เทอร์บูทาลีน (Terbutaline)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 ตุลาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- เทอร์บูทาลีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เทอร์บูทาลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เทอร์บูทาลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เทอร์บูทาลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เทอร์บูทาลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เทอร์บูทาลีนอย่างไร?
- เทอร์บูทาลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเทอร์บูทาลีนอย่างไร?
- เทอร์บูทาลีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหืด (Asthma)
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
บทนำ
ยาเทอร์บูทาลีน(Terbutaline หรือ Terbutaline sulfate) เป็นยากลุ่ม เบต้า2- อะดริเนอร์จิก อะโกนิสต์ (Beta2-adrenergic agonist) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการหอบหืดจากโรคหืด รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้มีทั้งชนิด ยารับประทาน ยาฉีด และยาพ่นปาก เมื่อตัวยานี้เข้าสู่ร่างกาย/กระแสเลือด จะมีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีน ได้ประมาณ 25% ตัวยานี้จะถูกทำลายที่ตับ และที่ผนังลำไส้ ยานี้ยังสามารถแทรกซึมผ่านรกตลอดจนเข้าในน้ำนมของมารดาได้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 16 – 20 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ข้อจำกัดบางประการของการใช้ยาเทอร์บูทาลีนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ อาทิ เช่น
- เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเทอร์บูทาลีน
- เป็นสตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร
- เป็นผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน โรคลมชัก และผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาเทอร์บูทาลีนทุกครั้ง
- ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาอื่นๆบางประเภทอยู่ก่อน จะต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)โดยเฉพาะยาประเภท MAOIs, TCAs, Beta-blockers, Insulin, และ ยาขับปัสสาวะ
ผู้ที่ได้รับยาเทอร์บูทาลีนอาจได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆจากยานี้ เช่น นอนไม่หลับ วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ กระสับกระส่าย เป็นต้น
*กรณีที่ได้รับยาเทอร์บูทาลีนเกินขนาด ให้สังเกตจาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก ปากแห้ง เป็นลม หัวใจ/ชีพจรเต้นเร็ว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง เป็นตะคริว กระสับกระส่าย เกิดอาการชัก ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ วิงเวียน อาเจียน ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ประโยชน์ทางคลินิกของยาเทอร์บูทาลีน นอกเหนือจากบรรเทาอาการหอบหืดแล้ว ทางการแพทย์ยังใช้ยานี้ระงับการหดรัดของมดลูกในสตรีตั้งครรภ์ ส่งผลช่วยชะลอการคลอดออก(การคลอดก่อนกำหนด)ได้ แต่ห้ามใช้ยานี้เป็นเวลานานกว่า 48 – 72 ชั่วโมง การสั่งจ่ายยานี้กับสตรีตั้งครรภ์จะต้องมีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ด้วยยาเทอร์บูทาลีนสามารถก่อให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)อย่างรุนแรง โดยสามารถกระตุ้นให้มารดามีหัวใจเต้นเร็ว น้ำตาลในเลือดสูง เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนกระทั่งอาจเสียชีวิตได้
ยาเทอร์บูทาลีนจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เทอร์บูทาลีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเทอร์บูทาลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาอาการหอบหืด จากโรคหืด
- บำบัดอาการหอบหืดที่เกิดแบบเฉียบพลันโดยจะใช้ในลักษณะยาพ่นปาก
- ใช้เป็นยาชะลอการคลอดก่อนกำหนด
เทอร์บูทาลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาเทอร์บูทาลีน มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดลมและที่ มดลูก ส่งผลทำให้อวัยวะดังกล่าวคลายตัวและลดการหดเกร็ง จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
เทอร์บูทาลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเทอร์บูทาลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาพ่นปาก ขนาด 0.2 มิลลิกรัม/การพ่น 1 ครั้ง
- ยาฉีด ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาน้ำชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Terbutaline sulfate 1.5 มิลลิกรัม +Glyceryl guaiacolate(Guaifenesin) 66.5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
เทอร์บูทาลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
บทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานของยาเทอร์บูทาลีนเฉพาะบางกรณี เช่น
