ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์ (Ovarian dermoid cyst)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ถุงน้ำรังไข่ชนิดเดอร์มอยด์คืออะไร?

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ (Ovarian dermoid cyst) เป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดหนึ่งเรียกว่า ‘เดอร์มอยด์ซีสต์ (Dermoid cyst) หรือ ถุงน้ำรังไข่เทอราโตมา (Mature cystic teratoma)’ ลักษณะภายในถุงน้ำประกอบด้วย เนื้อเยื่อไขมัน เส้นผม ฟัน และ/หรือกระดูกอ่อน

อุบัติการณ์พบถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ ได้ประมาณ 20 - 25 % ของเนื้องอกรังไข่ทั้งหมด โดยพบบ่อยในช่วงอายุ 10 - 30 ปี

อะไรคือสาเหตุของถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์?

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/ /เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ เกิดจากการที่มีเซลล์ที่มีความสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆได้ (Totipotential cell) มาอยู่ที่บริเวณรังไข่ตั้งแต่แรกเกิด แล้วมีการพัฒนาหรือถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยบางอย่างที่ยังไม่ทราบ ให้เจริญไปเป็นเซลล์ไขมัน เส้นผม กระดูกอ่อน จนเกิดเป็นถุงน้ำที่รังไข่ที่เรียกว่า ‘Dermoid cyst’

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์มีอาการอย่างไร?

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/ เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ มีอาการดังนี้

1. อาการปวดหน่วงๆในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน

2. คลำก้อนได้ในท้องน้อย

3. ปวดท้องเฉียบพลันซึ่งมักเกิดจากมีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของโรคนี้ เช่น เกิดการบิดขั้ว (Twisted ovarian cyst), หรือมีการแตกของถุงน้ำ (Ruptured ovarian cyst), หรือมีการติดเชื้อในถุงน้ำ, ซึ่งเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ทำให้ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดด่วน

4. ไม่มีอาการใดๆ แต่ตรวจพบโดยบังเอิญ มักเป็นกรณีถุงน้ำยังมีขนาดเล็ก

ควรพบแพทย์เมื่อใหร่?

โรคนี้ต้องรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งหากมีอาการปวดท้อง/ปวดท้องน้อยเฉียบพลันแสดงว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการบิดขั้วของถุงน้ำ,หรือมีการแตกของถุงน้ำ, ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันทีเพราะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดด่วน

นอกจากนั้น เมื่อคลำพบก้อนเนื้อในช่องท้อง/ในช่องท้องน้อยต้องรีบพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/ เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ได้จาก

  • ประวัติทางการแพทย์: ที่สำคัญคือ มีอาการปวดท้องที่บริเวณท้องน้อย ปวดหน่วงๆ หรืออาจไม่มีอาการ หากมีภาวะแทรกซ้อนจะปวดท้องน้อยอย่างมากด้านใดด้านหนึ่ง (ด้านมีถุงน้ำฯ) หรือปวดทั่วๆท้องอย่างเฉียบพลัน
  • การตรวจร่างกาย: บางครั้งสามารถคลำก้อนได้ทางหน้าท้องถ้าก้อนมีขนาดใหญ่ กดเจ็บที่ก้อน หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การบิดขั้วของรังไข่ จะกดเจ็บมากและตรวจพบการเกร็งของผนังหน้าท้อง
  • การตรวจภายใน: หากเป็นถุงน้ำขนาดใหญ่จะตรวจคลำพบจากการตรวจภายใน แต่หากเป็นถุงน้ำขนาดเล็กจะตรวจคลำไม่พบ
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: การตรวจที่เป็นประโยชน์มากที่สุดคือการตรวจท้องน้อยหรือช่องท้องด้วยอัลตราซาวด์ ซึ่งถุงน้ำนี้จะมีลักษณะเฉพาะที่ทำให้แพทย์ให้การวินิจฉัย โรคได้อย่างแม่นยำ

รักษาถุงน้ำรังไข่ดอร์มอยด์อย่างไร?

การรักษาถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/ เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ ต้องเป็นการผ่าตัด ไม่สามารถใช้การรับประทานยาหรือฉีดยาได้ สำหรับการผ่าตัดนั้นแพทย์จะพิจารณาจากอายุผู้ป่วยและความต้องการมีบุตร

  • หากอายุน้อยและถุงน้ำขนาดเล็ก มักทำการผ่าตัดเลาะเอาเฉพาะถุงน้ำออก (Ovarian cystectomy) และเก็บเนื้อรังไข่ที่เหลือไว้ผลิตฮอร์โมน
  • แต่หากถุงน้ำฯมีขนาดใหญ่หรือมีบุตรพอแล้วหรืออายุมากแล้ว อาจตัดรังไข่ข้างนั้นทิ้งไปเลย (Oophorectomy)

ทั้งนี้การผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดผ่านกล้องวีดิทัศน์ หรือผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง

ภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์มีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/ เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ ที่อาจพบได้คือ

1. ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอด์บิดขั้ว(รังไข่บิดขั้ว): ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างอย่างเฉียบพลัน มักต้องรักษาโดยการผ่าตัด

2. ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์แตก: ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างเฉียบพลันมักต้องรักษาโดยการผ่าตัด

3. มีการติดเชื้อในถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์: ที่มักทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยด้านมีถุงน้ำต่อเนื่อง อาจร่วมกับมีไข้ การรักษาคือการผ่าตัดรังไข่ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์กลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?

ส่วนมากถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/ เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง/ไม่ใช่มะเร็ง โอกาสที่จะกลาย เป็นมะเร็งพบได้ประมาณ 0.2 - 2 %

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/ เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ชนิดไม่ใช่มะเร็งมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หายด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีการเดียว

แต่หากเป็นชนิดที่เป็นมะเร็ง การพยากรณ์โรคเช่นเดียวกับในมะเร็งรังไข่ โดยจะขึ้นกับปัจจัยสำคัญคือ ระยะของโรค

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์?

เมื่อเป็นถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/ เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมมาก เนื่องจากกลัวเกิดภาวะ แทรกซ้อน เช่น การบิดขั้วของถุงน้ำรังไข่

แต่ภายหลังการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว การดูแลตนเองคือปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ ซึ่งโดยทั่วไปคือการดูแลตนเองตามปกติ ไม่มีข้อจำกัดเป็นกรณีเฉพาะ

สามารถป้องกันถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์ได้หรือไม่?

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ ไม่สามารถป้องกันการเกิดได้

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์สามารถเป็นซ้ำอีกได้หรือไม่?

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/เดอร์มอยด์ซีสต์ รังไข่ ทั่วไปมักพบข้างเดียว โอกาสเกิดเท่ากันทั้งรังไข่ซ้ายหรือขวา แต่สามารถพบได้ที่รังไข่ทั้ง 2 ข้างซึ่งพบได้ประมาณ 15% และในบางครั้งการผ่าตัดครั้งแรกที่เลาะเฉพาะถุงน้ำรังไข่ข้างหนึ่งออก และอาจมองไม่เห็นถุงน้ำในรังไข่อีกข้างที่มีขนาดเล็ก หรืออาจเลาะเอาถุงน้ำฯออกไม่หมด ทำให้พบว่าถุงน้ำชนิดนี้เกิดซ้ำได้

ผู้เป็นถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์ตั้งครรภ์ได้หรือไม่?

หากพบถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/ เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ ก่อนตั้งครรภ์ ควรผ่าตัดรักษาก่อน แต่หากตั้งครรภ์ไปแล้วจึงทราบว่ามีถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์ แพทย์จะให้ตั้งครรภ์ต่อไปและจะพิจารณาผ่าตัดเลาะถุงน้ำตอนอายุครรภ์ประมาณ 14 - 16 สัปดาห์ แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น มีการบิดขั้วหรือแตกของถุงน้ำแล้วมีอาการปวดท้องเฉียบพลัน แพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดรักษาด่วน

ทารกจากมารดาเป็นถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์จะผิดปกติหรือไม่?

ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์/ เดอร์มอยด์ซีสต์รังไข่ ไม่มีผลต่อการพัฒนาการทางด้านสมองหรือด้านร่างกายของทารก

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/281850-overview#showall [2020,July4]
  2. https://emedicine.medscape.com/article/1112963-overview#showall [2020,July4]
  3. https://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=2960 [2020,July4]
  4. https://radiopaedia.org/articles/mature-cystic-ovarian-teratoma-1 [2020,July4]