เซไตรโมเนียม โบรไมด์ (Cetrimonium bromide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 กรกฎาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซไตรโมเนียม โบรไมด์อย่างไร?
- เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซไตรโมเนียม โบรไมด์อย่างไร?
- เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
บทนำ
ยาเซไตรโมเนียมโบรไมด์ (Cetrimonium bromide หรือ Cetrimonium Br หรือ Cetyltrimethylammonium bromide ย่อว่า CTAB หรือ Hexadecyltrimethylammonium bromide)ในทางเคมีจัดเป็นสารลดแรงตึงผิว (Quaternary ammonium surfactant) ทางเภสัชกรรมได้นำยาเซไตรโมเนียม โบรไมด์มาผสมกับสารลดแรงตึงผิวชนิดอื่นจนกระทั่งได้สูตรตำรับที่มีฤทธิ์ต่อต้านและทำลายเชื้อโรคอย่างแบคทีเรียรวมถึงเชื้อรา โดยมีรูปแบบยาทาภายนอกซึ่งมีทั้งลักษณะเป็นสารละลายหรือยาครีม เราอาจเรียกสูตรตำรับของยาเซไตรโมเนียม โบรไมด์ ว่า “Antiseptic cetrimide” ก็ได้
ในทางคลินิก ได้นำยาเซไตรโมเนียม โบรไมด์ มาใช้เป็นยาฆ่าเชื้อสำหรับแผลไหม้ที่ไม่รุนแรงมากนัก เช่น แผลน้ำร้อนลวก หรือแผลที่ถูกของมีคม เช่น มีดบาด แผลจากรอยข่วน และแผลถลอก เป็นต้น
ทั้งนี้ มีข้อจำกัดของการใช้ยาเซไตรโมเนียมโบรไมด์ ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบไว้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยา เซไตรโมเนียม โบรไมด์
- ด้วยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบเป็นยาใช้ภายนอก ห้ามมิให้ยานี้เข้า ปาก ตา หู จมูก รวมถึง ทวารหนัก
- การใช้ยาเซไตรโมเนียม โบรไมด์กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ควรเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ก่อนการทายาเซไตรโมเนียม โบรไมด์ ต้องทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เป็นบาดแผลก่อน จากนั้นจึงทายานี้เพียงบางๆ
- ห้ามใช้ยานี้ที่หมดอายุ เพราะนอกจากคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อจะต่ำลงแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ของผิวหนังได้ง่าย
ยาเซไตรโมเนียม โบรไมด์ในแง่มุมของผู้บริโภคอาจเป็นเพียงยารักษาบาดแผลที่มีการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนการใช้ยานี้ผู้บริโภคควรต้องขอคำปรึกษาการใช้ยาจากแพทย์/เภสัชกร/พยาบาล รวมถึงเรียนรู้ข้อแนะนำในเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์ยานี้
กรณีที่ใช้ยาเซไตรโมเนียม โบรไมด์แล้ว อาการของบาดแผลไม่ดีขึ้น หรือกลับมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น เช่น เกิดฝีหนอง ปวดบาดแผล หากพบเหตุการณ์ดังกล่าว ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่สถานพยาบาลโดยเร็ว
เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเซไตรโมเนียม โบรไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- เป็นยาใช้ภายนอกเพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณผิวหนัง
- ใช้เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับของเครื่องสำอางและแชมพูสระผม
เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซไตรโมเนียมโบรไมด์คือ ตัวยาจะเป็นสารลดแรงตึงผิวที่มีอนุมูลประจุลบ เมื่อสัมผัสกับตัวเชื้อโรคจะทำให้กระบวนทางชีวภาพในการดำรงชีวิตของเชื้อโรคเปลี่ยนไป จนเชื้อโรคหมดความสามารถที่จะกระจายพันธุ์ และตายลงในที่สุด
เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซไตรโมเนียม โบรไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- สารละลายใช้ทาผิวหนังภายนอกที่มีความเข้มข้น 1%
- ครีมทาผิวภายนอกขนาดความเข้มข้น 0.5%
- สารละลายประเภททิงเจอร์(Tinture,ตัวยาที่ละลายโดยใช้แอลกอฮฮล์)ที่มีความเข้มข้น 0.5%
เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเซไตรโมเนียมโบรไมด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ผู้ใหญ่และเด็ก: ใช้ทาผิวหนังบริเวณที่เป็นบาดแผลเพียงบางๆ วันละ 1-2 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
อนึ่ง:
- ห้ามรับประทานยานี้ และต้องระวังไม่ให้เข้า ตา หู จมูก ปาก ทวารหนัก
- ชำระล้างบาดแผลให้สะอาดก่อนใช้ยานี้
- ล้างมือ ก่อนและหลัง ใช้ยานี้ทุกครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซไตรโมเนียมโบรไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคผิวหนัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซไตรโมเนียมโบรไมด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาเซไตรโมเนียมโบรไมด์ สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า ให้ทายาขนาดปกติ
เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซไตรโมเนียม โบรไมด์มีผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังที่สัมผัสยา ผิวหนังที่สัมผัสยาแดง และบางครั้งรู้สึกแสบคัน
* อนึ่ง หากกลืน ยาเซทริไมด์ลงท้อง จะก่อให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ เนื้อเยื่อภายในร่างกายเสื่อมสภาพและเนื้อเยื่อที่สัมผัสยานี้อาจตายลง ดังนั้นหากกลืนยานี้ ควรรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็ว
มีข้อควรระวังการใช้เซไตรโมเนียม โบรไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เซไตรโมเนียม โบรไมด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามรับประทาน และห้ามมิให้ยานี้เข้า ตา จมูก ปาก ทวารหนัก
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กเล็ก นอกจากจะมีคำสั่งการใช้ยาจากแพทย์
- ไม่ควรใช้ยาเซไตรโมเนียม โบรไมด์ที่มีความเข้มข้นสูง ควรใช้ยานี้ตามคำแนะนำของ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล อาจใช้ยานี้ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซไตรโมเนียม โบรไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากเป็นยาทาเฉพาะที่ ที่ใช้เป็นยาทาภายนอก จึงยังไม่พบมีรายงานว่า ยาเซไตรโมเนียมโบรไมด์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาเซไตรโมเนียม โบรไมด์อย่างไร?
ควรเก็บยาเซไตรโมเนียมโบรไมด์ ภายใต้อุณหภูมิ 5-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
เซไตรโมเนียม โบรไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซไตรโมเนียมโบรไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bye Bye Burn Lot (บาย บาย เบริน ลอท) | David D. Daniels Ltd. |
Chlorhexidine-cetrimide Soltn Conc (คลอเฮ็กซิดีน-เซไตรไมด์ เซาท์ คอน) | Bio Pharm, Inc. |
Largal Ultra (ลาร์กัล อัลทรา) | Septodont |
Salvesept Crm (เซลเวเซพท์ ครีม) | Protector Canada Inc. |
Xylonor Gel (ไซโลนอร์ เจล) | Septodont |
Xylonor Spray (ไซโลนอร์ สเปรย์) | Septodont |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cetrimonium_bromide[2017,June24]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB01718[2017,June24]
- https://www.drugs.com/uk/pdf/leaflet/870342.pdf[2017,June24]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/cetrimide/?type=brief&mtype=generic[2017,June24]