เด็กซ์เมเดโทมิดีน (Dexmedetomidine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 กันยายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เด็กซ์เมเดโทมิดีนอย่างไร?
- เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเด็กซ์เมเดโทมิดีนอย่างไร?
- เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอลฟา2-อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Alpha2-adrenergic receptor agonist)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
- ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)
บทนำ
ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน(Dexmedetomidine หรือ Dexmedetomidine hydrochloride หรือ Dexmedetomidine HCl) เป็นยาประเภท Alpha2-adrenergic receptor agonist /Alpha 2 adrenergic agonist มีฤทธิ์ทำให้สงบประสาท/ยาคลายเครียด ลดความวิตกกังวล และช่วยบรรเทาอาการปวด ข้อดีของยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน คือยาชนิดนี้ไม่กดการทำงานของระบบการหายใจมากเท่ากับยาสลบหรือยาแก้ปวดตัวอื่นๆ เช่น Propofol, Fentanyl, Midazolam
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน คือยาฉีด แบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ ตับจะคอยทำลายตัวยานี้ในกระแสเลือดให้กลายเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน ถูกนำไปใช้ในหน่วยงานของสถานพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยหนักอย่างเช่น ห้องไอซียู (ICU/Intensive care unit) หรือใช้สงบประสาทกับผู้ป่วยที่ต้องสอดกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รวมถึงการนำท่อหายใจสอดใส่เข้าออกจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย โดยตัวยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนจะช่วยลดอาการเจ็บปวดระหว่างการทำหัตถการทางการแพทย์ดังกล่าว
สิ่งสำคัญที่แพทย์ต้องทราบก่อนจะใช้ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน คือ ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้หรือไม่ กรณีเป็นสตรีต้องไม่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ โรคประจำ ตัวบางประเภท ก็อาจได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาชนิดนี้ อาทิ โรคตับ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
การให้ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนกับผู้ป่วย แพทย์จะกำหนดอัตราการให้ยาเข้าทางหลอดเลือดดำ ตลอดจนคำนวณระยะเวลาในการออกฤทธิ์กับผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยที่ได้รับยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนจะรู้สึกผ่อนคลาย เคลิ้มหลับ และ ไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ระหว่างที่ได้รับยานี้ แพทย์ พยาบาล จะคอยควบคุมสัญญาณชีพ เช่น ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และระดับออกซิเจนในร่างกายให้เป็นปกติตลอดเวลา
*ผู้ป่วยที่ได้รับยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนเกินขนาด จะพบว่าสัญญาณชีพผิดปกติไป เช่น หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ หัวใจหยุดเต้น การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด แพทย์จะบำบัดตามอาการจนร่างกายของผู้ป่วยฟื้นสภาพกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องใช้ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน แพทย์จะพิจารณาลดขนาดการใช้ยาลง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาที่อาจเกิดขึ้นนั่นเอง
การเตรียมยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน เพื่อหยดเข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วย จะ เจือจางตัวยานี้ด้วยตัวทำละลายตัวใดตัวหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- 0.9% Sodium chloride หรือ
- 5% Dextrose หรือ
- 20% Mannitol หรือ
- Lactated Ringer’s solution หรือ
- 100 mg/mL Magnesium sulfate solution หรือ
- 0.3% Potassium chloride solution หรือ
นอกจากนี้ ยังห้ามนำยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน ผสมรวมกับยา Amphotericin B หรือ Diazepam เพื่อหยดเข้าหลอดเลือดำของผู้ป่วยในครั้งเดียวกัน เพราะจะเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยา และการไม่เข้ากันของตัวยา จนทำให้ประสิทธิผลในการรักษาของตัวยาเหล่านี้ด้อยลง หรืออาจเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับผู้ป่วยจากยาเหล่านี้ได้
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนเป็น ยาอันตราย ที่ต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ และเราจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งในท้องตลาด ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน ถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Precedex”
เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ โดยใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด ทำให้เคลิ้มหลับเป็นระยะเวลาสั้นๆ ช่วยลดอาการเจ็บปวดระหว่างการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การสอดท่อช่วยหายใจ การส่องกล้องเพื่อตรวจดูความผิด ปกติของลำไส้
เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนเป็นยาประเภท Alpha2-adrenergic agonist มีกลไกออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าจับกับ ตัวรับ(Receptor)ได้ 3 ชนิด ได้แก่ Alpha2A, Alpha2B และ Alpha2C receptor ซึ่งพบได้ใน สมอง หัวใจ ระบบประสาทส่วนปลาย และระบบประสาทอัตโนมัติ การออกฤทธิ์ที่สมองจะทำให้เกิดภาวะสงบประสาท การออกฤทธิ์ที่ไขสันหลังจะทำให้ระงับอาการปวด และการออกฤทธิ์ที่หัวใจ จะทำให้หัวใจเต้นช้าลง ด้วยกลไกดังกล่าว จึงทำให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาได้ตามสรรพคุณ
เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีด ที่มีส่วนประกอบของตัวยา Dexmedetomidine HCl 200 ไมโครกรัม/2 มิลลิลิตร
เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา สำหรับเป็นยาสงบประสาท และ/หรือ ระงับอาการปวด เช่น
- ผู้ใหญ่: ให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 0.7 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาตามการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยที่ขนาด 0.2–1.4 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- หลังการให้ยานี้กับผู้ป่วย 5–10 นาที ตัวยาก็จะเริ่มออกฤทธิ์
- ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ของยานี้อยู่ที่ประมาณ 60–120 นาที
- วัตถุประสงค์การใช้ยานี้เพื่อใช้ทำหัตถการกับผู้ป่วยเพียงระยะเวลาสั้นๆ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การส่องกล้องเข้าทางทวารหนัก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
การใช้ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน จะกระทำในสถานพยาบาลเท่านั้น โอกาสที่ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการฉีดยาจึงเป็นไปได้น้อยมาก
เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง ปากแห้ง อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เส้นประสาทอักเสบ พูดจาไม่ชัดเจน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจช้า ปอดบวม
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง แคลเซียมในเลือดต่ำ โปแตสเซียมในเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดจาง
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือสูง หัวใจเต้นช้าหรือหัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อไต: เช่น ไตวายเฉียบพลัน ปัสสาวะน้อยลง มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ประสาทหลอน
- ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
มีข้อควรระวังการใช้เด็กซ์เมเดโทมิดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีฝุ่นผงในยา
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ทั้งก่อนและหลังได้รับยาชนิดนี้อย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนร่วมกับยา Propoxyphene เพราะจะทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน การครองสติทำได้ยากตามมา
- ห้ามใช้ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนร่วมกับยา Buprenorphrine(ยาแก้ปวด) ด้วยจะทำให้เกิดภาวะกดสมอง และอาจเป็นเหตุให้การหายใจขัดข้อง/หายใจล้มเหลว มีภาวะโคม่าจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ห้ามใช้ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนร่วมกับยา Sodium oxybate เพราะจะทำให้กด การหายใจ ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม ตลอดจนเข้าขั้นโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด
- ห้ามใช้ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีนร่วมกับยา Tizanidine ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำตามมา
ควรเก็บรักษาเด็กซ์เมเดโทมิดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เด็กซ์เมเดโทมิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเด็กซ์เมเดโทมิดีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Precedex (พรีซีเด็กซ์) | Hospira |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Dexem, Dextomid
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/mtm/dexmedetomidine.html[2017,Sept9]
- https://www.drugs.com/dosage/dexmedetomidine.html [2017,Sept9]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/dexmedetomidine,precedex-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Sept9]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/precedex/?type=brief[2017,Sept9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dexmedetomidine[2017,Sept9]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4173414/[2017,Sept9]