เซฟาคลอร์ (Cefaclor)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 มกราคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- เซฟาคลอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เซฟาคลอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซฟาคลอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซฟาคลอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เซฟาคลอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซฟาคลอร์อย่างไร?
- เซฟาคลอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซฟาคลอร์อย่างไร?
- เซฟาคลอร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
- เพนิซิลลิน (Penicillin)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
บทนำ
ยาเซฟาคลอร์(Cefaclor) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 2 (Second-generation cephalosporin antibiotic) ทางคลินิกได้นำยานี้มารักษาโรคปอดบวม การติดเชื้อในกระแสเลือด/ติดเชื้อในกระแสโลหิต รวมถึงการติดเชื้อตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น หูชั้นกลาง คอ ผิวหนัง ท่อปัสสาวะ ซึ่งมักจะเป็นแบคทีเรียประเภทแกรมบวกและลบ อาทิ Haemophilus influenzae, Staphylcoccus aureus Streptococcus pneumoniae และ Streptococcus pyogenes เป็นต้น
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของตัวยาเซฟาคลอร์เป็นแบบรับประทาน ด้วยยานี้สามารถดูดซึมผ่านจากระบบทางเดินอาหารได้ดี ประมาณ15-40% ของยาเซฟาคลอร์ในกระแสเลือดจะโดนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีให้ต่างไปจากเดิม ซึ่งร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 0.6-0.9 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาชนิดนี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
- เพื่อลดความเสี่ยงต่อการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะใช้ยานี้กับโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองกับเซฟาคลอร์เท่านั้น
- ห้ามใช้ยาเซฟาคลอร์กับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้มาก่อน
- นอกจากนี้ยังต้องระวังอาการท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Clostridium difficile ด้วยยาเซฟาคลอร์สามารถทำลายจุลินทรีย์/แบคทีเรียประจำถิ่นที่อยู่ในร่างกายให้ลดน้อยลง จนเป็นเหตุให้ลำไส้ติดเชื้อClostridium difficile ในภายหลัง
- การใช้ยานี้แบบผิดวิธี เช่น รับประทานยาไม่ครบเทอมการรักษา อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวเองจนกระทั่งเกิดการดื้อยาเซฟาคลอร์ตามมา
- การรับประทานเซฟาคลอร์เกินขนาดยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เกิดอาการจุกยอดอก และท้องเสีย และความรุนแรงของผลข้างเคียงดังกล่าวจะขึ้นกับปริมาณยานี้ที่รับประทานเข้าไป
- ซึ่งกรณีนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
- แพทย์อาจช่วยเหลือโดยการล้างท้อง หรืออาจให้กิน ยาถ่านกัมมันต์เพื่อชะลอการดูดซึมยาเซฟาคลอร์เข้าสู่กระแสเลือด
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วย อาจสรุปหลักการใช้ยาเซฟาคลอร์ ดังนี้
- รับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ถ้ามีอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารหลังรับประทานยานี้ ให้ปรับเปลี่ยนการ รับประทานยาพร้อมอาหาร จะช่วยลดอาการระคายเคืองดังกล่าว
- กรณีเกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง จนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือมีภาวะแพ้ยาเกิดขึ้น ให้หยุดการใช้ยา แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- การรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาเซฟาคลอร์ ควรเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
- ห้ามใช้ยาเซฟาคลอร์ในการรักษาโรคที่มีสาเหตุจาก เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา เพราะยาเซฟาคลอร์เป็นยาที่ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น
ยาเซฟาคลอร์ จัดว่าเป็นยาอันตราย ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และเราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน อีกทั้งยังมีจำหน่ายตามร้านขายยาขนาดกลางขึ้นไป ประชาชน/ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ที่สั่งจ่ายยานี้ หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลหรือตามร้านขายยาทั่วไป
เซฟาคลอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเซฟาคลอร์เป็นยาปฏิชีวนะที่มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ใช้รักษาโรคที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น
- หูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อ
- โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ
- โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง
- โรคติดเชื้อตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย
- รวมถึงโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
เซฟาคลอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เซฟาคลอร์มีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับยากลุ่ม Penicillin โดยตัวยาจะเข้าจับโปรตีน ที่อยู่ภายในผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหมดสภาพในการสร้างผนังเซลล์ และส่งผลให้ผนังเซลล์แตกออก ซึ่งเป็นเหตุให้แบคทีเรียตายลง
เซฟาคลอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซฟาคลอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Cefaclor 250 และ 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดแบบออกฤทธิ์นานชนิดรับประทาน ที่มีตัวยา Cefaclor 375 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Cefaclor 125 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
เซฟาคลอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเซฟาคลอร์ มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือรักษาการกลับมาเป็นใหม่ของหลอดลมอักเสบ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250–500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน
- เด็ก: อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีๆไป
ข. สำหรับหูชั้นกลางอักเสบ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250–500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 10–14 วัน
- เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป รับประทานยาครั้งละ 20–40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก 8–12 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วันเป็นอย่างต่ำ และห้ามใช้ยาเกิน 1 กรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 1เดือน: อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีๆไป
ค. สำหรับทอลซิลอักเสบ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250–500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน
- เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 20–40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก 8–12 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน และห้ามใช้ยาเกิน 1 กรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 1เดือน: อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีๆไป
