เซฟาดรอกซิล (Cefadroxil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซฟาดรอกซิล(Cefadroxil หรือ Cefadroxil monohydrate) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน(Cephalosporin) ที่มีการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด(Broad-spectrum antibiotic) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อที่ระบบอวัยวะต่างๆของต่างกาย เช่น ทอลซิลอักเสบ การติดเชื้อที่ผิวหนัง กรวยไตอักเสบ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน รวมถึงใช้เป็นยา ป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย

ยาเซฟาดรอกซิลมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้เกือบทั้งหมด ยาเซฟาดรอกซิลจะแทรกซึมผ่านไปตามเนื้อเยื่อและของเหลวได้ทั่วร่างกาย และยังสามารถซึมผ่านรกและเข้าในน้ำนมของมารดาได้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.5 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปทางปัสสาวะเป็นส่วนมาก ด้วยคุณสมบัติและลักษณะการกระจายตัวของยาเซฟาดรอกซิลในร่างกายดังที่กล่าว ทำให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้วันละ 1–2 ครั้ง ตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ ก็สามารถรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียได้แล้ว

ตัวอย่างกลุ่มแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อการใช้ยาเซฟาดรอกซิล เช่น Beta-hemolytic streptococci, Staphylococci, Streptococcus, Escherichia coli, Proteus mirabilis, Klebsiella species และ Moraxella (Branhamella) catarrhalis

กลไกการทำลายและต่อต้านแบคทีเรียของยาเซฟาดรอกซิล โดยตัวยาจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถกระจายพันธุ์ หยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

ทั้งนี้ มีแนวทางปฏิบัติของผู้ป่วยเมื่อได้รับยาเซฟาดรอกซิลที่ควรทราบดังต่อไปนี้ เช่น

  • ยาเซฟาดรอกซิลเป็นยาต่อต้านแบคทีเรีย ห้ามนำมาใช้รักษาการติดเชื้อโรค ประเภทเชื้อรา และเชื้อไวรัส
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยากลุ่มเซฟาโลสปอรินและเป็นหน้าที่ที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีประวัติแพ้ยาอะไรบ้าง
  • การรับประทานยาเซฟาดรอกซิลต้องอาศัยความต่อเนื่อง ถึงแม้ได้รับยา 1–2 วันแล้วอาการป่วยจะดีขึ้นจนดูเหมือนปกติ ผู้ป่วยยังต้องรับประทานยาจนครบเทอม การรักษาตามคำสั่งแพทย์
  • กรณีที่รับประทานยาเซฟาดรอกซิลในขณะท้องว่าง แล้วมีอาการไม่สบายในท้อง อาจรู้สึกคลื่นไส้ ให้เปลี่ยนมารับประทานยาพร้อมอาหารแทน ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ ประสิทธิภาพของการรักษาด้อยลงไป
  • ระหว่างที่ได้รับยานี้แล้วพบอาการผื่นคันขึ้นตามร่างกาย รู้สึกอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก วิงเวียนรุนแรง ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ด้วยอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณว่าผู้ป่วยอาจแพ้ยาชนิดนี้
  • การใช้ยาเซฟาดรอกซิลต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไป อาจเปิดโอกาสทำให้ ร่างกายโดนเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อเซฟาดรอกซิลเล่นงาน และ ก่อให้เกิดอาการโรคที่ใช้ยานี้รักษาแล้วไม่ได้ผล ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงไม่ แนะนำให้ผู้ป่วยไปซื้อหายานี้มารับประทานเองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ขณะได้รับยากลุ่มเซฟาโลสปอริน ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการเป็นตะคริวที่ท้อง ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง ทางคลินิกได้แนะนำว่า ไม่ควรไปซื้อยาแก้ท้องเสียมา รับประทานเอง นอกจากจะไม่ตรงกับแนวทางการรักษาที่ถูกต้องแล้ว ยังอาจทำให้ อาการป่วยทวีความรุนแรงมากขึ้น กรณีนี้ควรนำผู้ป่วยกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ปรับแนวทางการใช้ยานี้ ซึ่งจะปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจทำให้ค่าน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ที่รักษาโรคเบาหวานทราบด้วยว่า ขณะนี้ตนเองกำลังใช้ยา เซฟาดรอกซิล แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยารักษาเบาหวานได้อย่างเหมาะสม และถูกต้อง
  • ผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาเซฟาดรอกซิลได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องให้แพทย์พิจารณาเป็นกรณีๆไปว่า เหมาะสมที่จะใช้ยาเซฟาดรอกซิลหรือไม่ สิ่งที่แพทย์จะระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ การส่งผ่านยาเซฟาดรอกซิลจากร่างกายมารดาไปถึงทารกนั่นเอง

