เดสออกซิเมทาโซน (Desoximetasone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 เมษายน 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เดสออกซิเมทาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เดสออกซิเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เดสออกซิเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เดสออกซิเมทาโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เดสออกซิเมทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เดสออกซิเมทาโซนอย่างไร?
- เดสออกซิเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเดสออกซิเมทาโซนอย่างไร?
- เดสออกซิเมทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- ฟรามัยเซติน (Framycetin)
- แกรมิซิดิน (Gramicidin)
บทนำ:คือยาอะไร?
เดสออกซิเมทาโซน (Desoximetasone) คือ ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Cortico steroid) ที่นำมาใช้เป็นยาใช้ภายนอกเพื่อใช้เฉพาะที่ สามารถรักษาอาการโรคผิวหนังที่มีลักษณะเป็น ผื่นคัน ระคายเคือง บวมแดง เป็นต้น, รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาครีมที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันไป บางสูตรตำรับได้ผสมตัวยาปฏิชีวนะ เช่นยา Framycetin และ Gramicidin
ถึงแม้จะเป็นยาทาภายนอกก็จริง แต่ยาเดสออกซิเมทาโซนสามารถดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดได้ โดยเฉพาะการดูดซึมผ่านผิวหนังของเด็กจะรวดเร็วกว่าการดูดซึมผ่านผิว หนังของผู้ใหญ่ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบต่างๆของร่างกายได้ *ดังนั้นในทางคลินิกจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทายาเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงการใช้ยาเป็นเวลานานจนเกินไป
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาเดสออกซิเมทาโซนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุการใช้เป็นยาครีมทาภายนอก ทั่วไปยาทาชนิดนี้จะมีความแรงสูงถึงสูงมาก โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ ดังนั้นการใช้ยานี้ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
เดสออกซิเมทาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเดสออกซิเมทาโซนมี สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาและบรรเทาการอักเสบผื่นคันของผิวหนัง เช่น ในโรคผื่นผิวหนังอักเสบ, โรคสะเก็ดเงิน
เดสออกซิเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเดสออกซิเมทาโซน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ลดการอักเสบของผิวหนังบริเวณที่มีการทายา รวมถึงออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ด้วยการออกฤทธิ์ดังกล่าว จึงส่งผลให้ยานี้มีประสิทธิภาพลดอาการแพ้ผื่นคันต่างๆของผิวหนังได้
เดสออกซิเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเดสออกซิเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาครีม ขนาดความเข้มข้น 2.5 และ 0.5 มิลลิกรัม/เนื้อครีม 1 กรัม
- ยาครีมทาผิวหนัง ที่มีส่วนประกอบร่วมกับยาอื่นเช่น Desoximetasone 0.25% + Framycetin sulfate 0.75% + Gramicidin 0.025%
- ยาเจล ขนาดความเข้มข้น 0.5 มิลลิกรัม/เนื้อเจล 1 กรัม
- ยาขี้ผึ้ง ขนาดความเข้มข้น 2.5 มิลลิกรัม/ขี้ผึ้ง 1 กรัม
เดสออกซิเมทาโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเดสออกซิเมทาโซนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา:
- ผู้ใหญ่: เช่น ทายาบางๆในบริเวณที่มีการอักเสบวันละ 2 ครั้ง
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเดสออกซิเมทาโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเดสออกซิเมทาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาเดสออกซิเมทาโซน สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
เดสออกซิเมทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเดสออกซิเมทาโซนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีสิวเกิดขึ้นทั่วตัวรวมถึงใบหน้า
- ในตำแหน่งที่ทายา อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อน คัน ระคายเคือง ผิวแห้ง เกิดอาการปริแตกของผิวหนัง
- ทำให้สีผิวซีดจาง
- เกิดการติดเชื้อของบริเวณที่ทายา ผิวบาง ผด ผื่นคัน
- หากมีการดูดซึมยาเข้ากระแสเลือดอาจก่อให้เกิด
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้ปัสสาวะมีน้ำตาลปนออกมา
- รวมถึงเกิดกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome)
มีข้อควรระวังการใช้เดสออกซิเมทาโซนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเดสออกซิเมทาโซน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามให้ยาเข้าตาและช่องปาก
- ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์
- ห้ามใช้รักษาภาวะร่างกายติดโรคติดเชื้อไวรัส เช่น เริม หรือ โรคเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย ด้วยจะทำให้อาการโรคเหล่านั้นรุนแรงมากขึ้น
- ห้ามทายาในบริเวณที่มีแผลเปิด
- ระวังการใช้ยากับ เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยานี้มีผลต่อระบบต่างๆของร่างกาย เช่น ลดการเจริญเติบโตในเด็ก รวมถึงซึมผ่านเข้าในน้ำนมมารดาได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเดสออกซิเมทาโซน) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เดสออกซิเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากยาเดสออกซิเมทาโซนเป็นยาทาเฉพาะที่และเป็นยาใช้ภายนอก จึงไม่ค่อยพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษาเดสออกซิเมทาโซนอย่างไร?
ควรเก็บยาเดสออกซิเมทาโซน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เดสออกซิเมทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเดสออกซิเมทาโซน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dermacorte (เดอร์มาคอร์ท) | Chinta |
Esperson (เอสเพอร์ซัน) | sanofi-aventis |
Teracorte (เทอราคอร์ท) | MacroPhar |
Topicorte (ทอปิคอร์ท) | sanofi-aventis |
Topifram (ทอปิฟราม) | sanofi-aventis |
Topoxy (ทอพ็อกซี่) | Sriprasit Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Desoximetasone [2023,April 29]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1A&rcno=4000665&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2023,April 29]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/desoximetasone?mtype=generic [2023,April 29]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/desoximetasone/patientmedicine/desoximetasone%2B-%2Btopical%252fcutaneous [2023,April 29]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/desoximetasone-topical-index.html?filter=1&generic_only= [2023,April 29]