เบธานีคอล (Bethanechol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเบธานีคอล (Bethanechol หรือ Bethanechol chloride หรือ Bethanechol Cl) เป็นกลุ่มยาพาราซิมพาโทมิเมติติก(Parasympathomimetic drugs หรือ Cholinomimetic drugs) ทางคลินิกใช้บำบัดอาการปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด (Urinary retention)ที่มีสาเหตุดังต่อไปนี้

  • ได้รับยาชาในระหว่างการผ่าตัด ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวน้อยลง
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดความผิดปกติตรงระบบประสาทควบคุมการบีบตัวของ กระเพาะปัสสาวะ
  • ผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านเศร้า (Antidepressants)ที่ก่อให้เกิดภาวะปัสสาวะไม่ออก

บางกรณี ยาเบธานีคอลยังนำมาใช้บำบัดอาการผู้ป่วยที่ระบบทางเดินอาหารมีการบีบตัวน้อยได้ด้วย รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้มีทั้งยารับประทานและแบบยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่เหมาะกับการใช้ยาเบธานีคอล เช่น ผู้ป่วยด้วยโรค หืด ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ผู้ที่มีภาวะหัวใจ เต้นช้า ผู้ป่วยโรคแผลในระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่มีภาวะลำไส้เล็กตีบตัน ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ และผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยยาเบธานีคอลจะทำให้อาการของผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาเบธานีคอลบางประการที่ต้องเฝ้าระวังและเมื่อพบเห็นอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เช่น เกิดผื่นคันตามร่างกาย ผิวหนังลอกหรือเกิดแผลพุพอง อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้ อึดอัด/แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และการกลืนลำบาก หรือมีอาการวิงเวียนอย่างรุนแรง เป็นต้น

ประเทศไทย จะพบเห็นการใช้ยาเบธานีคอลในรูปแบบยารับประทานตามสถาน พยาบาลหลายแห่ง และมีจำหน่ายตามร้านขายยาขนาดใหญ่

ยาเบธานีคอลจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย และการใช้ยาชนิดนี้ได้อย่างปลอดภัยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แต่ผู้เดียว

เบธานีคอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เบธานีคอล

ยาเบธานีคอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดอาการปัสสาวะไม่ออกด้วยเหตุ จากหัตถการผ่าตัด จากการคลอดบุตร จากโรคเบาหวาน จากผลข้างเคียงของยาต้านเศร้า

อนึ่ง ก่อนใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อน จึงสามารถใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสม

เบธานีคอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเบธานีคอล มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติประเภทพาราซิมพาเทติก(Parasympathetic) ทำให้การหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อ Acetylcholine ออกมาที่ปลายประสาท เป็นผลกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะให้มีการบีบตัวเพื่อขับปัสสาวะออกมาได้

อย่างไรก็ตาม ยานี้ยังออกฤทธิ์กระตุ้นให้อวัยวะในระบบทางเดินอาหารบีบตัวไปด้วยเช่นกัน จึงอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ตามมา

เบธานีคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบธานีคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Bethanechol Cl ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด

เบธานีคอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเบธานีคอลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 10–50 มิลลิกรัม วันละ 3–4 ครั้ง หรือตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้ แพทย์อาจเริ่มที่ขนาดต่ำก่อน เช่น 5–10 มิลลิกรัมในระยะเริ่มต้น แล้วจึงค่อยๆปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นตามการตอบสนองของแต่ละผู้ป่วย
  • ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบธานีคอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบธานีคอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาเบธานีคอล สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยานี้ที่ขนาดปกติเท่านั้น

เบธานีคอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบธานีคอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย น้ำลายไหลออกมามาก เกิดการติดเชื้อในร่างกายจากภาวะกรดไหลย้อน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีอาการชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีภาวะปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ ใบหน้าแดง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาเล็กลง มีน้ำตาหลั่งออกมา

อนึ่ง กรณีได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการ คลื่นไส้ น้ำลายมาก หัวใจเต้นช้า ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจหยุดเต้น กรณีเหล่านี้แพทย์จะใช้ยา Atropine sulfate ขนาด 1–2 มิลลิกรัมฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และดูแลผู้ป่วยตามอาการที่เกิดขึ้น(การรักษาประคับประคองตามอาการ)

มีข้อควรระวังการใช้เบธานีคอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบธานีคอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีระบบทางเดินอาหารอุดตัน ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยด้วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร และผู้ป่วยโรคหืด
  • ก่อนใช้ยาชนิดนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อนเสมอ
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเบธานีคอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เบธานีคอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบธานีคอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเบธานีคอลร่วมกับยา Tramadol , Bupropion ด้วยจะกระตุ้นให้เกิดภาวะลมชักตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบธานีคอลร่วมกับยา Atropine , Hyoscyamine ด้วยอาจทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาโรคของยาตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้ง 2 ตัวด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบธานีคอลร่วมกับยา Physostigmine เพราะจะทำให้เพิ่มปริมาณของยาเบธานีคอลในกระแสเลือดจนส่งผลให้มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้องตามมา

ควรเก็บรักษาเบธานีคอลอย่างไร?

ควรเก็บยาเบธานีคอลภายใต้อุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เบธานีคอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบธานีคอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ucholine (ยูโคไลน์)M & H Manufacturing

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Bethanechol [2018,May5]
  2. https://www.drugs.com/cdi/bethanechol.html [2018,May5]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/bethanechol-index.html?filter=3&generic_only= [2018,May5]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ucholine/?type=brief [2018,May5]
  5. https://www.mims.com/philippines/drug/info/bethanechol?mtype=generic [2018,May5]