เบต้า อินเตอร์เฟอรอน (Beta interferon)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 มิถุนายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีกี่ชนิด อะไรบ้าง?
- ประโยชน์ของเบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีอะไรบ้าง?
- เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบต้า อินเตอร์เฟอรอนอย่างไร?
- ผู้ที่ได้รับเบต้า อินเตอร์เฟอรอนต้องรับการตรวจสอบร่างกายอะไรบ้าง?
- ควรเก็บรักษาเบต้า อินเตอร์เฟอรอนอย่างไร?
- เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อินเตอร์เฟอรอน (Interferon)
- Interferon alpha
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอมเอส (MS: Multiple Sclerosis)
- ปลอกประสาท หรือ ปลอกไมอีลิน (Myelin sheath)
- กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Flu-like Syndrome)
บทนำ
ยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอน (Beta interferon หรือ Interferon beta ย่อว่า IFN beta) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มของสารอินเตอร์เฟอรอน(Interferon ย่อว่า IFN)ที่พบเห็นตามธรรมชาติในร่างกายมนุษย์ จัดเป็นกลุ่มสารโปรตีนที่มีโมเลกุลเล็กที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิต้านทาน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย และจัดว่าเป็นสารไซโตไคน์ (Cytokine) ชนิดหนึ่ง หน้าที่สำคัญของ เบต้า อินเตอร์เฟอรอน ที่นักวิทยาศาสตร์เล็งเห็น คือ ต่อต้านเซลล์บางชนิดของระบบภูมิต้านทานภายในร่างกาย จากข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้มีการพัฒนามาเป็นตัวยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอนเพื่อบำบัดโรคที่มีสาเหตุจากภูมิต้านทานตนเอง/ โรคออโตอิมมูน อย่างเช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอมเอส (MS:Multiple sclerosis)
เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีกี่ชนิด อะไรบ้าง?
ทางคลินิก มีการพัฒนายาเบต้า อินเตอร์เฟอรอนออกมา 2 ตัว ดังนี้
1. อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ (Interferon beta-1a หรือ Interferon beta 1-alpha ย่อว่า IFN-β1a อีกชื่อคือ Recombinant human interferon beta 1a) ผลิตได้จากเซลล์รังไข่ของหนูแฮมสเตอร์ จัดเป็นสารประเภทไซโตไคน์ (Cytokine) มีสูตรโครงสร้างทางเคมี คือ C908H1408N246O252S7 ทางคลินิกนำมาเป็นยารักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด โดยสามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อก็ได้ ชื่อการค้าในท้องตลาด คือ Avonex, Rebif, และ Plegridy
2. อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี (Interferon beta-1b ย่อว่า IFN-β1b อีกชื่อคือRecombinant human interferon beta 1b) ผลิตได้จากเชื้อแบคทีเรีย E.Coli เป็นไซโตไคน์ที่มีการจัดเรียงตัวของกรดอะมิโน แตกต่างจากอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ มีสูตรโครงสร้างทางเคมี คือ C908H1408N246O253S6 ทางคลินิกใช้รักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นแบบยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และมีจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Betaseron และ Actoferon
ประโยชน์ของเบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีอะไรบ้าง?
ประโยชน์/สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอน เช่น
- ใช้รักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอมเอส (MS:Multiple sclerosis)
เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอนไม่มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยารับประทาน แต่จะเป็นยาฉีด ที่สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอน ที่มีชื่อการค้าแตกต่างกันโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
อาจกล่าวได้ว่า ยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอน ทั้ง 2 ตัว มีความใกล้เคียงทั้งด้านสรรพคุณ โครงสร้างเคมี รูปแบบเภสัชภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ขนาดและความถี่ของการใช้ยา/การบริหารยา ยังมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ
ก. อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ:
ผู้ใหญ่: -สัปดาห์ที่ 1: ฉีดยาครั้งละ 7.5 ไมโครกรัม ครั้งเดียว/สัปดาห์
- สัปดาห์ที่ 2: ฉีดยาครั้งละ 15 ไมโครกรัม ครั้งเดียว/สัปดาห์
- สัปดาห์ที่ 3: ฉีดยาครั้งละ 22.5 ไมโครกรัม ครั้งเดียว/สัปดาห์
- สัปดาห์ที่ 4: ฉีดยาครั้งละ 30 ไมโครกรัม ครั้งเดียว/สัปดาห์
ข. อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี:
ผู้ใหญ่: -สัปดาห์ที่ 1 – 2: ฉีดยาครั้งละ 0.0625 มิลลิกรัม วันเว้นวัน
- สัปดาห์ที่ 3 – 4: ฉีดยาครั้งละ 0.125 มิลลิกรัม วันเว้นวัน
- สัปดาห์ที่ 5 – 6: ฉีดยาครั้งละ 0.1875 มิลลิกรัม วันเว้นวัน
- สัปดาห์ที่ 7 เป็นต้นไป: ฉีดยาครั้งละ 0.25 มิลลิกรัม วันเว้นวัน
อนึ่ง: เด็ก: การใช้และขนาดยาในเด็กของยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอน จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีกลไกการออกฤทธิ์ ที่ตัวยาจะสร้างสมดุลของสารที่กระตุ้นการอักเสบของเซลล์ประสาทในสมอง โดยช่วยชะลอหรือลดการนำสารที่กระตุ้นการอักเสบผ่านเข้าทางแนวกั้นกลางระหว่างเลือดและสมองหรือที่เรียกกันว่า Blood-brain barrier ส่งผลให้ลดการอักเสบของเส้นประสาทในสมอง และยังช่วยให้การผลิตสารที่เป็นปัจจัยในการเจริญของเซลล์ประสาท (Nerve growth factor) ตลอดจนกระทั่งช่วยยืดอายุของเซลล์ประสาทอีกด้วย จากกลไกดังกล่าว จึงส่งผลให้อาการโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งดีขึ้นเรื่อยๆ
เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้เบต้า อินเตอร์เฟอรอน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ดังต่อไปนี้ เช่น
