เบนซ์ไทอะไซด์ (Benzthiazide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 ธันวาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- เบนซ์ไทอะไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เบนซ์ไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบนซ์ไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบนซ์ไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เบนซ์ไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบนซ์ไทอะไซด์อย่างไร?
- เบนซ์ไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบนซ์ไทอะไซด์อย่างไร?
- เบนซ์ไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ไตรแอมเทอรีน (Triamterene)
- โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก (Potassium-sparing diuretics)
- โรคแอดดิสัน (Addison disease)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
บทนำ
ยาเบนซ์ไทอะไซด์(Benzthiazide) เป็นยาขับปัสสาวะที่มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของเกลือโซเดียมและคลอไรด์ในบริเวณไต จึงเป็นผลให้ยาชนิดนี้มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตและบำบัดอาการบวมน้ำของร่างกายที่อาจจะเกิดจากสาเหตุต่างๆเช่น จากการใช้ยาสเตียรอยด์ รวมถึงผู้ป่วย โรคตับ โรคไต และโรคหัวใจล้มเหลว
ยาเบนซ์ไทอะไซด์มีความคล้ายคลึงกับยากลุ่มไทอะไซด์อีกหลายตัวที่มีฤทธิ์ขับเกลือโปแตสเซียมแต่กลับเพิ่มปริมาณกรดยูริคในร่างกาย ทำให้แพทย์ต้องปรับขนาดการใช้ยาโดยขึ้นกับการตรวจระดับของเกลือแร่(Electrolyte)ในกระแสเลือดที่เปลี่ยนไป
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเบนซ์ไทอะไซด์ เป็นยารับประทาน ตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 60–70% และประมาณ 30% ของตัวยา ในกระแสเลือดจะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีน ยาชนิดนี้มีระยะเวลาอยู่ในร่างกายได้ยาวนาน ประมาณ5–15 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ
ปัจจุบันเบนซ์ไทอะไซด์ไม่ได้จำหน่ายในลักษณะยาเดี่ยวอีกต่อไป เนื่องจากตัวยาชนิดนี้ทำให้เกิดการสูญเสียเกลือโปแตสเซียม นักวิทยาศาสตร์ได้นำยาเบนซ์ไทอะไซด์มาผสมกับยาไตรแอมเทอรีน(Triamterene) ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะชนิดที่ไม่ทำให้มีการสูญเสียเกลือโปแตสเซียมออกจากร่างกาย (Potassium-sparing diuretics) โดยมีการจำหน่ายเป็นสูตรตำรับแบบผสมในแถบประเทศอังกฤษภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Dytide’ และประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในชื่อการค้า ‘Dyrenium compositum’
เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้ยาขับปัสสาวะเบนซ์ไทอะไซด์ที่ผสมกับยาไตรแอมเทอรีน ทางการแพทย์ได้กำหนดข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยบางกลุ่มดังนี้
- ผู้ป่วยที่มีภาวะ โรคตับ โรคไต อย่างรุนแรง
- ผู้ที่มีระดับโปแตสเซียมในร่างกาย/ในเลือดสูงอยู่แล้ว
- ผู้ป่วยโรคต่อมหมวกไตที่มีอาการ อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด และร่างกายอยู่ในภาวะ พร่องฮอร์โมน เราเรียกผู้ป่วยด้วยอาการเหล่านี้ว่าเป็น โรคแอดดิสัน(Addison disease)
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะเลือดเป็นกรดร่วมด้วย
- ผู้ที่มีระดับกรดยูริคในกระแสเลือดสูง
หากมองในภาพรวม การใช้ยาสูตรผสมของเบนซ์ไทอะไซด์มีเงื่อนไขและข้อจำกัด มากมายนอกจากนี้ยังมีเรื่อง ผลข้างเคียง ขนาดรับประทานที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละบุคคลตลอดจนกระทั่งการใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นๆ ทำให้การใช้ยาเบนซ์ไทอะไซด์อย่างปลอดภัยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
เบนซ์ไทอะไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
เบนซ์ไทอะไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง
- และลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
เบนซ์ไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเบนซ์ไทอะไซด์เป็นยาขับปัสสาวะ ที่มีกลไกกาออกฤทธิ์ที่ช่วยกำจัดน้ำออกจากร่างกาย โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของเกลือโซเดียมและคลอไรด์ที่บริเวณหลอดไต (Distal tubule) ตอนต้น จากกลไกเหล่านี้ ส่งผลให้ลดความดันโลหิต และอาการบวมน้ำของร่างกายได้ตามสรรพคุณ
