เดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน ตอนที่ 4
- โดย ศ. คลินิก พญ. ศิราภรณ์ สวัสดิวร และ พว.ศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ
- 25 กุมภาพันธ์ 2567
- Tweet
เดย์แคร์นมแม่คุณภาพ ต้องมีการดำเนินการอะไร
ควรมีการดำเนินการ ดังนี้
- การดำเนินการให้เกิดต้นทุนสุขภาวะที่ดี สำหรับทารกและเด็กเล็ก ต้นทุนสุขภาวะที่สำคัญคือต้นทุนด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิตและพัฒนาการ ซึ่งจะได้จากขบวนการให้อาหารและการเลี้ยงดูที่ดี เริ่มจากการส่งเสริมให้เด็กได้รับนมแม่ โดยให้มีการเตรียมแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ เช่น การรับประทานอาหาร ออกกำลัง เตรียม เต้านม การดูแลสุขภาพจิตที่ดี ฯลฯ เมื่อแรกคลอด เน้นให้ลูกได้ดูดกระตุ้นเต้านมภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังเกิดและให้ได้รับการโอบกอดแบบเนื้อแนบเนื้ออย่างจริงจัง นมแม่เป็นทั้งขบวนการการให้อาหารและการเลี้ยงดู (Duo) สารอาหารในนมแม่มีประโยชน์ที่เป็นจุดเด่นที่นมหรืออาหารอื่นไม่สามารถแทนได้ คือประเด็น ภูมิคุ้มกันที่ในนมแม่มี ทั้งระดับเซลล์ สารคัดหลั่งและสารชีวภาพต่างๆ จึงช่วยลดปัญหาการติดเชื้อ ช่วยการเจริญเติบโตอวัยวะต่างๆ ได้ ในระยะ 10-20 ปีมานี้ มีองค์ความรู้สนับสนุน จุดเด่นของนมแม่ที่เพิ่มเติม อาทิ สาร Human Milk Oligosaccharides (Nutrition Reviews; 72(6):377-389) ตัวช่วยใป้องกันการติดเชื้อทั้งทางเดินอาหารทางเดินหายใจ และการช่วยให้การทำงานของเยื่อบุต่างๆ ให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์
|
- น้ำนมแม่มีสาร HMOs จำนวนมากกว่า 100 ชนิด มีปริมาณมากเมื่อเทียบกับในนมวัวที่มีเพียงน้อยนิด (8% VS < 0.1%) แม้ในนมผสมที่มีการเติมสาร Oligosaccharides ก็เติมได้เพียงเล็กน้อยไม่กี่ชนิด ในระยะ 5-10 ปีนี้ การศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ สุขภาพ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีผลต่อการเกิดความอุดมสมบูรณ์ของจุลินทรีย์สุขภาพ ซึ่งมีมากในระบบทางเดินอาหาร - Gut Microbiome การทำงานจุลินทรีย์กลุ่มนี้ มีผลต่อสุขภาพที่ดีทั้งระยะสั้นและระยะยาวของลูก โครงการ CHILD STUDY ของ ประเทศแคนาดา พบว่าการเสียสมดุลของไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อปัญหาสุขภาพ เช่น น้ำหนักเกิน หอบหืด เบาหวาน ภูมิแพ้และปัญหาพฤติกรรมต่างๆ (ตามตาราง) และจุลินทรีย์เหล่านี้ ยังมีบทบาทช่วยในการดูดซึมอาหาร สร้างวิตามิน กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และช่วยระบบเมตาโบลิซึมการเผาผลาญอาหารต่างๆ นมแม่เป็นอาหารชั้นดีของจุลินทรีย์สุขภาพ และตัวนมแม่ก็มีจุลินทรีย์สุขภาพ การคลอดปกติ การดูดนมจากเต้า ช่วยส่งเสริมให้จุลินทรีย์สุขภาพจะเข้าไปฝังในลำไส้ทารก และมีกลไกสื่อสารกับระบบการอักเสบกับอวัยวะต่างๆ รวมทั้งสมอง ลดปัญหา NCDs ดังกล่าวข้างต้น มีรวมนำเสนอในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 7 เดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา และมีข้อมูลการศึกษาล่าสุด (July 11, 2023) ในวารสาร Neuroscience เรื่อง Breast Milk Component Boosts Infant Brain Connectivity นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Yale พบว่าสาร “Myo-inositol” ซึ่งเป็นสาร Bioactive ในน้ำนมแม่ มีผลกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อ (Synapses) เส้นใยประสาท จะมีมากในระยะเริ่มต้นน้ำนมแม่คือสัปดาห์แรกและขึ้นกับอาหารที่แม่ได้รับ นับเป็นการค้นพบที่สำคัญ ในการเสริมความสำคัญประโยชน์นมแม่ในการสร้างโครงสร้างสมอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรองรับการปลูกฝังการเรียนรู้ของเด็กต่อไป
จะเห็นว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นขบวนการธรรมชาติที่ส่งเสริมให้ลูกมีสุขภาพดีจากตัวน้ำนมแม่ และมีสุขภาวะดีจากการเลี้ยงดูของแม่ที่อยู่ใกล้ชิด ในวัยนี้แม่หรือผู้เลี้ยงดูจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดในการที่จะทำให้เด็กเกิดผลลัพธ์ของการมีสุขภาวะ ถ้าพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเข้าใจและมีทักษะในการเลี้ยงดูที่สร้างให้เด็กเกิดความรู้สึก เชื่อใจ (Trust) และมีการพัฒนาตัวตน (Self) ตามแผนภาพปิรามิด ทั้งขบวนการสร้าง Trust และ Self ที่แข็งแรง เป็นต้นทุนให้เด็กเกิดความรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นคงทางจิตใจ (Safe & security) เป็นหัวใจของการพัฒนาต่อยอดพัฒนาการในลำดับต่อๆ ไป ส่งผลกลับสู่การมีสุขภาวะที่ดี
อนึ่งขบวนการให้อาหารคุณภาพ นอกจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังหมายรวมถึงการได้รับอาหารตามวัยอย่างถูกต้อง และการได้รับการปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพเพื่อป้องกันกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs-Non Communicable Diseases) เช่น การไม่ปฏิเสธผัก เป็นต้น