เซฟมินอก (Cefminox)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กรกฎาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- เซฟมินอกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เซฟมินอกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซฟมินอกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซฟมินอกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- เซฟมินอกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซฟมินอกอย่างไร?
- เซฟมินอกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซฟมินอกอย่างไร?
- เซฟมินอกมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
บทนำ
ยาเซฟมินอก(Cefminox หรือ Cefminox sodium หรือ Cefminox Na ) เป็นยา ปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน(Cephalosporin)รุ่นที่ 2 มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดแกรมลบ(Gram-negative)และกลุ่มแอนแอโรบ (Anaerobes,แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการดำรงค์ชีวิต) เช่น Streptococcus sp/species , Escherichia coli, Klebsiella pneumoniae, Proteus sp, Haemophilus influenzae และ Bacteroides sp, โดยแบคทีเรียเหล่านี้เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อต่างๆอาทิ การติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ทอนซิลอักเสบ ฝีบริเวณต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ปอดบวม กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ(การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) ปีกมดลูกอักเสบ ติดเชื้อในโพรงมดลูก(เยื่อบุมดลูกอักเสบ) ทั้งนี้รูปแบบซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันของยาเซฟมินอกจะเป็นยาฉีด ที่สามารถฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรงหรือใช้วิธีหยดเข้าทางหลอดเลือดดำก็ได้
ตัวยาเซฟมินอกในกระแสเลือดจะถูกขับทิ้งผ่านไปกับปัสสาวะโดยใช้เวลาประมาณ 6–12 ชั่วโมง กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซฟมินอก คือ ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหมดความสามารถในการเจริญพันธุ์และตายในที่สุด
ตัวยาเซฟมินอกไม่สามารถต่อต้านอาการป่วยจากเชื้อไวรัส อย่างเช่น การป่วยจากไข้หวัดใหญ่ และถ้าการใช้ยานี้ทำได้ถูกต้อง และตรงกับเชื้อที่มีการตอบสนองกับยาเซฟมินอกผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน ข้อสำคัญคือ ผู้ป่วยจะต้องได้รับยานี้จนครบคอร์ส(Course)ของการรักษา ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคเกิดการดื้อยา
ผลข้างเคียงที่พบและเกิดขึ้นบ่อยกับผู้ป่วยที่ได้รับยาเซฟมินอก คือ คือ อาการของตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
ข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยาเซฟมินอกที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ เช่น
- มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่มเซฟาโลสปอรินหรือไม่ ซึ่งห้ามใช้ยานี้ในกรณีแพ้ยาเหล่านั้น
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ อาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงของยานี้ สูงมากกว่า ผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- การใช้ยานี้กับเด็กทารก ถือเป็นข้อที่ควรหลีกเลี่ยง ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
- การใช้ยาเซฟมินอกติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโรคชนิดอื่น ที่ไม่ตอบสนองต่อยานี้ เช่น เชื้อรา เป็นต้น
- ยานี้อาจเป็นเหตุให้ร่างกายขาดวิตามินเคได้ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเฝ้าระวังและ สังเกตอาการขาดวิตามินดังกล่าว
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ระหว่างที่ใช้ยานี้(ยานี้ใช้เฉพาะในโรงพยาบาล)แล้วพบอาการหอบหืดเกิดขึ้น ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อทำการช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเร็ว
- หลังการใช้ยานี้แล้วอาการป่วยไม่ดีขึ้นหรือมีอาการทรุดหนักลง แพทย์จะพิจารณาปรับเปลี่ยนเป็นยาปฏิชีวนะตัวอื่น
อนึ่ง คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาเซฟมินอกอยู่ในกลุ่มยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องอาศัยหัตถการทางการแพทย์อย่างเหมาะสมและปฏิบัติอยู่เฉพาะในสถานพยาบาล/โรงพยาบาล ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Meicelin”
เซฟมินอกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเซฟมินอกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยานี้ ซึ่งแบคทีเรียดังกล่าวเป็นสาเหตุของ การติดเชื้อในกระแสเลือด ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อที่ปีกมดลูก หรือในโพรงมดลูก อุ้งเชิงกรานอักเสบ
เซฟมินอกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเซฟมินอกมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต หมดความสามารถของการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด
เซฟมินอกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซฟมินอกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Cefminox ขนาด 1 กรัม/ขวด(Vial)
เซฟมินอกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเซฟมินอก มีขนาดการบริหารยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ หรือหยดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2 กรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 2 ครั้ง ตามแพทย์สั่ง
- เด็ก: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือหยดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งการให้ยาเป็น 3–4 ครั้ง/วัน ตามแพทย์สั่ง
อนึ่ง:
- ในผู้ใหญ่ กรณีมีการติดเชื้อในกระแสเลือด และมีอาการรุนแรง แพทย์อาจใช้ยานี้เป็น 6 กรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยา 3–4 ครั้ง
- ด้วยเป็นยาฉีดชนิดผง การเตรียมยาฉีด สามารถใช้น้ำกลั่นที่ปราศจากเชื้อ 20 มิลลิลิตร ละลายกับตัวยาเซฟมินอก 1 กรัม แล้วฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือละลายตัวยาด้วยสารละลายเดกซ์โทรส(Dextrose) 100–500 มิลลิลิตร แล้วหยดเข้าทางหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาการให้ยานาน 1–2 ชั่วโมง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซฟมินอก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาเซฟมินอก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
การฉีดยาเซฟมินอกจะกระทำในสถานพยาบาล โดยมีตารางการฉีดยาตามคำสั่งของแพทย์ การลืมให้ยากับผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากๆ
เซฟมินอกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซฟมินอกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆ ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปวดท้อง
- ผลต่อระบบหายใจ: เช่น เกิดอาการไอ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้
- ผลต่อไต: เช่น ไตวาย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดกลุ่มอาการ Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และ Eosinophilia(เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophilในเลือดสูง)
- ผลต่อตับ: เช่น มีระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้เซฟมินอกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟมินอก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ยากลุ่ม Cephalosporin
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้ยาที่มีสิ่งเจือปน เช่น กรณีพบฝุ่นผงปนมากับตัวยา
- หากใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยา ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบแจ้งแพทย์ทันที
- เมื่อใช้ยานี้ ผู้ป่วยอาจเกิด ภาวะท้องเสีย กรณีการถ่ายมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด หรือท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบแจ้งแพทย์ เพื่อแพทย์พิจาณาปรับแนวทางการรักษา
- ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้ครบคอร์สการรักษาตามแพทย์สั่ง ถึงแม้อาการจะดีขึ้นภายใน 1–2 วันแรกก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดอาการดื้อยาของเชื้อโรค
- ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ห้ามนำไปรักษาการติดเชื้อไวรัส
- ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟมินอกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เซฟมินอกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซฟมินอกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเซฟมินอกร่วมกับยาขับปัสสาวะ ด้วยอาจทำให้ไตทำงานผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ขณะได้รับยาเซฟมินอก ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เป็นต้น
ควรเก็บรักษาเซฟมินอกอย่างไร?
ควรเก็บยาเซฟมินอก ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เซฟมินอกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซฟมินอกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Meicelin (ไมเซลิน) | Meiji |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Tencef