ยาเซฟาดรอกซิลจัดเป็นยาปฏิชีวนะที่สามารถใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก กรณีใช้ยาเซฟาดรอกซิลประเภทยาน้ำแขวนตะกอนกับผู้ป่วยเด็ก ต้องเก็บยาเซฟาดรอกซิลประเภทแขวนตะกอนซึ่งได้รับการผสมเจือจางด้วยน้ำแล้วไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส (Celsius) และห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น

หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยการใช้ยาเซฟาดรอกซิล สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ที่ทำการตรวจรักษา หรือสอบถามจากเภสัชกรได้ทั่วไป

เซฟาดรอกซิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เซฟาดรอกซิล

ยาเซฟาดรอกซิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการอักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ทอลซิลอักเสบ กรวยไตอักเสบ การติดเชื้อของผิวหนัง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โดยมีขนาดและระยะเวลาการรับประทานที่แตกต่างกันตามอาการและความรุนแรงของโรค
  • ใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อบุหัวใจ (Bacteria endocarditis prophylaxis)

เซฟาดรอกซิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเซฟาดรอกซิลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์สารประกอบในตัวแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า เปปทิโดไกลแคน (Peptidoglycan) ซึ่งเป็นสารประกอบสำคัญที่แบคทีเรียนำมาใช้สร้างผนังเซลล์ของตัวเอง จากกลไกนี้เองทำให้แบคทีเรียไม่สามารถขยายพันธุ์ หยุดการเจริญเติบโต และตายลงในที่สุด

เซฟาดรอกซิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซฟาดรอกซิลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยยา Cefadroxil monohydrate ขนาด 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยยา Cefadroxil monohydrate 1,000 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำแขวนตะกอน ที่ประกอบด้วยยา Cefadroxil monohydrate ขนาด 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร และ 500 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

เซฟาดรอกซิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเซฟาดรอกซิลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับป้องกันการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ (Bacterial Endocarditis Prophylaxis)

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปี: รับประทานยาขนาด 2,000 มิลลิกรัม ครั้งเดียวก่อนเข้ารับหัตถการทางการแพทย์ 1 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 1–18 ปี และมีน้ำหนักตัว 39 กิโลกรัมลงมา: รับประทานยาขนาด 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียวก่อนเข้ารับหัตถการทางการแพทย์ 1 ชั่วโมง โดยห้ามใช้ยาเกิน 2,000 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 1–18 ปี และมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 40 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 2,000 มิลลิกรัม ครั้งเดียวก่อนเข้ารับหัตถการทางการแพทย์ 1 ชั่วโมง

ข.สำหรับกรวยไตอักเสบ(Pyelonephritis):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วันต่อเนื่อง
  • เด็ก: ขนาดยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ค. สำหรับผิวหนังอักเสบติดเชื้อ(Skin or Soft Tissue Infection):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 1,000 มิลลิกรัม สามารถรับประทานครั้งเดียว/วัน หรือแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้งก็ได้ตามแพทย์แนะนำ โดยมีระยะเวลาในการรับประทานตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ง. สำหรับทอลซิลอักเสบ(Tonsillitis) และคอหอยอักเสบ(Pharyngitis):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 1,000 มิลลิกรัม/วัน อาจรับประทานยาครั้งเดียวต่อวันหรือแบ่งการรับประทานเป็น 2 ครั้งต่อวันก็ได้ตามแพทย์สั่ง โดยมีระยะรับประทานยา 10 วัน ต่อเนื่อง
  • เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป: รับประทานยา 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน อาจรับประทานยา วันละ1ครั้งหรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้งก็ได้ตามแพทย์สั่ง และห้ามใช้ยาเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

จ.สำหรับการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน(Upper Respiratory Tract Infection)

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 500 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง หรือรับประทานยาขนาด 1,000 มิลลิกรัม ทุกๆ 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 – 10 วัน
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ฉ. สำหรับการติดเชื้อในระบบเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection):

