เช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ (Checkpoint inhibitor)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ เป็นกลุ่มยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ปิดกั้นกระบวนการจดจำสารโปรตีนของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อเซลล์มะเร็ง ส่งผลกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันฯเข้าทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น

ปกติทั่วไป ระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย เช่น กลุ่มเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์(T cell) จะไม่ทำลายเซลล์ปกติ(Normal cell)ของร่างกาย แต่จะมุ่งเน้นไปทำลายสิ่งแปลกปลอม อย่างเช่น แบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเซลล์มะเร็ง นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า เซลล์มะเร็งหลายชนิดมีการพัฒนาตัวเองโดยสร้างโปรตีนบนเยื่อหุ้มเซลล์เลียนแบบเซลล์ปกติของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันฯแปลความหมายว่าเซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ปกติจึงไม่เกิดกระบวนการทำลายเซลล์มะเร็งดังกล่าว

ยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ เป็นกลุ่มยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ปิดกั้นกระบวนการจดจำสารโปรตีนของระบบภูมิคุ้มกันฯต่อเซลล์มะเร็ง ส่งผลกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันฯเข้าทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามจากการออกฤทธิ์ของยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ อาจทำให้ภูมิคุ้มกันฯเข้าทำลายเซลล์ปกติได้เช่นเดียวกัน โปรตีนบนผิวเซลล์ปกติและบนผิวเซลล์มะเร็งที่ทำหน้าที่ป้องกันการทำลายจากระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายมีชื่อเรียกต่างๆ เช่น CTLA4 , PD-1, และ PD-L1, ในปัจจุบันมีกลุ่มยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ที่ออกฤทธิ์ตรงโปรตีนดังกล่าวและนำมาใช้รักษาโรคมะเร็ง ดังนี้ เช่นยา

  • Ipilimumab: ใช้รักษามะเร็งผิวหนังชนิดมะเร็งไฝ Melanoma) จะออกฤทธิ์ต่อโปรตีนที่เป็น ตัวรับ /หน่วยรับความรู้สึก(Receptor)บนผิวเซลล์มะเร็งชนิด CTLA4 ยาตัวนี้ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนในปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554)
  • Nivolumab: ใช้รักษามะเร็งไฝในระยะแพร่กระจาย(Metastatic melanoma) โดยใช้ร่วมกับยาIpilimumab ยานี้จะออกฤทธิ์ต่อโปรตีนบนผิวเซลล์มะเร็งชนิด PD-1 และผ่านการขึ้นทะเบียน และนำมาใช้ทางคลินิกในปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557)
  • Pembrolizumab: ใช้รักษามะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งไฝ มะเร็งปอด มะเร็งระบบศีรษะและลำคอ มะเร็งกระเพาะอาหาร รวมถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin Lymphoma ตัวยามีการออกฤทธิ์ที่ PD-1 และผ่านการขึ้นทะเบียนและนำมาใช้ทางคลินิกในปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557)
  • Atezolizumab : ใช้รักษามะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะชนิด Urothelial Carcinoma โดยยาออกฤทธิ์ที่ตัวรับชนิด PD-L1 และนำมาใช้ทางคลินิกในปี ค.ศ.2016 (พ.ศ.2559)
  • Avelumab: ใช้รักษามะเร็งผิวหนังชนิด Merkel-cell Carcinoma มีการออกฤทธิ์ที่ PD-L1 ตัวยาได้รับการยอมรับและนำมาใช้ทางคลินิกในปี ค.ศ.2017 (พ.ศ.2560)
  • Durvalumab : ใช้รักษามะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะในระยะแพร่กระจาย (Metastatic Urothelial Carcinoma) โดยมีการออกฤทธิ์ที่ PD-L1 และนำมาใช้ทางคลินิกในปี ค.ศ.2017 (พ.ศ.2560)
  • Cemiplimab : ใช้รักษามะเร็งผิวหนังชนิด Squamous Cell Skin Cancer รวมถึง มะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา และมะเร็งปอด(Lung Cancer) โดยมีการออกฤทธิ์ที่ PD-1 และ นำมาใช้ทางคลินิกในปี ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561)