ง. สำหรับโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250–500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 3–10 วัน
- เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 20–40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก 8–12 ชั่วโมง ห้ามรับประทานยาเกิน 1 กรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 1เดือน: อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีๆไป
จ. สำหรับรักษาโรคปอดบวมที่มีความรุนแรงระดับต่ำจนถึงระดับกลาง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 10–21 วัน
- เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 20–40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก 8–12 ชั่วโมง ห้ามรับประทานยาเกิน 1 กรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 1เดือน: อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีๆไป
ฉ. สำหรับไซนัสอักเสบ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250–500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 10–14 วัน บางกรณีแพทย์อาจพิจารณาใช้ยายาวนาน 3–4 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการ และความรุนแรงของโรค
- เด็ก: อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีๆไป
ช. สำหรับการติดเชื้อที่ผิวหนัง และการติดเชื้อตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250–500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7–10 วัน
- เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 20–40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุก 8–12 ชั่วโมง ห้ามรับประทานยาเกิน 1 กรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 1เดือน: อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ยานี้ควรรับประทานพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารไม่เกิน 1ชั่วโมง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซฟาคลอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟาคลอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเซฟาคลอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
แต่เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยานี้ตรงเวลา
เซฟาคลอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซฟาคลอร์ สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เกิดอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องอืด กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ
- ผลต่อตับ: เช่น ทำให้ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการ วิงเวียน กระสับกระส่าย ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ เกิดภาพหลอน มีอาการชัก
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ก่อให้เกิด ภาวะเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง(Eosinophilia) , เม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ (Pancytopenia) , เกล็ดเลือดต่ำ(Thrombocytopenia)
- ผลต่อไต: เช่น อาจทำเกิดภาวะกรวยไตอักเสบ เกิดไตวาย ผลการตรวจปัสสาวะผิดปกติ
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น คันบริเวณอวัยวะเพศและช่องคลอด ช่องคลอดอักเสบ ประจำเดือนขาด ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดข้อ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจล้มเหลว ตัวบวม ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ เกิดหอบหืด หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้เซฟาคลอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟาคลอร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก หรือเปลี่ยนสี
- ห้ามใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
- ต้องรับประทานยานี้จนครบเทอมของการรักษา
- ยานี้ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถนำมารักษาการติดเชื้อไวรัสได้
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานบ่อยๆซ้ำๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นที่ยานี้ไม่สามารถต่อต้านได้ เช่น เชื้อรา เป็นต้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวาน ด้วยตัวยาอาจส่งผลต่อการทดสอบระดับ น้ำตาลในเลือดได้
- ผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงที่จะได้รับอาการข้างเคียงหรือเกิดภาวะแพ้ยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- หากเกิดอาการแพ้ยานี้ ถึงแม้จะเป็นการแพ้เพียงครั้งแรก ให้หยุดการใช้ยาทันที แล้วรีบพาตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- กรณีใช้ยานี้ตามระยะเวลาอันเหมาะสมแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้นต้องรีบพาผู้ป่วย กลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟาคลอร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เซฟาคลอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซฟาคลอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเซฟาคลอร์ร่วมกับ ยาQuinapril อาจรบกวนการดูดซึมของยาเซฟาคลอร์ จากระบบทางเดินอาหาร และส่งผลให้ฤทธิ์ในการต่อต้านแบคทีเรียด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะรับประทานยาทั้ง 2 ตัว ให้ห่างกัน 2–3 ชั่วโมง
- การรับประทานยาเซฟาคลอร์ร่วมกับ ยา Aluminium hydroxide จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของเซฟาคลอร์ด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาเซฟาคลอร์ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ Ethinyl estradiol อาจทำให้ฤทธิ์ในการคุมกำเนิดด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรต้องใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การใส่ห่วงอนามัย หรือการใช้ถุงยาอนามัยชาย
- ควรหยุดการใช้ยาเซฟาคลอร์ 14 วันขึ้นไป ก่อนที่จะรับวัคซีนอหิวาตกโรคชนิดมีชีวิต ด้วยยาเซฟาคลอร์สามารถทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของวัคซีนดังกล่าวต่ำลง
ควรเก็บรักษาเซฟาคลอร์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเซฟาคลอร์ ดังนี้ เช่น
- เก็บยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ห้ามทิ้งยาลงพื้นดินหรือทิ้งลงคูคลองตามธรรมชาติ
เซฟาคลอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซฟาคลอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cefclor T P (เซฟคลอร์ ทีพี ) | TP |
Distaclor (ดิสทาคลอร์) | DKSH |
Sifaclor (ซิฟาคลอร์) | Siam Bheasach |
Vercef (เวอร์เซฟ) | Ranbaxy |
อนึ่ง ชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Ceclor
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cefaclor [2018,Dec15]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2004/50521slr027,50522slr027_cefaclor_lbl.pdf [2018,Dec15]
- https://www.drugs.com/pro/cefaclor.html [2018,Dec15]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/distaclor-distaclor%20mr/?type=brief [2018,Dec15]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/cefaclor-index.html?filter=2 [2018,Dec15]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00833 [2018,Dec15]