ก.สำหรับบำบัดรักษาอาการหอบหืดจากโรคหืด:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยรับประทานยาห่างกัน 6 ชั่วโมง หากพบอาการข้างเคียงมาก แพทย์อาจลดขนาดรับประทานเป็น ครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม ขนาดรับประทานยาสูงสุดห้ามเกิน 15 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี: รับประทานยาขนาด 0.05 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่ง รับประทานเป็น 3 ครั้ง แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็นระยะๆ จนได้ขนาดรับประทานที่ 0.15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ขนาดรับประทานยาสูงสุด ห้ามเกิน 5 มิลลิกรัม/วัน
ข.สำหรับบำบัดอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน:
- ผู้ใหญ่: ใช้ยาพ่นปาก 2 ครั้งเมื่อมีอาการ โดยการพ่นแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 1 นาที สามารถพ่นยาได้ทุกๆ 4 – 6 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาซ้ำโดยไม่เว้นช่วงห่างกัน 4 – 6 ชั่วโมง ด้วยอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับยามากเกินขนาดซึ่งจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงตามมา
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีการแนะนำการใช้ยานี้ชนิดพ่นกับเด็ก เพราะเด็กอาจพ่นยาไม่เป็น ดังนั้น แพทย์จึงเป็นผู้พิจารณาการใช้เป็นรายผู้ป่วยไป
*อนึ่ง:
- การใช้ยานี้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ยังมีขนาดและวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาการเลือกใช้ยาได้เหมาะสมที่สุด
- ยานี้สามารถรับประทาน ก่อน หรือหลัง อาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเทอร์บูทาลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเทอร์บูทาลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาเทอร์บูทาลีนสามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยา/ใช้ยาเทอร์บูทาลีนบ่อยๆ หลายครั้ง สามารถก่อให้เกิดผลกระทบกับตัวผู้ป่วยได้ เช่น อาการหอบหืดไม่ทุเลาลง
เทอร์บูทาลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเทอร์บูทาลีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ หลอดเลือดเกิดการขยายตัวส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตอาจเพิ่มหรือลดลงก็ได้ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริว
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ
มีข้อควรระวังการใช้เทอร์บูทาลีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเทอร์บูทาลีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้เพื่อชะลอการคลอดในสตรีมีครรภ์ นานกว่า 48 – 72 ชั่วโมง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก โรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามียาอื่นใดที่ใช้อยู่ก่อนที่เข้ารับการรักษา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเทอร์บูทาลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เทอร์บูทาลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเทอร์บูทาลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอร์บูทาลีนร่วมกับการดมยาสลบ ด้วยเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย รวมถึงเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอร์บูทาลีนร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของยารักษาเบาหวานด้อยลง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอร์บูทาลีนร่วมกับยา Beta-agonist หรือยา Corticosteroid ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะ ปอดบวมน้ำ(Pulmonary edema)
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอร์บูทาลีนร่วมกับยากลุ่ม Beta-blockers ด้วยอาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยากลุ่ม Beta-blocker ดังกล่าวด้อยลง
ควรเก็บรักษาเทอร์บูทาลีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเทอร์บูทาลีนในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เทอร์บูทาลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเทอร์บูทาลีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Asmadon (แอสมาดอน) | Acdhon |
Asmaline (แอสมาลีน) | Polipharm |
Asthmasian (แอสมาเซียน) | Asian Pharm |
Asthmic (แอสมิค) | T.Man Pharm |
Asthnyl (แอสนิล) | Osoth Interlab |
Broncholine (บรอนโชลีน) | T.O. Chemicals |
Cofbron (คอฟบรอน) | MacroPhar |
Terbu Expectorant (เทอร์บู เอกซ์เปคโทแรนท์) | Community Pharm PCL |
Terbutaline Sulfate GPO (เทอร์บูทาลีน ซัลเฟต จีพีโอ) | GPO |
Terbutaline T.O. (เทอร์บูทาลีน ที.โอ.) | T. O. Chemicals |
Tolbin (ทอลบิน) | Unison |
Zarontin (ซารอนติน) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cdi/terbutaline.html [2016,Sept24]
- https://www.drugs.com/dosage/terbutaline.html [2016,Sept24]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/terbutaline/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Terbutaline [2016,Sept24]