เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis)
- โดย นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์
- 13 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- โรคเชื้อราในช่องคลอดมีสาเหตุจากอะไร?
- ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องคลอดมีอะไรบ้าง?
- โรคเชื้อราในช่องคลอดมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอดได้อย่างไร?
- รักษาโรคเชื้อราในช่องคลอดได้อย่างไร?
- ดูแลตนเอง และป้องกันโรคเชื้อราในช่องคลอดได้อย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- โรคเชื้อราในช่องคลอดในสตรีตั้งครรภ์มีผลต่อทารกในครรภ์ไหม?
- บรรณานุกรม
- ตกขาว (Leucorrhea)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- เชื้อรา (Fungal infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ช่องคลอดมีกลิ่น อวัยวะเพศหญิงมีกลิ่น (Vulvovaginal odor)
- แคนดิไดอะซิส (Candidiasis)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
บทนำ
โรคเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสตรีทั่วไป จัด เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถถ่ายทอดโรคไปยังคู่นอนได้ และมักพบการติดเชื้อราร่วมกับการติดเชื้อชนิดอื่นๆได้สูง เช่น โรคเริม หรือ โรคเอดส์ เป็นต้น นอกจากนี้สตรีที่มีภาวะเบาหวาน สตรีที่รับประทานยาสเตียรอยด์ หรือยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานๆ จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อราได้สูงเช่นกัน
โรคเชื้อราในช่องคลอดมีสาเหตุจากอะไร?
โรคเชื้อราในช่องคลอด เกิดจากเชื้อราในกลุ่ม “แคนดิดา ( Candida)” ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ย่อย เชื้อที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบของช่องคลอดที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ “แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans)” โดยมีรูปร่างเป็นเซลล์กลมๆหรือที่เรียกว่า ยีสต์ ซึ่งโดยปกติเป็นเชื้อที่อยู่ในช่องคลอดโดยไม่ทำให้เกิดโรค แต่ถ้าร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานๆ เป็นโรคเบาหวาน โรคเอดส์ หรือมีภาวะอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้เชื้อรามีปริมาณมากขึ้นจนก่อโรค
นอกจากนี้ การใช้ผ้าอนามัยไม่ถูกวิธี คือการใส่แผ่นเดียวเป็นเวลานานๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าอนามัย การใส่กางเกงยีนส์ที่คับแน่น การอยู่ในที่ร้อนชื้นเป็นเวลานาน การฉีดน้ำชำระล้างช่องคลอดและทำความสะอาดไม่ถูกต้อง การที่ช่องคลอดมีความอับชื้น และการใส่กางเกงในที่เปียกหรืออับชื้น ก็จะทำให้เกิดโรคเชื้อราได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องคลอดมีอะไรบ้าง?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องคลอดที่พบบ่อย ได้แก่
1. ภาวะตั้งครรภ์ เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen ) สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณสารไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสในช่องคลอดสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้เชื้อรามีการเจริญเติบโตดีขึ้น นอกจากนี้ปริมาณฮอร์ โมนที่สูงขึ้น ก็จะทำให้เชื้อรามีปริมาณมากขึ้นเช่นกัน
2. โรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมโรคไม่ดี
3. การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานเกินไป จะไปทำลายเชื้อต่างๆที่ทำให้เกิดภาวะสมดุลของเชื้อราในช่องคลอด ทำให้เชื้อราเพิ่มปริมาณมากขึ้น
4. การรับประทานยาสเตียรอยด์ เพราะจะลดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
5. ผู้ป่วยที่มีโรคภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่อง หรือโรคเอดส์
6. การใส่กางเกงที่คับมากและอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น
7. ภาวะที่คู่นอนมีการติดเชื้อรา
โรคเชื้อราในช่องคลอดมีอาการอย่างไร?
ผู้ที่เป็นโรคเชื้อราในช่องคลอด จะมี
- อาการคันเป็นอาการนำที่สำคัญ
- มีตกขาวลักษณะข้นมีสีขาวหรือสีเหลืองนวลเหมือนนมบูด มีกลิ่น
- ผนังช่องคลอดมีลักษณะบวมแดง
- มีอาการคันบริเวณอวัยวะเพศและภายในช่องคลอด
- บางครั้งอาจพบอาการบวมแดงที่บริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย
- บางครั้งช่องคลอดจะมีลักษณะเป็นปื้นแดง เปื่อยยุ่ย เป็นขุย หรือมีลักษณะเป็นฝ้าขาว ผิวแตกเป็นร่อง
- มีอาการแสบเวลาถ่ายปัสสาวะ
- และเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
อนึ่ง โรคเชื้อราในช่องคลอดไม่ใช่สาเหตุของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีก็จริง แต่จะสร้างความรำคาญเป็นอย่างมากจากปริ มาณตกขาวที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ อาจมีสีหรือกลิ่นที่ผิดปกติ และมีอาการคันที่รุนแรงตามมา
แพทย์วินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอดได้อย่างไร?
