เท้าเหม็น (Pitted keratolysis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคเท้าเหม็น (Pitted keratolysis) เป็นโรคของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นนอก สุดของฝ่าเท้า ทำให้มีเท้าลอกและมีกลิ่นเหม็น พบได้บ่อยในผู้ที่ใส่รองเท้าหุ้มส้นเป็นเวลา นาน ทำให้มีความอับชื้น อันเอื้อให้เกิดสภาวะเหมาะสมต่อการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เมื่อ เปรียบเทียบกับโรคของผิวหนังที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะเท้าชื้นแฉะเช่นเดียวกันอีกโรคคือ โรค น้ำกัดเท้า ซึ่งมีข้อแตกต่างกันคือ

โรคเท้าเหม็นนั้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักไม่มีอาการคัน แต่มีเท้าลอก ผิวหนังดูชื้นแฉะ มีกลิ่นเหม็น และโรคเริ่มเกิดที่ฝ่าเท้าก่อน

ส่วนโรคน้ำกัดเท้านั้นเกิดจากเชื้อรา มักมีอาการคัน ผิวหนังลอกเป็นขุย และโรคมักเริ่มเกิดที่ซอกนิ้วเท้าก่อน

ดังนั้น การวินิจฉัยที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากทั้งสองโรคนี้มีเชื้อต้นเหตุต่างกัน จึงใช้ยาในการรักษาที่ต่างกัน

โรคเท้าเหม็นนั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเขตร้อนและเขตศูนย์สูตร ประมาณ 95% ของผู้ ป่วยเป็นเพศชาย เนื่องจากผู้ชายมักมีเหงื่อออกมากกว่าผู้หญิง

โรคเท้าเหม็นเกิดได้อย่างไร? มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?

เท้าเหม็น

โรคเท้าเหม็น เกิดจากแบคทีเรีย ชื่อ Micrococcus Sedentarius (เมื่อย้อมสีและตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ แบคทีเรียชนิดนี้จะมีรูปร่างกลม ย้อมติดสีม่วง และมีลักษณะอยู่เรียงกันเป็นสาย) ซึ่งพบอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเรา เช่น ในน้ำ ในดิน และในฝุ่นละออง นอก จากนั้นยังพบได้ที่ผิวหนังของเราและของสัตว์ต่างๆ ทั้งนี้ อาจเกิดจากแบคทีเรียชนิดอื่นได้ แต่พบว่าเป็นสาเหตุที่น้อยกว่า เช่น จากแบคทีเรีย Corynebacterium species

โรคเท้าเหม็นนี้พบได้บ่อยในผู้ที่สวมใส่รองเท้าหุ้มส้นเป็นเวลานาน เนื่องจากทำให้มี เหงื่อออกที่เท้ามาก เท้าอับชื้น ส่งผลให้ผิวหนังชั้นนอกสุดของฝ่าเท้า เปื่อยยุ่ย และมีค่าความ เป็นด่างสูงขึ้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งแบคทีเรียจะสร้างเอนไซม์ชื่อ Protease มาย่อยสลายผิวหนังส่วนนอกสุดของฝ่าเท้า เกิดเป็นหลุมเล็กๆจำนวนนับไม่ถ้วน หากมองด้วยแว่นขยาย

ส่วนกลิ่นเหม็นนั้น เกิดมาจากผลที่เกิดจากการย่อยผิวหนังที่ฝ่าเท้าของแบคทีเรีย ที่ส่ง ผลให้ได้สารในกลุ่มซัลเฟอร์ (Sulfur compound) ซึ่งเป็นสารให้กลิ่น

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้นั้น ประกอบด้วย 2 ปัจจัย คือ

  • เชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ที่เท้า ที่ถุงเท้า ที่รองเท้า
  • และ ภาวะที่เอื้อต่อการเจริญของแบคทีเรีย คือ การเปียก อับชื้นของเท้า

ดังนั้น การรักษาความสะอาดของเท้า ถุงเท้า รองเท้า และการลดการเปียกชื้นของเท้า จึงช่วยป้อง กันการเกิดโรคนี้ได้

โรคเท้าเหม็นมีอาการอย่างไร?

