เนื้องอกหัวใจ (Cardiac tumor)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 กันยายน 2563
- Tweet
- บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- เนื้องอกหัวใจมีกี่ชนิด?
- เนื้องอกหัวใจเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม? มีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกหัวใจได้อย่างไร?
- เนื้องอกหัวใจมีกี่ระยะ?
- เนื้องอกหัวใจมีวิธีรักษาอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากเนื้องอกหัวใจอย่างไร?
- เนื้องอกหัวใจรักษาหายไหม/มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร?
- มีวิธีตรวจคัดกรองเนื้องอกหัวใจไหม?
- เนื้องอกหัวใจป้องกันได้ไหม?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- หัวใจ: กายวิภาคหัวใจ (Heart anatomy) / สรีรวิทยาของหัวใจ (Heart physiology)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- มะเร็งหัวใจ (Cardiac cancer)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- เอคโคหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Cardiac echo: Echocardiogram)
- สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)
บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
เนื้องอกหัวใจ(Cardiac tumor หรือ Heart tumor)คือ โรคที่เกิดจากการเจริญ ผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อหัวใจโดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญนี้ได้ จึงเกิดเป็นก้อนเนื้อผิดปกติ หรือที่เรียกว่า ‘เนื้องอก’ ขึ้นในหัวใจ ทั้งนี้เนื้อเยื่อหัวใจทุกชนิดสามารถเกิดเนื้องอกได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ, ลิ้นหัวใจ, เยื่อหุ้มหัวใจ, เยื่อบุหัวใจ, และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทุกชนิดของหัวใจ เช่น หลอดเลือด, พังผืด, ท่อน้ำเหลือง, เนื้อเยื่อไขมัน
เนื้องอกหัวใจ เป็นโรคพบน้อย พบได้ทั่วโลก ทุกเพศ และทุกวัย พบน้อยในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ทั่วไปมักพบในวัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุ สถิติเกิดโรคที่แน่นอนยังไม่ทราบ แต่มีการศึกษาจากประเทศในยุโรป พบโรคนี้ได้ 1.38 รายต่อประชากร 1แสนคน
เนื้องอกหัวใจมีกี่ชนิด?
เนื้องอกหัวใจ เช่นเดียวกับเนื้องอกของทุกอวัยวะ คือ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
เนื้องอกที่เป็นมะเร็ง/มะเร็งหัวใจ, และเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง
ก. มะเร็งหัวใจ(Cardiac cancer หรือ Heart cancer) เป็นกลุ่ม/ชนิดพบน้อย ประมาณ 5%ของเนื้องอกทุกชนิดของหัวใจ ซึ่งโรคกลุ่มนี้จะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ โดยได้แยกเขียนในอีกบทความ ชื่อ ‘มะเร็งหัวใจ’ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com
ข. เนื้องอกหัวใจชนิดไม่ใช่มะเร็ง(Benign cardiac tumor หรือ Benign heart tumor ) เป็นกลุ่มเนื้องอกที่พบได้ประมาณ 95%ของเนื้องอกหัวใจทั้งหมด และเป็นกลุ่ม/ชนิดกล่าวถึงในบทความนี้ โดยขอเรียกสั้นๆว่า ‘เนื้องอกหัวใจฯ’ เนื้องอกฯกลุ่มนี้พบ ประมาณ 1.24 รายต่อประชากร 1 แสนคน
ชนิดย่อยที่พบบ่อยของ เนื้องอกหัวใจฯ เช่น
- เนื้องอกมิกโซมา(Myxoma): พบประมาณ 40-50%ของเนื้องอกหัวใจทั้งหมด เป็นเนื้องอกของเซลล์ต้นกำเนิดเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เป็นเนื้องอกหัวใจพบบ่อยที่สุด มักเกิดในหัวใจห้องบนซ้าย แต่ก็พบเกิดได้ทุกส่วนของหัวใจ ทั่วไปมักพบเพียงก้อนเดียว น้อยมากๆที่จะพบเกิดหลายก้อนในหลายห้องหัวใจ มักพบในผู้ใหญ่อายุ50ปีขึ้นไป และประมาณ75%จะพบในผู้หญิง ประมาณ 10%ของโรคนี้มีรายงานพบเป็นโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมทั้งในหญิงและชาย ซึ่งถ้าเป็นโรคทางพันธุกรรม มักพบเกิดหลายก้อน, มักเกิดในผู้ป่วยอายุน้อย และมักพบเนื้องอกต่างๆในอวัยวะอื่นๆร่วมด้วย
