เทคโนโลยีทางการแพทย์ ตอน การตรวจหลอดเลือดสมอง

เทคโนโลยีทางการแพทย์

โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาตเป็นโรคซึ่งคนส่วนใหญ่กลัวไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเองหรือคนในครอบครัว และพยายามหาทางไม่ให้เกิดโรคดังกล่าว ไม่ว่าการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การทานยาป้องกัน การควบคุมโรคประจำตัวที่มีอยู่ให้ดี เพื่อลดโอกาสการเกิดโรค นอกจากนี้ยังพยายามตรวจร่างกายด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ทราบว่าตนเองมีโอกาสเกิดโรคอัมพาตมากน้อยเพียงใด หรือไม่มีโอกาสเกิด เช่น การตรวจซีทีสแกนสมอง การตรวจเอมอาร์ไอสมอง ตรวจการแข็งตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย (ankle brachial index: ABI)

ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์การตรวจหลอดเลือดสมองว่าสามารถบอกได้ว่าใครมีโอกาสเกิดโรคอัมพาตได้ จึงยอมเสียเงินหลายพันบาทถึงหลายหมื่นบาท เพื่อตรวจหลอดเลือดสมอง ลองติดตามเรื่องนี้ดูครับแล้วท่านจะเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจหลอดเลือดสมองเป็นอย่างดี

การตรวจหลอดเลือดสมองสามารถทำได้ 3 วิธี คือ

  1. การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมอง (doppler ultrasound)
  2. การตรวจเอมอาร์ไอหลอดเลือดสมอง (magnetic resonance angiography)
  3. การตรวจซีทีสแกนหลอดเลือดสมอง (computerized tomo-angiography)

การตรวจสามารถบอกได้ว่าหลอดเลือดสมองส่วนที่อยู่นอกสมอง บริเวณคอ (extracranial part) และส่วนในโพรงกะโหลกศีรษะหรือในสมอง (intracranial part) การตรวจทั้ง 3 วิธีนั้น บอกได้ว่าหลอดเลือดสมองแต่ละตำแหน่งมีภาวะตีบแคบหรือไม่ตีบแคบ ผนังหลอดเลือดหนาตัวแค่ไหน ชั้นต่างๆ ของผนังหลอดเลือดเป็นอย่างไร มีภาวะโป่งพองของผนังหลอดเลือดหรือไม่ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติทั่วไปในการตรวจรักษาผู้ป่วย แพทย์ก็ไม่ได้ส่งตรวจในคนทุกคนเพื่อคัดกรองว่าใครมีโอกาสเกิดโรคอัมพาตหรือไม่ เนื่องจากปัจจัยการเกิดโรคหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความตีบแคบของหลอดเลือดสมองหรือการหนาตัวของผนังหลอดเลือดอย่างเดียว (การตรวจหลอดเลือดสมองไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่มีข้อมูลเพียงพอว่ามีความคุ้มค่าในการคัดกรองโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนทั่วไป และไม่อยู่ในแนวทางการตรวจสุขภาพประจำปี) แต่ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตที่ควบคุมไม่ได้ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ไขมันในเลือดสูง การเต้นของหัวใจไม่ปกติ การหลุดของลิ่มเลือดหัวใจหรือจากหลอดเลือดแดงไปอุดตันหลอดเลือดสมอง สูบบุหรี่ อ้วน ไม่ออกกำลังกาย อายุที่มากขึ้น เพศชาย ประวัติมีคนในครอบครัวเป็นอัมพาต

แพทย์จะส่งตรวจหลอดเลือดสมอง กรณีดังต่อไปนี้

  1. ผู้ป่วยเกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้วต้องการหาสาเหตุที่แน่ชัด กรณีที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน หรือตำแหน่งของหลอดเลือดที่ผิดปกติ เพื่อหาทางรักษาหรือป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำอีก
  2. ผู้ป่วยมีอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาตชั่วคราว (TIA: transient ischemic attack) เพื่อตรวจหาสาเหตุและหาวิธีการรักษาจะได้ไม่เกิดซ้ำ
  3. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มารับการตรวจหลอดเลือดหัวใจก็จะตรวจหลอดเลือดสมองร่วมด้วย

สิ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันคือ การตรวจเช็คสุขภาพที่รวมการตรวจหลอดเลือดสมองด้วย เมื่อผลการตรวจพบความผิดปกติเล็กน้อยก็เกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดโรคอัมพาต ซึ่งจริงแล้วการตรวจเช็คสุขภาพก็เพื่อความตะหนักว่าเรามีสุขภาพแข็งแรงปกติหรือไม่ การวิตกกังวลมากเกินไปแล้วพยายามหายาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาทาน โดยหวังว่าจะลดโอกาสการเกิดโรคอัมพาตหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่พบว่าการตรวจหลอดเลือดสมองในคนทั่วไปที่มารับการตรวจสุขภาพมีความคุ้มค่า ดังนั้นการตรวจหลอดเลือดสมองจึงควรตรวจเฉพาะเมื่อแพทย์ส่งตรวจตามข้อบ่งชี้เท่านั้น