โดยปกติแล้วโรคเท้าเหม็นนั้น มักไม่มีอาการอื่น และไม่มีอาการที่อวัยวะอื่น นอกจากอา การที่เท้า จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคเท้าเหม็นจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะมาพบแพทย์ โดยอาการที่พบได้ที่เท้า มีดังนี้ คือ

  • ประมาณ 70% ของผู้ป่วยมาด้วยอาการฝ่าเท้าชื้น ลอก ทำให้ถุงเท้าติดกับผิวฝ่าเท้า
  • ประมาณ 90% มีกลิ่นเหม็นที่เท้า
  • ประมาณ 10% มีอาการคันเท้า

ทั้งนี้ ลักษณะของรอยโรค จะเห็นเป็น

  • รอยเปื่อยถลอกที่เท้า โดยเฉพาะฝ่าเท้า เวลาถอด ถุงเท้าออก จะรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า
  • รอยถลอกที่ฝ่าเท้าจะมีลายคล้ายแผนที่ หากส่องดู ด้วยแว่นขยายจะพบว่า
    • รอยถลอกเหล่านี้ประกอบไปด้วยหลุมเล็กๆความลึกประมาณ 0.5-0.7 มิลลิเมตร ปริมาณนับไม่ถ้วน ที่เกิดจากแบคทีเรียย่อยสลายผิวหนังฝ่าเท้าชั้นนอกสุด
  • รอยโรค นี้มักพบมากที่ฝ่าเท้าบริเวณที่รับน้ำหนักมาก เช่น ฝ่าเท้าส่วนนิ้วโป้ง ส้นเท้า แต่บริเวณง่ามนิ้ว เท้าที่ไม่ได้รับน้ำหนัก แต่มีความอับชื้นมาก ก็พบได้มากเช่นกัน

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

โรคเท้าเหม็นสามารถรักษาได้หาย จึงควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำที่ ถูกต้อง

แพทย์วินิจฉัยโรคเท้าเหม็นได้อย่างไร?

สำหรับการวินิจฉัยโรคเท้าเหม็นนี้ ไม่มีความจำเป็นในการตัดชื้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคได้จาก

  • การสอบถามประวัติอาการ ประว้ติทางการแพทย์อื่นๆ เช่น อาชีพ การงาน การสวมใส่รองเท้า
  • รวมกับการตรวจดูรอยโรคที่เท้า

แพทย์รักษาโรคเท้าเหม็นอย่างไร? ใช้เวลารักษานานเท่าไร?

เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ มี 2 ประการคือ เชื้อแบคทีเรีย และภาวะอับชื้นของเท้า การรักษาจึงต้องรักษาดูแลทั้ง 2 ปัจจัย

  • การรักษาแบคทีเรียนั้น ใช้เป็น
    • ยาฆ่าเชื้อ/ ยาปฏิชีวนะ ชนิดทา เช่น ยา Clindamycin ยา Erythromycin
    • และ/หรือ ยาทาที่ช่วยให้ผิวหนังลอกตัวเพื่อสร้างผิวหนังขึ้นใหม่และมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย เช่น ยา Benzoyl peroxide หรือ ยาที่เป็นแป้งผงฆ่าเชื้อ โดยทายา เช้า-เย็น จน กว่ารอยโรคจะหาย
    • ซึ่งขึ้นอยู่กับการหลีกเลี่ยงภาวะอับชื้นของเท้าด้วย
  • ส่วนการป้องกันภาวะอับชื้นนั้น ทำได้โดย
    • การลดเวลาในการใส่รองเท้าหุ้มส้นให้เหลือน้อยๆที่สุด หรืออาจโดยถอดรองเท้าบ่อยๆ
    • ใส่ถุงเท้าที่มีการระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย 100% แต่หากมีเหงื่อออกมาก ควรเปลี่ยนถุงเท้าระหว่างวัน เพื่อลดความอับชื้น
    • ใช้แป้งผง 20% Aluminium chloride โรยเท้าวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามแพทย์ผู้ รักษาแนะนำ หลังทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่ที่มียาฆ่าเชื้อเป็นส่วนผสม แล้วเช็ดเท้าให้แห้ง
    • หากยังมีเหงื่อออกมากอยู่ แพทย์อาจพิจารณารักษาอาการเหงื่อออกมากที่เท้า โดยใช้การฉีดยา Botulinum toxin ที่ฝ่าเท้า

อนึ่ง:

  • โดยทั่วไป ใช้เวลารักษาให้โรคหายประมาณ 2 อาทิตย์ ถึง 1 เดือน
  • เชื้อโรคนี้ มักเป็นเฉพาะที่เท้า ไม่ลุกลามไปย้งอวัยวะอื่น เช่น มือ หรือ ผิวหนังส่วนอื่นๆ
  • โรคนี้ไม่ติดต่อไปสู่ผู้อื่น

โรคเท้าเหม็นก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคเท้าเหม็น มักไม่มีอาการ มีไม่มากที่ทำให้เกิดอาการคันหรือเจ็บที่ฝ่าเท้า ปัญหา หลักคือ กลิ่นและรอยโรคบนฝ่าเท้าที่ทำให้เกิดความรำคาญ และอาจมีปัญหาในการเข้าสังคมได้

โรคเท้าเหม็นมีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคเท้าเหม็น คือ

  • เป็นโรคที่ตอบสนองต่อการรักษาดี รักษาหายได้ภายใน 2-4 อาทิตย์
  • แต่ถ้าเท้ายังอับชื้น โรคก็มักเกิดเป็นซ้ำได้เสมอ ดังนั้น อัตราการกลับเป็นซ้ำ จึงขึ้นอยู่กับ
    • การหลีก เลี่ยงภาวะอับชื้นของฝ่าเท้า
    • และการทำความสะอาด รองเท้า ถุงเท้า
  • เพราะหากเมื่อใดมีองค์ประกอบการเกิดโรคครบ 2 ประการคือ เชื้อแบคทีเรีย และความอับชื้น ก็สามารถกลับเป็นโรคซ้ำได้อีก

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเท้าเหม็น ที่สำคัญ คือ

  • หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เกิดการอับชื้นที่ เท้า ฝ่าเท้า
  • ทำความสะอาดเท้าทุกวัน วันละ 2 ครั้งดังกล่าวในหัวข้อ การรักษา
  • ทำความสะอาดถุงเท้าด้วยผงซักฟอกหรือสบู่ที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อในน้ำร้อน ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส แล้วตากแดดให้แห้งสนิท
  • เปลี่ยนถุงเท้าบ่อยๆทุกครั้งที่เปียกชื้น (มีถุงเท้าสำรองติดตัวไปด้วยเสมอ)
  • สลับสวมรองเท้า ไม่สวมซ้ำเกิน 2 วัน ผึ่ง/ตากรองเท้าให้แห้งเสมอ และไม่ใช้รอง เท้าร่วมกับผู้อื่นๆ
  • ถ้าเป็นไปได้ สวมรองเท้าแตะที่เป็นชนิดสาน หรือ รองเท้าที่เปิดส้น และ/หรือ เปิดหัว
  • ตากรองเท้ากลางแจ้งในวันที่แดดออกจัด

เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อมีรอยโรคที่เท้า และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง 2-3 วัน ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนว่า สาเหตุเกิดจากอะไร

ส่วนเมื่อพบแพทย์แล้ว ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อการตรวจรอยโรคว่า เป็นรอยโรคจากสาเหตุใดแน่ และเพื่อทบทวนการใช้ยาในเรื่องขนาดยา และ/หรือ การปรับเปลี่ยนชนิดของยา ซึ่งควรพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ

  • หลังการรักษา หากแนวโน้มอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการคันมากขึ้น หรือ มีผื่นแดง เพิ่มขึ้น
  • ยังกังวลในอาการ

ป้องกันโรคเท้าเหม็นได้อย่างไร?

ป้องกันโรคเท้าเหม็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลีกเลี่ยง 2 ปัจจัยของการเกิดโรค คือ

ก. ป้องกันเท้าติดเชื้อแบคทีเรียด้วยการรักษาความสะอาด เท้า ถุงเท้า และรองเท้า และ

ข. เลี่ยงการอับชื้นของเท้า

ทั้งนี้ วิธีการในการป้องกัน เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวถึงแล้วในหัวข้อ การรักษา และหัวข้อ การดูแลตนเอง

บรรณานุกรม

  1. Klaus Wolff, Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; seven edition ; Mc Grawhill medical
  2. https://emedicine.medscape.com/article/1053078-overview#showall [2019,July20]
  3. http://www.ijdvl.com/article.asp?issn=0378-6323;year=2005;volume=71;issue=3;spage=213;epage=215;aulast=Singh [2019,July20]
  4. https://www.dermnetnz.org/topics/pitted-keratolysis/ [2019,July20]