เจ็บไข้ได้ป่วย ตอนที่ 46 – บำรุงร่างกาย (1)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 14 กันยายน 2565
- Tweet
เจ็บไข้ได้ป่วย – บำรุงร่างกาย (1)
ไม่ว่าเราได้รับการบอกเล่าสักกี่ครั้งเกี่ยวกับอาหารบางอย่างที่ไม่ดีต่อร่างกาย เราก็ยังคงตามใจ (Indulge) ตนเอง ทำไมล่ะ? ก็เพราะเราได้กลายเป็นเหยื่อ (Victim) ของการล้างสมองเชิงพาณิชย์ (Commercial brain-washing) และเราได้สูญเสียเหตุผลที่แท้จริงในการบริโภคอาหาร นั่นคือ เพื่อประโยชน์สูงสุดของการบำรุงร่างกาย
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจชีวเคมี (Bio-chemistry) ของร่างกาย กล่าวคือ ร่างกายของเรา แท้จริงแล้วทำงานอย่างไร? ซึ่งไม่เหมือนกับที่เราอาจเคยได้รับการสั่งสอนตามวัฒนธรรม เพื่อให้เราสามารถควบคุมสุขภาพของเราได้
เพื่อประโยชน์สูงสุดของการบำรุงร่างกายและของพลังงาน (Energy) เราต้องรวมอาหารการกินให้เหมาะสม (Properly combine)
สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือเมื่อเราปรับปรุงการย่อยอาหาร (Digestion) และพลังงาน เราก็จะประหยัดการไปชะล้าง (Cleansing) ร่างกาย และปรับปรุงทุกแง่มุม (Aspect) ของสุขภาพ
ถ้าอาหารการกินมิได้ถูกรวมอย่างเหมาะสม ระบบย่อยอาหาร ต้องทำงานหนัก และระดับพลังของเรา ก็จะลดลงอย่างมาก เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเราต้องได้พลังงานเสริม (Extra energy) เพื่อย่อยอาหาร นี่หมายความว่า ระบบย่อยอาหารของเรา บางครั้งต้องทำงาน (ย่อยอาหาร) 12 – 14 ชั่วโมง ซึ่งมักเป็นเหตุผลว่า ทำไมบางคนตื่นนอนขึ้นมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยในวันถัดไป แม้ว่าจะได้นอนหลับ 7 ถึง 8 ชั่วโมง คำตอบคือ ระบบย่อยอาหารถูกบังคับให้ทำงานตลอดคืนเพื่อย่อยอาหาร
ความอึดอัด (Discomfort) จากอาการอาหารไม่ย่อย (Indigestion) เป็นสิ่งที่พบบ่อยทุกวันนี้ ในสังคมที่อาหารไม่ย่อยยังเกือบถือกันว่า เป็นอาการปรกติ บทพิสูจน์ในเรื่องนี้ก็คือ จำนวนเงินมากที่ใช้ซื้อยากลดกรด (Antacid) ในกระเพาะอาหาร
แต่แทนที่จะใช้ยาเพื่อกดทับ (Suppress) กลุ่มอาการ จะฉลาดกว่าไหม ถ้าเรากำจัด (Remove) สาเหตุที่อาหารไม่ย่อยออกไป?
หลักการ (Principles) ของการรวมอาหาร (Food combining) ถูกกำหนดโดยเคมีการย่อยอาหาร (Digestive chemistry) กฎที่สำคัญสุดเกี่ยวกับการรวมอาหารก็คือ อย่าบริโภคแป้ง (Starch) หรือคาร์โบไฮเดรต (Carbo-hydrate) พร้อมๆ กับโปรตีน ทำไมหรือ?
อาหารแต่ละประเภทต้องการเอนไชม์ (Enzyme = โปรตีนที่ควบคุมปฏิกิริยาชีวเคมีของร่างกาย) ย่อยอาหารที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยกระบวนการในการย่อยอาหาร อาหารโปรตีนต้องการน้ำย่อยอาหารที่เป็นกรด (Acidic juice) ในขณะอาหารคาร์โบไฮเดรตต้องการน้ำย่อยอาหารเป็นด่าง (Alkaline juice)
หมายเหตุ - บล็อกเรื่องอาหารเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่ชัดเจน เพียงแต่มีกลุ่มคนที่ศึกษาในเรื่องนี้มีข้อเสนอแนะที่ต่างออกไป อยากให้ผู้อ่านตระหนักว่า ยังเป็นแนวคิดใหม่ที่กำลังศึกษาอันน่าจะเป็นประโยชน์ แต่ต้องระมัดระวังด้วย ในทางปฏิบัติจึงต้องพิจารณาให้ดีถึงสุขภาพ, นานาโรค, ยาต่างๆ, และคำแนะนำของแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับกันแล้ว ข้อสำคัญ ต้องไม่ให้เกิดโทษ เช่น ปฏิเสธวิธีเดิมทั้งๆ ที่แพทย์แนะนำ เป็นต้น
แหล่งข้อมูล
- Traverso, Matt. (2014). Health, Vitality, and Energy in Your Body (eBook). USA.
- Nutrition - https://en.wikipedia.org/wiki/Nutrition [2022, September 13].
- Protein - https://en.wikipedia.org/wiki/Protein [2022, September 13].
- Carbohydrate - https://en.wikipedia.org/wiki/Carbohydrate [2022, September 13].