- ก่อให้เกิดอาการทางจิตประสาท เช่น เกิดภาวะซึมเศร้า มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง หากพบเกิดอาการเหล่านี้ต้องหยุดการใช้ยาทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ส่งผลเกิดพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงต่อตับ โดยทำให้เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดระดับเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันผลเสียที่จะเกิดกับตับ แพทย์จำเป็นต้องนัดผู้ป่วยมาตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับเป็นระยะไป
- อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคัน ใบหน้า-ปาก-ลิ้นมีอาการบวม เกิดลมพิษ กรณีเกิดอาการเหล่านี้ ต้องหยุดใช้ยาทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- ขณะใช้ยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอน ผู้ป่วยอาจไม่รับรู้ถึงสัญญาณเตือนใดๆที่จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่า อาจเกิดภาวะหัวใจวายตามมา แพทย์จะแจ้งเตือนผู้ป่วยถึงเรื่องดังกล่าว ประกอบกับนัดผู้ป่วยเข้ามาตรวจการทำงานของหัวใจเป็นระยะๆ ผู้ป่วยควรมาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายเสมอ
- ระวังการเกิดอาการลมชักขณะที่ใช้ยานี้
- ระวังการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดขนาดเล็กหรือหลอดเลือดฝอย (Thrombotic microangiopathy) ร่วมกับกลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตก ซึ่งแพทย์จะเฝ้าตรวจติดตาม และผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด
- กรณีมีอาการ/กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะต้องใช้ ยาลดไข้ ยาแก้ปวดบรรเทาอาการปวดศีรษะตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น และไม่ควรไปหาซื้อยาใดๆมารักษาด้วยตนเอง
- อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ด้วยตัวยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีฤทธิ์กดไขกระดูกและเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจเลือดตามที่แพทย์นัดหมาย
- หลีกเลี่ยงการฉีดยาซ้ำในบริเวณเดิม เพื่อป้องกันการอักเสบของผิวหนังที่จะ ก่อให้เกิดการตายของผิวหนังบริเวณที่ได้รับการฉีดยา
- ยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอนสามารถทำให้มีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ ตับอ่อนอักเสบ อาเจียน แพทย์อาจสั่งจ่ายยามาบรรเทาอาการดังกล่าว
- ระบบการเผาผลาญพลังงานของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแปลงจนทำให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มขึ้น มีภาวะเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวเพิ่มหรืออาจลดลงก็ได้
- กรณีที่พบเห็นอาการหอบหืดเกิดขึ้น ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้เบต้า อินเตอร์เฟอรอนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยา เบต้า อินเตอร์เฟอรอน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ก่อนใช้ยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอนผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์ว่าปัจจุบันมีการใช้ยา แผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพรชนิดใดบ้าง
- ห้ามใช้ยาใดๆขณะได้รับยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอนนอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
- กรณีที่มีภาวะภูมิต้านทานตนเอง ป่วยด้วยโรคตับ มีภาวะทางจิต หรือมีโรค ประจำตัวใดๆ ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษา
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือสตรีที่ปฏิเสธการป้องกันการตั้งครรภ์/ปฏิเสธการคุมกำเนิด
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีในภาวะให้นมบุตร
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการให้ยาและรับการตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ผู้ที่ได้รับยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอนต้องรับการตรวจสอบร่างกายอะไรบ้าง?
นอกจากการตรวจอาการของโรคแล้ว ผู้ป่วยที่ได้รับยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอน จะต้องเข้ารับการตรวจเลือดดูความสมบูรณ์ของเลือด(CBC) ดูสภาพการทำงานของตับ ของไต ดูระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ตลอดจนกระทั่งการตรวจการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ
ควรเก็บรักษาเบต้า อินเตอร์เฟอรอนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเบต้า อินเตอร์เฟอรอน ดังนี้ เช่น
- เก็บยาฉีดเบต้า อินเตอร์เฟอรอน ภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพ เช่น สียาเปลี่ยนแปลงไป หรือยาที่หมดอายุแล้ว
เบต้า อินเตอร์เฟอรอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบต้า อินเตอร์เฟอรอน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Betaseron (เบต้าซีรอน) | Bayer HealthCare |
Avonex (อะโวเน็กซ์) | Biogen |
Rebif (รีบิฟ) | Serono |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Interferon_beta-1a [2018,May26]
- https://de.wikipedia.org/wiki/Beta-Interferon [2018,May26]
- https://www.news-medical.net/health/What-are-Beta-Interferons.aspx [2018,May26]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/9587963 [2018,May26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Interferon_beta-1a [2018,May26]
- https://www.avonex.com/content/dam/commercial/multiple-sclerosis/avonex/pat/en_us/pdf/Avonex_Prescribing_Information.pdf [2018,May26]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2003/ifnbser050203LB.pdf [2018,May26]