เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 พฤษภาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- เซฟไตรอะโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เซฟไตรอะโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซฟไตรอะโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซฟไตรอะโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เซฟไตรอะโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซฟไตรอะโซนอย่างไร?
- เซฟไตรอะโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซฟไตรอะโซนอย่างไร?
- เซฟไตรอะโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยา(Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ(Sepsis)
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ(Peritonitis)
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ(Meningitis)
- กระดูกอักเสบ(Osteomyelitis)
- หนองใน(Gonorrhea)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
บทนำ
ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) เป็นยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cepharosporin) รุ่นที่ 3 (Third generation) มีฤทธิ์ต่อต้านและกำจัดแบคทีเรียได้หลายชนิดโดยเฉพาะแบคทีเรียชนิดแกรมบวกตลอดจนกระทั่งเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ชื่อทางการค้าที่รู้จักกันดี คือ “Rocephin”
ทางคลินิกจะนำยานี้มารักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Pneumo cocci Meningococci และ Haemophilus influenza รักษาการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง ที่ผิวหนัง ที่กระดูก (กระดูกอักเสบ) ที่ข้อต่อของร่างกาย โรคโกโนเรีย (Gonorrhea/หนองใน) การติดเชื้อในช่องทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ปีกมดลูกอักเสบ การติดเชื้อภายในช่องท้องเช่น ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือแม้แต่การติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
เมื่อยาเซฟไตรอะโซนเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะกระจายเข้าไปตามเนื้อเยื่อต่างๆและในของเหลวในร่างกายเช่น น้ำไขสันหลังและในน้ำดี เป็นต้น ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7 - 8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด
ได้มีการศึกษาการใช้ยาเซฟไตรอะโซนกับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรพบว่า ไม่ก่อให้เกิดการวิกลรูป/ความพิการของทารกในครรภ์ และมีการขับยาออกมากับน้ำนมมารดาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงมีความปลอดภัยในการใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบเห็นจะเป็นยาฉีดและมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาเซฟไตรอะโซนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นเดียวกัน โดยจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย และมีเงื่อนไขหรือวัตถุประสงค์ของการใช้ทางคลินิกคือ
- ใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่แพร่ระบาดในชุมชนยกเว้นจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudo monas aeruginosa
- ใช้รักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย Gram-negative meningitis ยก เว้นในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี
- ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาเพนิซิลลิน (Penicillin)
- บางกรณีใช้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องและติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Aminoglycosides ได้
- ใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย Gonococcus เช่น ที่ก่อโรคหนองใน
ปัจจุบันตามสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนยังมีการใช้ยาเซฟไตรอะโซนอย่างแพร่ หลาย อาจเป็นเพราะความสอดคล้องของประสิทธิภาพในการต่อต้านแบคทีเรียที่มีการแพร่ระ บาดในชุมชนเขตร้อนอย่างประเทศไทยเรา
เซฟไตรอะโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเซฟไตรอะโซนมีสรรพคุณดังนี้เช่น
- ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
- รักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอันมีสาเหตุจากแบคทีเรีย
- ป้องกันการติดเชื้อของผู้ป่วยในระหว่างการผ่าตัด
- รักษาการติดเชื้อของอวัยวะต่างๆเช่น กระดูก ข้อต่อ ไต ผิวหนัง การติดเชื้อของบาดแผล รวมถึงการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และการติดเชื้อภายในช่องท้อง
- รักษาโรคโกโนเรีย/โรคหนองในรวมถึงโรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ
เซฟไตรอะโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซฟไตรอะโซนคือ ตัวยาจะรบกวนการสังเคราะห์สารเปบทิโดไกลแคน (Peptidoglycan) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ในแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายในที่สุด จากกลไกที่กล่าวมาจึงทำให้ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ตามสรรพคุณ
เซฟไตรอะโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซฟไตรอะโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดชนิดผง (ละลายกับสารละลายก่อนใช้ยา) ขนาด 0.250, 0.500, 1 และ 2 กรัม/ขวด
เซฟไตรอะโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเซฟไตรอะโซนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาดังนี้เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ/เข้าหลอดเลือดดำ 1 - 2 กรัม วันละครั้ง หากมีการติดเชื้อขั้นรุนแรงให้ฉีด 4 กรัมวันละครั้ง ขนาดใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 4 กรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีจนถึงเด็กแรกเกิด: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ/เข้าหลอดเลือดดำ 20 - 80 มิล ลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- เด็กแรกเกิด: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ/เข้าหลอดเลือดดำ 20 - 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเซฟไตรอะโซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟไตรอะโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ยาเซฟาโลสปอรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซฟไตรอะโซนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น เจ็บบริเวณที่มีการฉีดยา รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร - ลำไส้ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีไข้ หนาวสั่น ผื่นคันขึ้นตามตัว เกิดภาวะโลหิตจางด้วยเกิดเม็ดเลือดแดงแตก ตรวจเลือดอาจค่าเอนไซม์ตับเพิ่มสูงขึ้น ปวดศีรษะ วิงเวียน ในสตรีอาจพบภาวะช่องคลอดอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้เซฟไตรอะโซนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟไตรอะโซนดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้และแพ้ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน
- ห้ามใช้ยานี้กับทารกที่คลอดก่อนกำหนด
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กแรกเกิดที่มีอายุต่ำกว่า 28 วัน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเพนิซิลิน (Penicillin)
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มี ภาวะไต - ตับ ทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการติดเชื้อจากเชื้อโรคชนิดอื่น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟไตรอะโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เซฟไตรอะโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซฟไตรอะโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- ห้ามใช้ยาเซฟไตรอะโซนร่วมกับยา Lactated ringer’s solution, ยาที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบเช่น Calcium gluconate, Calcium chloride, Edetate calcium disodium, ด้วยจะเกิดการตกตะกอนระหว่างเกลือแคลเซียมที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกับยาเซฟไตรอะโซน
- การใช้ยาเซฟไตรอะโซนร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดจะทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลง และเสี่ยงกับการตั้งครรภ์ได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
- การใช้ยาเซฟไตรอะโซนร่วมกับยา Amikacin อาจทำให้ไตเสียหายและเป็นอันตรายกับผู้ป่วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาเซฟไตรอะโซนอย่างไร?
สามารถเก็บยาเซฟไตรอะโซนที่อุณหภูมิห้อง ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เซฟไตรอะโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซฟไตรอะโซนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นๆและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cef-3 (เซฟ-3) | Siam Bheasach |
Gomcephin (กอมเซฟิน) | Daewoong Pharma |
Oframax (โอฟราแม็กซ์) | Ranbaxy |
Rocephin (โรเซฟิน) | Roche |
Sedalin (เซดาลิน) | Chi Sheng |
Trixone (ไทรโซน) | L. B. S. |
Trixophin (ไทรโซฟิน) | Shenzhen Zhijun Pharma |
Uto Ceftriaxone (ยูโท เซฟไทรอะโซน) | Utopian |
Utofin (ยูโทฟิน) | Utopian |
Zefaxone (เซฟาโซน) | M & H Manufacturing |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Ceftriaxone [2015,April18]
2. http://www.mims.co.uk/Drugs/infections-and-infestations/bacterial-infections/rocephin [2015,April18]
3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/85#item-8591 [2015,April18]
4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Rocephin/ [2015,April18]
5. http://www.drugs.com/pro/ceftriaxone.html [2015,April18]
6. http://www.drugs.com/drug-interactions/ceftriaxone-index.html?filter=3&generic_only= [2015,April18]
7. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ceftriaxone [2015,April18]