เซธิลไพริดิเนียม (Cetylpyridinium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 กรกฎาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เซธิลไพริดิเนียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรค/อาการอะไร?
- เซธิลไพริดิเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซธิลไพริดิเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซธิลไพริดิเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ผลิตภัณฑ์ (อม/บ้วนปาก/สเปรย์) ควรทำอย่างไร?
- เซธิลไพริดิเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซธิลไพริดิเนียมอย่างไร?
- เซธิลไพริดิเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซธิลไพริดิเนียมอย่างไร?
- เซธิลไพริดิเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- ยาลูกอม (Throat lozenge)
- น้ำยาบ้วนปาก ยาบ้วนปาก (Gargle)
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- เจ็บคอ (Sore throat)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาเซธิลไพริดิเนียม (Cetylpyridinium) คือ ยา/สารประกอบประเภทเกลือชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดแกรมบวกที่ตัวยาออกฤทธิ์แบบกว้าง(Broad spectrum) กล่าวคือครอบคลุมแบคทีเรียได้หลายชนิดรวมถึงหยุดการกระจายตัวของเชื้อราจำพวกยีสต์ (Yeast)ซึ่งทางอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและยา ได้นำเซธิลไพริดิเนียมไปผสมเป็นสารละลายประเภทน้ำยาบ้วนปาก, ยาสีฟัน, ยาประเภทยาลูกอม, ยาทาผิว, สเปรย์สำหรับพ่นคอ-จมูก
เฉพาะตัวผลิตภัณฑ์ยา/สารนี้ที่เป็นน้ำยาบ้วนปากมักจะทำให้เกิดคราบสีน้ำตาลบริเวณซอกฟันและผิวของฟัน แต่ก็สามารถกำจัดออกได้ด้วยการขัดถูบริเวณฟันหรือพบทันตแพทย์เพื่อทำการขัดฟัน
จะพบว่ายาเซธิลไพริดิเนียมถูกนำไปทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพของปากและคอเสียส่วนมาก ผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์จากแพทย์หรือเภสัชกรหรือตรวจ สอบรายละเอียดการใช้ผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทจากฉลากยา/เอกสารกำกับยาที่แนบมาด้วยกัน
เซธิลไพริดิเนียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรค/อาการอะไร?
ยาเซธิลไพริดิเนียมมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย, ยีสต์ ในช่องปากและคอ เช่น น้ำยาบ้วนปาก, สเปรย์ดับกลิ่นปาก
- บรรเทาอาการเจ็บคอ/คออักเสบ, การติดเชื้อในช่องปาก, เหงือกอักเสบ
- ลดการเกิดคราบหินปูน
- ลดการอักเสบจากการติดเชื้อของผิวหนัง เช่น ยาทาผิวภายนอก
เซธิลไพริดิเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเซธิลไพริดิเนียมจะออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าจับกับผนังเซลล์ของเชื้อโรค และรบกวนสม ดุลการซึมผ่านของสารเคมีต่างๆต่อผนังเซลล์ ส่งผลให้เชื้อโรคหยุดการแบ่งเซลล์และตายลงในที่สุด
เซธิลไพริดิเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซธิลไพริดิเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาลูกอม ขนาด 1.4 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาลูกอมที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Cetylpyridinium Cl 1.33 มิลลิกรัม + Benzyl alcohol 6 มิลลิกรัม/เม็ด, และ Benzydamine HCl 1.5 มิลลิกรัม + Cetylpyridinium Cl 1.33 มิลลิกรัม + Pholcodine 5.5 มิลลิกรัม/เม็ด
- น้ำยาบ้วนปากขนาดความเข้มข้น 0.025 - 0.05%
- สเปรย์พ่นปากขนาดความเข้มข้น 0.05%
- ยาเจลที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Benzydamine HCl 1% + Cetylpyridinium Cl 0.1%
เซธิลไพริดิเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเซธิลไพริดิเนียมมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
ก. ยาลูกอม: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 ปี: อมยาลูกอมขนาด 1.4 มิลลิกรัม/เม็ดครั้งละ 1 เม็ด ทุก 3 - 4 ชั่วโมง ควรให้เม็ดอมละลายในปากอย่างช้าๆ
ข. น้ำยาบ้วนปาก: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 ปี: อมน้ำยาบ้วนปากขนาดความเข้มข้น 0.025% ครั้งละประมาณ 15 มิลลิลิตรวันละ 2 - 3 ครั้ง ไม่จำเป็นต้องเจือจางกับน้ำก่อนการอมบ้วนปาก