ส่วนใหญ่แพทย์วินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอดได้จาก
- ประวัติตกขาวที่ผิดปกติมีลักษณะ เฉพาะคือมีสีขาวหรือสีเหลืองนวลคล้ายนมบูด
- และเมื่อนำตกขาวไปตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์จะพบลักษณะสปอร์หรือลักษณะกิ่งก้านของเชื้อรา
รักษาโรคเชื้อราในช่องคลอดได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอด คือ
1. ใช้ยาฆ่าเชื้อรา/ยาต้านเชื้อรา อาจจะเป็นยาสอดทางช่องคลอดกลุ่ม Imidazole derivatives หรือยารับ ประทานกลุ่ม Ketoconazole, Polyene antibiotics หรือ Itraconazole นอกจากนี้ สามารถใช้ยาทาเฉพาะที่เพื่อบรรเทาอาการคันร่วมด้วยได้
2. รักษาปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยเสริมต่างๆที่พบร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคอื่นๆที่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานๆ
3. ต้องรักษาคู่นอนร่วมด้วยเสมอ
4. ในรายที่รักษาไม่หายหรือเป็นเรื้อรัง พยายามตรวจหาโรคเอดส์ หรือโรคเบาหวานด้วยเสมอ
ดูแลตนเอง และป้องกันโรคเชื้อราในช่องคลอดได้อย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
แหล่งของเขื้อราที่ทำให้เกิดเชื้อราในช่องคลอดก็คือ ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งเชื้อราจะปนเปื้อนมากับอุจจาระและพลัดเข้าไปในช่องคลอด แต่โดยปกติเชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตในช่องคลอดได้ เนื่องจากในช่องคลอดมีภาวะเป็นกรด เพราะมีแบคทีเรียประจำถิ่นที่สร้างกรดอ่อนๆประจำอยู่ในช่องคลอด แต่ถ้าแบคทีเรียชนิดนี้ลดลงหรือถูกทำลายไป เช่น ช่วงตั้งครรภ์หรือ ช่วงมีประจำเดือน ก็จะทำให้ช่องคลอดสูญเสียความเป็นกรด เชื้อราก็จะสามารถเจริญเติบโตในช่องคลอดได้
ดังนั้น นอกจากต้องคอยทำความสะอาดให้ถูกวิธี เช่น
- ทำความสะอาดจากช่องคลอดไปทางทวารหนักเพื่อป้องกันไม่ให้อุจจาระเลอะเข้ามาทางช่องคลอดแล้ว
- ยังไม่ควรสวนล้างช่องคลอดโดยไม่จำเป็น เพราะจะไปล้างความเป็นกรดในช่องคลอดทิ้งไป
- พยายามหลีกเลี่ยงความอับชื้นโดยการใช้ผ้าอนามัยแผ่นบางแล้วเปลี่ยนทิ้งบ่อยๆในช่วงที่มีสิ่งคัดหลั่งออกทางช่องคลอดมากกว่าปกติ
- นอกจากนี้ ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ เพราะจะทำลายแบคทีเรียที่มีอยู่ประจำในช่องคลอดด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ สุขอนามัยของสามี เพราะฝ่ายชายมักเป็นพาหะของเชื้อราโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากมีคราบของเชื้อราแห้งติดรอบๆอวัยวะเพศโดยไม่มีอาการคัน หรือมีอาการระคายเพียงเล็กน้อย ดังนั้นฝ่ายชายจึงควรทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ และถ้าภรรยาเป็นเชื้อราก็ต้องทายารักษาเชื้อราพร้อมๆกับภรรยาด้วยเสมอ
สำหรับฝ่ายหญิงถ้ารู้สึกมีตกขาวผิดปกติ โดยเฉพาะถ้ามีตกขาวเป็นก้อนคล้ายตะกอนนม ไม่ว่าจะมีอาการคันหรือไม่ ก็ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ
โรคเชื้อราในช่องคลอดในสตรีตั้งครรภ์มีผลต่อทารกในครรภ์ไหม?
สตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะพบเชื้อราได้มากกว่าสตรีทั่วไปที่ไม่ตั้งครรภ์ เพราะร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากกว่า โดยอาการที่พบได้แก่
- ตกขาวผิดปกติ
- มีอาการคันช่องคลอด/อวัยวะเพศ
*ซึ่งเมื่อช่องคลอดมีความอับชื้น อาจพบอาการดังกล่าวได้มากกว่ากลุ่มสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้
- ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์
- ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
- ส่วนการรักษาใช้วิธีเดียวกับในกลุ่มสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์
บรรณานุกรม
1. Workowski KA, Berman S, Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Sexually transmitted diseases treatment guidelines, 2010. MMWR Recomm Rep 2010; 59:1.
2. Sobel JD, Faro S, Force RW, et al. Vulvovaginal candidiasis: epidemiologic, diagnostic, and therapeutic considerations. Am J Obstet Gynecol 1998; 178:203.
3. Sobel JD. Management of patients with recurrent vulvovaginal candidiasis. Drugs 2003; 63:1059.
4. McClelland RS, Richardson BA, Hassan WM, et al. Prospective study of vaginal bacterial flora and other risk factors for vulvovaginal candidiasis. J Infect Dis 2009; 199:1883.