เบคาเพลร์มิน (Becaplermin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 ตุลาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- เบคาเพลร์มินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เบคาเพลร์มินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบคาเพลร์มินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบคาเพลร์มินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- เบคาเพลร์มินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบคาเพลร์มินอย่างไร?
- เบคาเพลร์มินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบคาเพลร์มินอย่างไร?
- เบคาเพลร์มินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน (Diabetic foot care)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drug)
บทนำ
ยาเบคาเพลร์มิน(Becaplermin) เป็นสารประเภทโปรตีนที่พบมากในเกล็ดเลือด(Platelet derived growth factor/PDGF) มีคุณสมบัติในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของร่างกายที่ได้รับความเสียหาย นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมโดยนำสารพันธุกรรม (B chain)จากเกล็ดเลือดมาตัดต่อและบรรจุเข้าในเชื้อยีสต์(Yeast) ทำให้ยีสต์ดังกล่าวสร้าง PDGF ขึ้นมาและตั้งชื่อว่า ‘Becaplermin’ ด้วยคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาทางคลินิกได้นำสาร/ยาเบคาเพลร์มินมาเป็นยาบำบัดรักษาแผลบริเวณเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน (Diabetic foot ulcers) จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยด้วยแผลเบาหวานบริเวณเท้าที่ได้รับยาเบคาเพลร์มินจะมีการซ่อมแซมบาดแผลได้อย่างรวดเร็วภายใน 6 สัปดาห์
อย่างไรก็ตามมีข้อห้ามใช้ยาเบคาเพลร์มินกับแผลผิวหนังที่เกิดจากมะเร็งผิวหนัง(Skin cancer)
สำหรับรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเบคาเพลร์มิน เป็นแบบเจลทาเฉพาะภายนอก การใช้ยาเบคาเพลร์มินทาแผลที่เท้าแต่ละครั้งยังต้องอาศัยหัตถการที่เหมาะสมที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่บาดแผลขณะใช้ยานี้ เช่น
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเปิดใช้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ปลายหลอดยานี้สัมผัสกับบาดแผลโดยตรง
- การทายานี้ควรใช้ไม้พันสำลีที่ปราศจากเชื้อป้ายยาแล้วทาลงที่บาดแผล
- ผู้ป่วยต้องเรียนรู้วิธีทำความสะอาดแผลระหว่างที่ทายาชนิดนี้จาก แพทย์ พยาบาล จนเข้าใจดีและสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องในการใช้ยานี้
อนึ่ง ประเทศในแถบอาเซียนที่พบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ คือ พม่า และน่าจะมีแนวโน้มการจัดจำหน่ายยาเบคาเพลร์มินในอีกหลายประเทศ
เบคาเพลร์มินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเบคาเพลร์มินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ
- รักษาบาดแผลบริเวณผิวหนังที่มีสาเหตุจากโรคเบาหวาน
เบคาเพลร์มินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
PDGF /ยาเบคาเพลร์มินเป็นสารประเภทโปรตีนชีวภาพ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ PDGF receptor ในบริเวณผิวเซลล์ จึงทำให้เกิดการแบ่งตัวและซ่อมแซมเนื้อเยื่อของบาดแผลเบาหวานได้ตามสรรพคุณ
เบคาเพลร์มินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบคาเพลร์มินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเจลทาภายนอก ที่ประกอบด้วยตัวยา Becaplermin ขนาด 100 ไมโครกรัม/เจล 1 กรัม
เบคาเพลร์มินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเบคาเพลร์มินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. ผู้ใหญ่: ทายาวันละ 1 ครั้ง ตามคำสั่งแพทย์
ขั้นตอนการทายาให้ปฏิบัติดังนี้:
- บีบยาลงในกระดาษไข(Wax paper)
- ใช้ไม้พันสำลีหรือไม้กดลิ้นที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ป้ายเนื้อยาจากกระดาษไข แล้วทาให้ทั่วแผลผิวหนังที่มีสาเหตุจากโรคเบาหวาน
- ใช้ผ้าพันแผลชุบสารละลายน้ำเกลือ (0.9% Sodium chloride) ปิดทับบาดแผลอีกทีหนึ่ง
- หลังการทายาไปแล้ว 12 ชั่วโมง ให้แกะผ้าพันแผลออกแล้วล้างแผลด้วยสารละลาย 0.9% Sodium chloride เพื่อขจัดคราบยาออกให้หมด
- ปิดแผลด้วยผ้าพันแผลที่ชุบด้วยสารละลาย 0.9% Sodium chloride โดยไม่ต้องใช้ยา Becaplermin
- ความถี่ในการทายานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
ข. เด็ก: ทางคลินิก ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้าน ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และขนาดยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ในเบื้องต้น ผู้ป่วยควรมารับการทำแผลที่สถานพยาบาล และเรียนรู้วิธี การทำแผลด้วยตนเองได้อย่างถูกต้องเสียก่อน จึงจะสามารถกลับมาทำแผลที่บ้าน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบคาเพลร์มิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น มีภาวะเลือดออกง่าย รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบคาเพลร์มินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมทายาเบคาเพลร์มิน สามารถใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดการใช้เป็น 2 เท่า ให้ทายาที่ขนาดปกติเท่านั้น
อนึ่ง ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าว่า กรณีที่ลืมทายานี้ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
เบคาเพลร์มินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
เท่าที่มีรายงาน อาการไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากการใช้ยาเบคาเพลร์มิน จะเป็นไปในลักษณะของการติดเชื้อที่บาดแผลที่ป้ายยานี้ ทั้งนี้อาจเกิดจากการปนเปื้อนของแบคทีเรียขณะทายา
มีข้อควรระวังการใช้เบคาเพลร์มินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เบคาเพลร์มิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับบาดแผลที่เกิดจากมะเร็งผิวหนัง
- ห้ามใช้ยานี้ทาบาดแผลที่เป็นแผลอื่นๆ รวมถึงแผลเย็บ(เช่น แผลผ่าตัด) ซึ่งไม่ใช่แผลจากโรคเบาหวาน
- การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ให้เป็นไปตามดุลยพินิจ ของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามให้ยานี้เข้าตา
- ห้ามรับประทาน
- ห้ามใช้ป้ายแผลสด
- การทายานี้ต้องใช้เทคนิคที่ป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรค ผู้ที่จะใช้ยานี้ต้องได้รับการฝึกฝนจาก แพทย์/ พยาบาลมาจนชำนาญ
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- หากพบการติดเชื้อที่บริเวณบาดแผลที่ทายา ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเบคาเพลร์มินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เบคาเพลร์มินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบคาเพลร์มินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเบคาเพลร์มินร่วมกับยา Aceclofenac, Celecoxib อาจทำให้ฤทธิ์ต้าน การจับตัวของเกล็ดเลือดในยาเบคาเพลร์มินเพิ่มมากขึ้นจนอาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบคาเพลร์มินร่วมกับ ยาAcemetacin เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา
- ห้ามใช้ยาเบคาเพลร์มินร่วมกับ ยา Azficel-T ด้วยเสี่ยงกับการเกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรงตามมาของยาทั้ง2ตัว คือ ภาวะเลือดออกง่ายรุนแรง
ควรเก็บรักษาเบคาเพลร์มินอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเบคาเพลร์มิน ดังนี้ เช่น
- เก็บยาภายในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงใน แม่น้ำ คูคลอง ตามธรรมชาติ
เบคาเพลร์มินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบคาเพลร์มิน มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
REGRANEX (รีกราเน็กซ์) | OMJ Pharmaceuticals, Inc. |
Regrel (รีเกรล) | Mega Lifesciences |