*อนึ่ง: ไม่แนะนำให้ใช้ยาอมหรือยาบ้วนปากในเด็กเล็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ที่อายุต่ำกว่า 6 ปี เพราะข้อจำกัดที่เด็กอมยาหรือบ้วนยาไม่เป็น จึงมีโอกาสที่จะกลืนยาจนก่อให้เกิดอันตรายได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาลูกอมหรือยาบ้วนปากหรือยาเซธิลไพริดิเนียม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเซธิลไพริดิเนียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต่างๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่รับประทานอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ผลิตภัณฑ์ (อม/บ้วนปาก/สเปรย์) ควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ผลิตภัณฑ์ยาเซธิลไพริดิเนียมสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ฯเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ผลิตภัณฑ์ฯในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ฯเป็น 2 เท่า
เซธิลไพริดิเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ตามรูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาเซธิลไพริดิเนียม เช่น
- ยาลูกอม/ยาเจลป้ายปาก: อาจพบ
- ลมพิษ
- แสบร้อนภายในปาก
- น้ำยาบ้วนปาก/สเปรย์พ่นปาก: อาจก่อให้เกิดคราบสีน้ำตาลบนเคลือบฟันหรือแผลในปาก
- ยาทาผิว: อาจพบอาการระคายเคืองบริเวณที่ทายา
*อนึ่ง: การกลืนหรือได้รับปริมาณยาเซธิลไพริดิเนียมเข้าสู่ร่างกายเป็นปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้-อาเจียน และท้องเสีย ซึ่งการรักษาคือให้รักษาตามอาการ
มีข้อควรระวังการใช้เซธิลไพริดิเนียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซธิลไพริดิเนียม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์/แพ้ยาเซธิลไพริดิเนียม
- ห้ามกลืนผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากโดยเด็ดขาด
- หยุดการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากเมื่ออาการแผลในปากไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน หรือเกิดอาการบวม หรือมีผื่นคัน หรือมีไข้ เกิดขึ้นหลังการใช้
- หยุดการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทยาลูกอมกรณีที่ใช้ 3 วันไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของยาเซธิลไพริดิเนียม กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยา/ผลิตภัณฑ์หมดอายุ
- ห้ามแบ่งยา/ผลิตภัณฑ์ให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยา/ผลิตภัณฑ์หมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมผลิตภัณฑ์/ยาเซธิลไพริดิเนียมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เซธิลไพริดิเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากยาเซธิลไพริดิเนียมเป็นผลิตภัณฑ์/ยาใช้ภายนอกร่างกาย จึงไม่ค่อยพบเห็นปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยาชนิดรับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษาเซธิลไพริดิเนียมอย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์ของยาเซธิลไพริดิเนียม:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- ไม่เก็บผลิตภัณฑ์/ยาในห้องน้ำ ยกเว้นผลิตภัณฑ์/ยาประเภทน้ำยาบ้วนปาก
- เก็บผลิตภัณฑ์/ยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บผลิตภัณฑ์/ยาในรถยนต์
เซธิลไพริดิเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซธิลไพริดิเนียม มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cepacol (เซพาคอล) | sanofi-aventis |
Difflam Lozen (ดิฟเฟรม โลเซง) | iNova |
Difflam Mouth gel (ดิฟเฟรม เม้าท์ เจล) | iNova |
Orasept (ออราเซพ) | Silom Medical |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cetylpyridinium_chloride [2021,July17]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11505791/ [2021,July17]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Orasept/ [2021,July17]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cepacol/?type=brief [2021,July17]
- https://aac.asm.org/content/49/2/843.long [2021,July17]
- http://www.druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=1769&drugName=Cetylpyridinium%20Chloride&type=1 [2021,July17]
- http://mouthwash-oral-hygiene.blogspot.com/2015/04/cetylpyridinium-chloride- [2021,July17]
- https://www.mims.com/Malaysia/drug/info/Difflam%20Anti-Inflammatory%20Loz%20(with%20cough%20suppressant)/?type=brief [2021,July17]