- เนื้องอกเส้นใย(Fibroma): พบได้ประมาณ 15% เป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่อพังผืด มักพบที่ผนังหัวใจห้องล่าง พบบ่อยในเด็กทุกอายุรวมถึงเด็กแรกเกิด เป็นชนิดมีหินปูนจับในก้อนเนื้อ จึงมักตรวจพบจากเอกซเรย์ภาพปอด เนื้องอกนี้เป็นชนิดก่อให้เกิดหัวใจหยุดเต้นได้ทันที ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตายได้
- เนื้องอกไขมัน (Lipoma): พบประมาณ 15% เป็นเนื้องอกของเซลล์เนื้อเยื่อไขมัน มักพบได้ทุกส่วนของหัวใจ และก้อนเนื้อจะมีขนาดเล็กที่มักไม่ก่ออาการ(แต่ถ้าก้อนโตก็ก่ออาการได้) จึงมักพบจากการตรวจชันสูตรศพจากตายด้วยสาเหตุต่างๆที่ไม่ใช่จากเนื้องอกหัวใจ
- เนื้องอกกล้ามเนื้อลาย (Rhabdomyoma): พบได้ประมาณ 8% เป็นเนื้องอกกล้ามเนื้อหัวใจ มักพบที่ผนังหัวใจห้องล่าง พบบ่อยในเด็กทุกอายุรวมถึงเด็กแรกเกิด และมักเป็นสาเหตุการตายจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันในเด็ก
- เนื้องอกเจิมเซลล์ (Teratoma): พบได้ประมาณ 7% เป็นเนื้องอกของเซลล์ตัวอ่อนขณะเป็นทารกในครรภ์ที่ยังตกค้างอยู่เมื่อโตขึ้น มักพบในเด็กโตและในวัยหนุ่มสาว มักเกิดที่เยื่อหุ้มหัวใจที่จะส่งผลให้บีบรัดหัวใจจนหัวใจทำงาน/บีบตัวไม่ได้ จึงเกิดหัวใจล้มเหลว
- เนื้องอกหลอดเลือด (Hemangioma): พบได้ประมาณ 2-5% เป็นเนื้องอกของหลอดเลือดในเนื้อเยื่อหัวใจ พบเกิดได้ทุกตำแหน่งของหัวใจ มักพบในผู้สูงอายุ การวินิจฉัยโรคจะแม่นยำขึ้นจากการสืบค้นด้วยการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ(Cardiac angiogram)
- เนื้องอกชนิดอื่นๆที่พบได้น้อยมากๆ: มักเป็นเพียงรายงานผู้ป่วย ซึ่งพบได้รวมๆกันประมาณ 5% เช่น ถุงน้ำหัวใจ เป็นต้น
เนื้องอกหัวใจเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม? มีอาการอย่างไร?
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงเกิดเนื้องอกหัวใจฯ ปัจจุบันยังไม่ทราบ แต่พบผู้ป่วยบางรายมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ แต่แพทย์ก็ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า พันธุกรรมผิดปกติชนิดใดที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้
อาการของเนื้องอกหัวใจ:
อาการพบบ่อยของเนื้องอกหัวใจ ได้แก่ อาการเช่นเดียวกับอาการของโรคหัวใจทุกสาเหตุ เช่น
- เหนื่อยง่าย
- หายใจลำบาก/ หายใจหอบเหนื่อยโดยเฉพาะเมื่อออกแรง หรือนอนราบ
- ใจสั่น
- หัวใจเต้นผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เสียงหัวใจผิดปกติ(Murmur)เมื่อตรวจฟังด้วยหูฟัง
- วิงเวียน
- เป็นลมบ่อย
- เจ็บหน้าอก / แน่นหน้าอก
- บวมเนื้อตัว รอบตา ขา ข้อเท้า เท้า และอาจมีบวมท้อง/ท้องมาน
- นิ้วมือ นิ้วเท้า เขียวคล้ำ และ/หรือ ปลายนิ้วมือ/นิ้วเท้ามีลักษณะกลมเป็นกระเปาะ (Clubbing finger)
- หัวใจโต
- ภาวะหัวใจวาย มักเกิดเฉียบพลัน แต่พบเกิดเรื้อรังได้
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกหัวใจได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกหัวใจได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ประวัติอาการ ประวัติโรคต่างๆของคนในครอบครัว
- การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง การตรวจสัญญาณชีพ, การตรวจฟังเสียงเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
- การตรวจเอคโคหัวใจ
- การตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ซึ่งเป็นการตรวจที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น
- การตรวจภาพหัวใจด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ
- การตรวจภาพและหลอดเลือดหัวใจด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดแดง(Cardiac angiography)
- การตรวจก้อนเนื้อด้วยการดูดเซลล์มาตรวจที่เรียกว่า การตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
เนื้องอกหัวใจมีกี่ระยะ?
