เบตาฮีสทีน (Betahistine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ยาเบตาฮีสทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาเบตาฮีสทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเบตาฮีสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเบตาฮีสทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเบตาฮีสทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาเบตาฮีสทีนอย่างไร?
- ยาเบตาฮีสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเบตาฮีสทีนอย่างไร?
- ยาเบตาฮีสทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- หูอื้อ (Tinnitus)
- เวียนศีรษะ (Dizziness)
- หู: กายวิภาคหู (Ear anatomy) / สรีรวิทยาของหู (Ear physiology)
- ยาแก้เวียนศีรษะและเวียนศีรษะบ้านหมุน (Dizziness and Vertigo medications)
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
บทนำ
เบตาฮีสทีน (Betahistine) หรือ Betahistine hydrochloride หรือ Betahistine HCl หรือ Betahistine mesilate หรือ Betahistine dihydrochloride เป็นยาที่ใช้บำบัดรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ และช่วยรักษาสม ดุลในการทรงตัวของร่างกาย ยาเบตาฮีสทีนถูกจดทะเบียนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) และแพร่กระจายเข้ามาในเอเชียตลอดจนประเทศไทย
จากการศึกษาด้านเภสัชจลศาสตร์ (Phamacokinetics: การเป็นไปของยาเมื่อเข้าสู่ร่าง กาย) หลังจากที่ร่างกายได้รับยานี้เข้าสู่กระแสเลือดพบว่า เบตาฮีสทีน มีการจับตัวกับโปรตีนในกระแสเลือดน้อยมาก และถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านมากับปัสสาวะ
เบตาฮีสทีน จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น
ยาเบตาฮีสทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเบตาฮีสทีนมีสรรพคุณดังนี้
- รักษาอาการวิงเวียนที่มีภาวะคลื่นไส้ และ/หรืออาเจียนร่วมด้วย (Meniere’s syndrome)
- รักษาอาการหูอื้อที่ทำให้ฟังเสียงได้ไม่ชัดเจน
ยาเบตาฮีสทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเบตาฮีสทีน มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหูชั้นใน ทำให้ของเหลวที่มาหล่อเลี้ยงบริเวณดังกล่าวมีการถ่ายเท หมุนเวียนได้ดีขึ้น ส่งผลให้บรรเทาอาการวิงเวียน และเพิ่มสมดุลในการทรงตัวของร่างกาย
ยาเบตาฮีสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบตาฮีสทีน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย ในรูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 6, 12, 16, และ 24 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาเบตาฮีสทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเบตาฮีสทีนมีขนาดรับประทาน ดังนี้
ก.ผู้ใหญ่: รับประทาน 24 - 28 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน อาการจะเริ่มดีขึ้นและเห็นผลชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ โดยผลการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่พบ คือ การใช้ยาเพียงไม่กี่เดือนก็ยังสามารถป้องกันอาการกำเริบของหูอื้อหรือฟังเสียงไม่ชัดเจนได้เป็นอย่างดี สำหรับขนาดและระยะเวลารับประทานแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยาที่เหมาะสมต่อคนไข้เป็นราย บุคคลไป
ข. เด็ก:ไม่แนะนำการใช้ยาในผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยสนับ สนุนการใช้ยากับผู้ที่มีอายุในช่วงดังกล่าว
*****หมายเหตุ:
สำหรับขนาดและระยะเวลารับประทานยานี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยาที่เหมาะสมต่อคนไข้เป็นรายบุคคลไป
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเบตาฮีสทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเบตาฮีสทีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเบตาฮีสทีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาเบตาฮีสทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบตาฮีสทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ปวดท้องและมีอาการคลื่นไส้ (แก้ไขได้โดยรับประทานยานี้หลังอาหาร หรือลดขนาดการรับ ประทานลง) อาหารไม่ย่อย ปวดศีรษะ
และอาจพบอาการแพ้ยา เช่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก ใบหน้าและคอบวมพร้อมกับมีอาการวิงเวียนร่วมด้วย นอกจากนี้ยังสามารถพบเห็นอาการคล้ายเป็นลมพิษ ผื่นคัน ได้เช่นเดียว กัน ซึ่งถ้ามีอาการของการแพ้ยา ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบตาฮีสทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบตาฮีสทีน ดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาเบตาฮีสทีน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต (Pheochromocytoma)
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหืด โรคแผลในกระเพาะอาหาร เพราะอาจทำให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาชีพหรือต้องทำงานเกี่ยวกับการขับขี่ยวดยาน หรือต้องควบคุมการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร เพราะยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบตาฮีสทีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาเบตาฮีสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบตาฮีสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้คือ การใช้ยาเบตาฮีสทีนร่วมกับยากลุ่มต่อต้านสารฮิสตามีน (Antihistamine) อาจส่งผลให้ฤทธิ์การรักษาของยาต้านฮิสตามีนด้อยประ สิทธิภาพลง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มดังกล่าว เช่น Diphenhydra mine, Cetirizine, และ Chlorpheniramine
ควรเก็บรักษายาเบตาฮีสทีนอย่างไร
ควรเก็บยาเบตาฮีสทีนที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาให้พ้นแสง แดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำ
ยาเบตาฮีสทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบตาฮีสทีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Behistin (บีฮีสทีน) | Pharmasant Lab |
Betahis 6/Betahis 12 (เบตาฮีส 6/เบตาฮีส 12) | Farmaline |
Betris (เบทริส) | Siam Bheasach |
Merislon (เมอริสลอน) | Eisai |
Merlin (เมอร์ลิน) | T.O. Chemicals |
Mertigo (เมอร์ทิโก) | Sriprasit Pharma |
Serc (เซิร์ก) | Abbott |
Stei (สเตย์) | Sriprasit Pharma |
อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Veserc, Hiserk, Betaserc, Vergo
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Betaserc [2017,Dec2]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=betahistine [2017,Dec2]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Serc/?type=full#Indications [2017,Dec2]
- http://chealth.canoe.ca/drug_info_details.asp?channel_id=0&brand_name_id=4068&page_no=2#Precautions [2017,Dec2]
Updated 2017,Dec2