เบนซ์ไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
เบนซ์ไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาสูตรผสมชนิดรับประทานแบบแคปซูล ที่ประกอบด้วยตัวยา Benzthiazide 25 มิลลิกรัม และยา Triamterene 50 มิลลิกรัม
เบนซ์ไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเบนซ์ไทอะไซด์มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานในรูปแบบยาสูตรตำรับผสม (Benzthiazide + Triamterene) วันละ 3 แคปซูล โดยแบ่งการรับประทาน 2 แคปซูลหลังอาหารเช้า และ อีก 1 แคปซูลหลังอาหารกลางวัน หลังจากรับประทานไปแล้ว 1 สัปดาห์ ให้เปลี่ยนมาเป็นรับประทานยาแบบวันเว้นวัน และขนาดรับประทานสามารถลดลงอีก 1–2 แคปซูลตามคำสั่งแพทย์ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ห้ามหยุดการใช้ยานี้อย่างทันที การหยุดใช้ยานี้ควรเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ในกรณีใช้ยานี้ในเด็กอายุตั้งแต่ 12ปีขึ้นไป ให้เป็นไปตามดุลย์พินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบนซ์ไทอะไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนซ์ไทอะไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทาน ยาเบนซ์ไทอะไซด์ สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น
อนึ่ง ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาจาก แพทย์/เภสัชกร/พยาบาล กรณีที่ลืมรับประทานยาว่าควรปฏิบัติอย่างไร
เบนซ์ไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบนซ์ไทอะไซด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง ท้องเสีย กระหายน้ำ มีเลือดออกบริเวณเหงือก ช่องปากเป็นแผล ปวดท้องอย่างรุนแรง ตับอ่อนอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ รู้สึกเสียวปริเวณมือและเท้า มีไข้
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น อาจมีอาการตะคริว
- ผลต่อตับ: เช่น เกิดดีซ่าน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคันเมื่อผิวหนังสัมผัสกับแสงแดด
มีข้อควรระวังการใช้เบนซ์ไทอะไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนซ์ไทอะไซด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
- การรับประทานยาเบนซ์ไทอะไซด์ร่วมกับยาใดๆควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
- หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิดเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียบ่อยครั้ง วิงเวียนศีรษะมาก ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของ แพทย์/เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเบนซ์ไทอะไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เบนซ์ไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบนซ์ไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบนซ์ไทอะไซด์ร่วมกับ ยา Abediterol ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
- กรณีใช้ยาเบนซ์ไทอะไซด์ร่วมกับ ยา Aclidinium อาจทำให้ระดับยาเบนซ์ไทอะไซด์ ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
- ห้ามใช้ยาเบนซ์ไทอะไซด์ร่วมกับ ยาAlaproclate ด้วยเสี่ยงต่อภาวะเกลือโซเดียมใน เลือดต่ำลง
- การใช้ยาเบนซ์ไทอะไซด์ร่วมกับ ยา Alemtuzumab จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อ เม็ดเลือดขาวชนิด นิวโทรฟิล/Neutrophil ต่ำ(Neutropenia) หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาเบนซ์ไทอะไซด์อย่างไร?
สามารถเก็บยาเบนซ์ไทอะไซด์ ดังนี้
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส/Celsius
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
เบนซ์ไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบนซ์ไทอะไซด์ มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dytide (ไดไทด์) | Dales Pharmaceuticals |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น
Aquatag, Dihydrex, Diucen, Edemax, Exna, Foven
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/uk/dytide-capsules-leaflet.html [2018,Nov24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benzthiazide [2018,Nov24]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00562 [2018,Nov24]