เดงกีฟีเวอร์ (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

เดงกีฟีเวอร์

บางครั้งที่มีอาการอย่างอ่อน อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคหวัดหรือติดเชื้อไวรัสอื่น เด็กเล็กและคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนจะมีอาการเบากว่าเด็กโตและผู้ใหญ่ อาการหากรุนแรงขึ้นจะทำให้เลือดออกมาก ช็อก และเสียชีวิตได้ ซึ่งเรียกว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกเดงกีที่ช็อก (Dengue shock syndrome = DSS)

คนที่มีระบบภูมิต้านทานต่ำหรือคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วจะมีความเสี่ยงของโรคที่รุนแรงขึ้นกว่าปกติ ส่วนการวินิจฉัยโรคนั้น สามารถทำได้ด้วยการตรวจเลือด

ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง เป็นการรักษาไปตามอาการ ยาที่ใช้เป็นยาแก้ปวดคือ ยา (Acetaminophen) โดยให้หลีกเลี่ยงการใช้ยา Aspirin (Acetylsalicylic acid) และยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs = NSAIDs) เช่น ยา Ibuprofen

นอกจากนี้ให้พักผ่อน ดื่มน้ำให้มาก หากรู้สึกอาการแย่ลงใน 24 ชั่วโมง หลังเป็นไข้ ให้รีบไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อตรวจดูอาการแทรกซ้อนอื่นๆ

หากอาการรุนแรง แพทย์อาจทำการรักษาโดย

  • การถ่ายเลือด เพื่อแก้ปัญหาเลือดไหล (Bleeding)
  • การให้สารทางหลอดเลือด เพื่อแก้ปัญหาการไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte imbalances)
  • การให้ออกซิเจนเพื่อรักษาระดับออกซิเจนในเลือดให้ปกติ
  • การให้ของเหลวทางหลอดเลือดเพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดน้ำ (Dehydration)

ทั้งนี้ อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • โรคสมอง (Brain disease)
  • ตับถูกทำลาย (Liver damage)
  • ชัก (Seizures)
  • ช็อก (Shock)

และเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออก ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดย

  • ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่มีน้ำขัง เช่น กระป๋อง กะละมัง
  • ใช้ยากันยุง (Mosquito repellents)
  • สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว เมื่อออกนอกบ้าน
  • นอนในห้องที่มีมุ้งลวดหรือมุ้ง

แหล่งข้อมูล

1. Dengue Fever. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/dengue-fever-reference[2015, October 22].

2. Dengue hemorrhagic fever. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001373.htm [2015, October 22].

3. Dengue. http://wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2016/infectious-diseases-related-to-travel/dengue[2015, October 22].