เท้าเหม็นช่วยได้ (ตอนที่ 1)

เท้าเหม็นช่วยได้-1

      

      จากข่าวพายุโพดุลถล่ม 27 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง และอีสาน จนส่งผลให้เกิดเหตุน้ำท่วมเฉียบพลันและส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายให้แก่ถนน สะพานและบ้านเรือนอีกหลายหลังพังเสียหาย

      เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้ชาวบ้านหลายรายจำเป็นต้องใส่รองเท้าบูทเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ได้มีหมอผิวหนังออกมาโพสต์ข้อความ ให้ความรู้กรณีต้องสวมรองเท้าบูท รองเท้ากีฬา หรือ รองเท้าคอมแบต ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค “Pitted Keratolysis” (โรคเท้าเหม็น)

      โดยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Micrococcus sedenterius, Corynebacterium species และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม อาจมีการติดเชื้อราแทรกซ้อนตามมาได้ และอาจจะทำให้เท้าเป็นหลุมได้ เพราะแบคทีเรียเหล่านี้ เมื่ออยู่ในสภาพความเป็นด่างที่เหมาะสม เช่น เท้าอับชื้น เหงื่อออก ก็จะสร้างเอนไซม์ Protease มาย่อยผิวหนังชั้นตื้นให้เป็นรูๆ ซึ่งส่วนมากมักมีขนาดรูเล็กๆ 0.5-1 มม.

      แบคทีเรียเหล่านี้ นอกจากจะย่อยสลายผิวหนังชั้นตื้นแล้ว ยังสร้างสาร Sulfur compound ทำให้เกิดกลิ่นขึ้นมา

      ทั้งนี้ เนื่องจากโรคดังกล่าวไม่ใช่การติดเชื้อรา จึงทายาฆ่าเชื้อราแล้วอาจจะไม่หาย และโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อ แค่ส่งกลิ่นเหม็น

      ส่วนวิธีการรักษานั้น ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัย หรือทายาในกลุ่มยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Erythromycin gel, Clindamycin gel, Mupirocin ทายาในกลุ่ม Benzyl peroxide ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างผิวใหม่ และฆ่าเชื้อได้

      และหากสามารถกำจัดปัจจัยกระตุ้นได้ เช่น เหงื่อ ความอับชื้น การรักษาจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่อาจเป็นใหม่ได้อีกหากมีปัจจัยต่างๆ ที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคนี้

      โรคเท้าเหม็น (Pitted keratolysis / Keratolysis plantare sulcatum / Keratoma plantare sulcatum / Ringed keratolysis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากการต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชื้นเป็นระยะเวลานาน ส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อเท้าในส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก อย่างไรก็ดีอาจมีผลกับฝ่ามือได้เช่นกัน มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

      โรคเท้าเหม็นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด โดยชนิดที่พบมาก ได้แก่

  • Corynebacteria
  • Dermatophilus congolensis
  • Kytococcus sedentarius
  • Actinomyces
  • Streptomyces

      

แหล่งข้อมูล:

  1. ระวังโรคเท้าเหม็น! หมอผิวหนังเตือนโรคที่มากับการใส่รองเท้าบูต. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000084046 [2019, September 17].
  2. Pitted Keratolysis. https://www.healthline.com/health/pitted-keratolysis [2019, September 17].
  3. Pitted keratolysis. https://www.dermnetnz.org/topics/pitted-keratolysis/ [2019, September 17].
  4. Pitted keratolysis https://en.wikipedia.org/wiki/Pitted_keratolysis [2019, September 17].
  5. .