  • กรณีติดเชื้อไม่รุนแรง: ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1,000–2,000 มิลลิกรัม/วัน โดยรับประทานยาเพียงครั้งเดียว หรือแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้งต่อวันก็ได้ตามคำสั่งแพทย์ ระยะเวลาของการรับประทานให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์เช่นกัน, เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • กรณีติดเชื้อรุนแรง: ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง, เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ระยะเวลาของการรับประทานให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์เช่นกัน

อนึ่ง:

  • ยานี้รับประทานช่วงท้องว่าง หรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซฟาดรอกซิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆอย่างเช่น โรคทางลำไส้/โรคทางเดินอาหาร โรคเบาหวาน โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟาดรอกซิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเซฟาดรอกซิล สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

อนึ่ง เพื่อประสิทธิผลในการใช้ยาเซฟาดรอกซิล ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยานี้จนครบเทอมการรักษาตามคำสั่งแพทย์

เซฟาดรอกซิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซฟาดรอกซิลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย รู้สึกไม่สบายท้อง เบื่ออาหาร อาจเกิดการติดเชื้อที่เรียกว่า ลำไส้ใหญ่อักเสบชนิด Pseudomembranous colitis
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาจทำให้เกิดอาการชัก
  • ผลต่อไต: เช่น ไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดภาวะตับวาย เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์: เช่น เกิดอาการคันบริเวณทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอดอักเสบ(ในสตรี)
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ, Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ) มีภาวะโลหิตจางจากมีเม็ดเลือดแดงแตก
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น มีอาการปวดข้อ

*อนึ่ง: ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะมีอาการ คลื่นไส้ ประสาทหลอน ไตทำงานผิดปกติและอาจเกิดอาการโคม่า ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

มีข้อควรระวังการใช้เซฟาดรอกซิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟาดรอกซิล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สียาเปลี่ยนไป หรือแคปซูลเปียกชื้น
  • ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วอาการป่วยไม่ดีขึ้น ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟาดรอกซิลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซฟาดรอกซิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซฟาดรอกซิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเซฟาดรอกซิลร่วมกับผู้ที่ได้รับวัคซีนอหิวาตกโรค ด้วยตัวยา เซฟาดรอกซิลจะทำให้การกระตุ้นภูมิต้านทานเชื้ออหิวาตกโรคด้อยลง หากจำเป็นต้อง ใช้ร่วมกัน ควรเว้นระยะเวลาการใช้วัคซีนฯหลังการใช้ยาเซฟาดรอกซิลอย่างน้อย 14 วัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซฟาดรอกซิลร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างเช่น Ethinyl estradiol ด้วยจะทำให้ประสิทธิผลการคุมกำเนิดของยา Ethinyl estradiol ด้อยลงไป จึงควรต้องใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วยขณะใช้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซฟาดรอกซิลร่วมกับยา Probenecid ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเซฟาดรอกซิลมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาเซฟาดรอกซิลร่วมกับยาขับปัสสาวะ อย่างเช่น Furosemide อาจจะก่อให้เกิดพิษต่อไต/ไตอักเสบ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเซฟาดรอกซิลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเซฟาดรอกซิล ดังนี้

  • กรณียาชนิดเม็ด, แคปซูล, ยาน้ำแขวนตะกอนที่ยังมิได้ผสมน้ำ: สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส
  • สำหรับยาน้ำแขวนตะกอนที่ผสมน้ำแล้ว: ให้เก็บในตู้เย็นซึ่งมีอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส
  • ยานี้ทุกรูปแบบ: ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

เซฟาดรอกซิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟาดรอกซิล ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Duricef (ดูริเซฟ)Bristol-Myers Squibb

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Acidrox, Acer, Actidrox, Acudrox, Adrox, Affycep, Amdrox, Baxon, Cefadril, Cefadroxyl

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/pro/cefadroxil.html[2017,May27]
  2. https://www.drugs.com/dosage/cefadroxil.html[2017,May27]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cefadroxil/?type=brief&mtype=generic[2017,May27]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefadroxil[2017,May27]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2007/050512s046,050527s022,050528s020lbl.pdf[2017,May27]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/cefadroxil-index.html?filter=2&generic_only=[2017,May27]