้เกิดไตวาย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาเบนาซีพริลอย่างไร?

ควรเก็บยาเบนาซีพริล ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เบนาซีพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบนาซีพริลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Amtrel (แอมเทรล)American Taiwan Biopharm
Lotensin (โลเทนซิน)Pharmaceuticals

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Amlobenz, Lotrel, Benace

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Benazepril [2016,Nov12]
  2. https://www.drugs.com/mtm/benazepril.html [2016,Nov12]
  3. https://www.drugs.com/pro/benazepril.html [2016,Nov12]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/benazepril-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Nov12]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/benazepril/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov12]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/amtrel/?type=brief [2016,Nov12]