เนื้องอกหัวใจฯ ก้อนเนื้อจะมีขนาดโตขึ้นได้ แต่จะไม่เหมือนมะเร็ง คือ จะค่อยๆโตอยู่เฉพาะที่ ไม่รุกราน/ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง หรือ เข้าต่อมน้ำเหลือง และจะไม่แพร่กระจายเข้ากระแสเลือด หรือระบบน้ำเหลือง ดังนั้นจึงไม่มีการจัดระยะโรค แพทย์มักบอกการพยากรณ์โรค/ความรุนแรงโดยใช้ลักษณะทางคลิก โดยแบ่งความรุนแรงของโรคจากน้อยไปหามากเป็น 4 กลุ่ม คือ
- กลุ่มผ่าตัดออกได้หมด
- กลุ่มผ่าตัดออกได้แต่ไม่หมด
- กลุ่มผ่าตัดไม่ได้ และ
- กลุ่มย้อนกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัด
เนื้องอกหัวใจมีวิธีรักษาอย่างไร?
วิธีรักษาเนื้องอกหัวใจฯ คือ การผ่าตัดเนื้องอกออกให้หมด อาจด้วยการผ่าตัดเปิดหัวใจด้วยวิธีทั่วไป หรือการผ่าตัดผ่านกล้อง หรือใช้หุ่นยนต์ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ และเครื่องมือของแพทย์
ส่วนการใช้ยาเคมีบำบัด และ/หรือ การฉายรังสีรักษา จะพิจารณาเมื่อ
- ผู้ป่วยมีอาการมากแต่ไม่สามารถทำผ่าตัดได้
- ก้อนเนื้อย้อนกลับเป็นซ้ำหลายครั้งหลังผ่าตัด
- ชนิดของเซลล์เนื้องอกฯ เป็นชนิดตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา ซึ่งแพทย์จะพิจารณาผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
- ส่วนยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังไม่มีการศึกษาที่พบตัวยาที่มีประสิทธิภาพ
มีผลข้างเคียงจากเนื้องอกหัวใจอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากเนื้องอกหัวใจฯที่ก่อให้เกิดอันตราย คือ
- การเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือ การเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะที่รุนแรง ที่เป็นสาเหตุให้ตายได้
- การก่อให้เกิดเป็นก้อนเล็กมากๆที่เรียกว่า สิ่งหลุดอุดหลอดเลือด (Embolus) ที่อาจเป็นก้อนเนื้อ หรือก้อนเลือด ที่หลุดออกจากหัวใจ/ก้อนเนื้อและไปอุดกั้นในหลอดเลือดของอวัยวะต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ เช่น
- โรคหลอดเลือดสมอง/ อัมพฤกษ์ /อัมพาต กรณีมีการอุดตันของหลอดเลือดสมอง
- ถ้าหลุดไปอุดตันในหลอดเลือดปอด จะส่งผลให้เกิดภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด
เนื้องอกหัวใจรักษาหายไหม/มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ทั่วไป เนื้องอกหัวใจฯ เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคดี รักษาหายได้ด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีการเดียว แต่ถ้าเกิดมีผลข้างเคียง ดังกล่าวในหัวข้อ’ผลข้างเคียงฯ’ ก็ก่ออันตรายที่อาจเกิด อัมพาต หรือ ตายได้
ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นเนื้องอกหัวใจฯ ที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- กินอาหาร ดื่มน้ำ และออกกกำลังกาย ตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามแพทย์นัด
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น หอบเหนื่อยมากขึ้น บวมตามเนื้อตัวมากขึ้น
- มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอเป็นเลือด เสมหะเป็นเลือด แขน/ขาอ่อนแรง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูก หรือ ท้องเสีย เรื้อรัง นอนไม่หลับเรื้อรัง
- เมื่อกังวลในอาการ
มีวิธีตรวจคัดกรองเนื้องอกหัวใจไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบเนื้องอกหัวใจฯในระยะตั้งแต่ยังไม่มีอาการ
เนื้องอกหัวใจป้องกันได้ไหม?
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุเกิดและปัจจัยเสี่ยง จึงยังไม่สามารถป้องกันการเกิดเนื้องอกหัวใจฯได้
บรรณานุกรม
- A. Cresti, et al. J Cardiovasc Med. 2016;17(1):37-43
- M.J. Leja. et al. Texas Heart Institute Journal 2011; 38( 3):261-262
- W.C.Roberts. BUMC Proceeding 2001; 14:358-376
- https://www.sciencedirect.com/topics/medicine-and-dentistry/primary-tumors-of-the-heart [2020,Aug29]
- https://www.medscape.com/viewarticle/719633_1 [2020,Aug29]
- https://www.medscape.com/viewarticle/719633_10 [2020,Aug29]