ผลข้างเคียงของกลุ่มยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ สามารถย้อนกลับมาแสดงต่ออวัยวะและระบบอวัยะปกติต่างๆของร่างกายได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้กลไกการออกฤทธิ์ของยา กลุ่มนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายได้อย่างแน่ชัดไปเสียทั้งหมด ดังนั้นแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางเท่านั้นจะเป็นผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ได้ดีที่สุด

เช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เช็คพอยท์อินฮิบิเตอร์

ยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษามะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปอด มะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งไต มะเร็งตับ และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin’s Lymphoma/ Hodgkin’s lymphoma เป็นต้น

เช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ จะออกฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับ/โปรตีนรีเซ็พเตอร์ (Protein receptor) บนผิวเซลล์มะเร็งที่มีชื่อเรียกย่อๆว่า CTLA4, PD-1, และ PDL-1 ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันฯ อย่างเช่น ทีเซลล์(T cell) เข้าทำลายเซลล์มะเร็งได้ตามสรรพคุณ

เช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลุ่มเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ ส่วนมากมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์แบบยาฉีด โดยหยดเข้า หลอดเลือดดำ ความแรงและขนาดการใช้ยากลุ่มนี้จะมีความแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของตัวยา

เช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การบริหารยา/การใช้ยากลุ่มเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ขึ้นอยู่กับ ชนิดของตัวยา, และชนิดของมะเร็ง, แพทย์จึงจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการใช้ยาเหล่านี้กับผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างเหมาะสมที่สุด

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/ หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคเลือด โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีที่ผู้ป่วยลืม/ไม่มารับการฉีดยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ ให้ทำการนัดหมายกับแพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมารับการให้ยานี้ครั้งใหม่โดยเร็ว

เช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กลุ่มยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย คลื่นไส้-อาเจียน ลำไส้อักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ ซึม
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาแดง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เลือดจาง/ โรคซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ทางเดินหายใจอักเสบ/ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ :เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลดลง ระดับ เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
  • ผลต่อตับ:เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อไต:เช่น ค่า ครีอะตินีน/Creatinine เพิ่มขึ้น กรวยไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด:เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ บวมปลายมือหรือเท้า
  • ผลต่อผิวหนัง:เช่น มีอาการผื่นคัน ผมร่วง

มีข้อควรระวังการใช้เช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้เช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ
  • หากพบอาการข้างเคียงจากยานี้ที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียบ่อยครั้ง วิงเวียนศีรษะมาก ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยานี้ของ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ ยาNivolumab ร่วมกับยาThalidomide และยา Dexamethasone ในการรักษา มะเร็งMultiple myeloma/ มัลติเพิลมัยอีโลมา ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะรับผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่างๆดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาAvelumab ร่วมกับยา Lenalidomide และ Dexamethasone ในการรักษา Multiple myeloma ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะรับผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่างๆดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ ยาDurvalumab ร่วมกับ ยาCorticosteroids ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยา Durvalumab ด้อยลงไป

ควรเก็บรักษาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บรักษาเช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • เก็บยาภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

เช็คพอยท์ อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Opdivo (ออพไดโว)Bristol-Myers
Tecentriq (เทเซนทริก)Genentech
Bavencio (บาเวนซิโอ)EMD Serono
Imfinzi (อิมฟินซี)AstraZeneca
Libtayo (ลิบทาโย)Sanofi

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Checkpoint_inhibitor [2019,Oct26]
  2. https://www.drugs.com/slideshow/checkpoint-inhibitors-advanced-cancers-1250[2019,Oct26]
  3. https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-terms/def/immune-checkpoint-inhibitor[2019,Oct26]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/nivolumab-with-thalidomide-3583-0-2176-0.html[2019,Oct26]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/durvalumab?mtype=generic[2019,Oct26]