เครื่องสำอาง (Cosmetics) และเครื่องประทินผิว (Toiletry)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 กรกฎาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวมีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
- กว่าจะเป็นเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิว มีขั้นตอนอะไรบ้าง?
- เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวมีส่วนประกอบอะไรบ้าง?
- เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร?
- เลือกใช้เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- การแพ้ อาการแพ้ อาการภูมิแพ้ (Allergy reaction)
- สิว (Acne)
- ฝ้า (Melasma)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
บทนำ
เครื่องสำอาง(Cosmetics) และเครื่องประทินผิว บางท่านเรียก เครื่องแป้ง (Toiletry) มีประวัติยาวนานไม่น้อยกว่า 6,000 ปีมาแล้ว โดยพบหลักฐานว่า มนุษย์สมัยก่อนใช้ดินที่มีสีส้ม-แดง(Red ochre) มาผสมโคลนและทรายทาตามร่างกายและใบหน้า ยุคอียิปโบราณก็มีการใช้น้ำมันละหุ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารที่คล้ายขี้ผึ้งหรือครีมมาทาบำรุงผิวหนังและได้พัฒนาเป็นเครื่องสำอางเพื่อประทินผิว ดูแลความสะอาดของร่างกาย-ความสวยงามของใบหน้า
ความหลากหลายของเครื่องสำอางยุคนี้ก่อให้เกิดทางเลือกสำหรับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นและมักจะมีคำถามตามมาว่า “เครื่องสำอาง-เครื่องประทินผิว แบบใดดีที่สุดสำหรับตนเอง”
เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวมีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
เพื่อให้เข้าใจง่ายอาจจำแนกเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ทอยเลทรี(Toiletry) หมายถึง สารหรือผลิตภัณฑ์ที่นำมาชำระทำความสะอาดร่างกายตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า หรืออาจเรียกว่า เครื่องประทินผิว ตัวอย่างของทอยเลทรีในตลาดเครื่องสำอางมีอยู่มากมาย เช่น แชมพู คอนดิชั่นเนอร์ ครีมหมักผม โฟมล้างหน้า คลีนซิ่งโฟม ยาสีฟัน น้ำยาโกนหนวด อาฟเตอร์เชฟ น้ำยาบ้วนปาก สบู่ก้อน สบู่เหลว แป้งทาตัว ครีมกำจัดขน โลชั่นบำรุงผิว โลชั่นกันแดด น้ำหอม โคโลญ ครีมกันแดด เจลหล่อลื่น ปิโตรเลียมเจลลี่ สเปรย์เท้า และอื่นๆ
2. คอสเมติก(Cosmetics) จัดเป็นเครื่องสำอางที่เป็นหมวดย่อยจากทอยเลทรี ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นทำให้เกิดความสวยงามดูดีจนน่าจับตามอง มักจะเป็น เครื่องสำอางที่ใช้กับใบหน้าเสียเป็นส่วนมาก เช่น แป้งผัดหน้า อายไลเนอร์ ลิปติก ลิปกลอส มาสคาร่า ไพรเมอร์ บลัชออน กลิตเตอร์ สเปรย์ทำให้ผมอยู่ทรง แป้งทาตัว และอื่นๆ
*หมายเหตุ: ยังมีผลิตภัณฑ์อีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถผลิตโดยโรงงานเครื่องสำอางที่มีการแยก เครื่องจักร แยกพื้นที่การผลิตออกจากเครื่องสำอาง ที่ใช้กับร่างกายของคนเรา เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยารีดผ้า น้ำยาล้างพื้น น้ำยาขัดห้องน้ำ เจลดับกลิ่น ความเห็นส่วนตัวเฉพาะผู้เขียนผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นเครื่องสำอางของเสื้อผ้าอาภรณ์ อุปกรณ์ประกอบอาหารและสุขภัณฑ์ภายในบ้านเรือน ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวในความหมายที่ใช้เพื่อความงามของคนเท่านั้น’
กว่าจะเป็นเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิว มีขั้นตอนอะไรบ้าง?
ขั้นตอนสำคัญต่างๆในการผลิตเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวที่พอจะสรุปให้เข้าใจ ง่ายมีดังนี้
- งานวิจัยพัฒนาเพื่อเตรียมสูตรตำรับที่จะก่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคส่วนมาก ตลอดจน กระทั่งคิดค้นขั้นตอนการผสมให้ได้เครื่องสำอางที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ตรวจสอบความคงตัว(Stability)เพื่อใช้กำหนดวันหมดอายุ รวมถึงการออกแบบภาชนะบรรจุเครื่องสำอางได้อย่างเหมาะสมสวยงาม ขั้นตอนงานวิจัยนี้จะใช้เวลายาวนานที่สุดในกระบวนการผลิต
- ขั้นตอนทางการตลาด(Marketing) การโฆษณา การจัดจำหน่าย(Sale) ซึ่งต้องอาศัยกลยุทธ์ที่แตกต่างในการแข่งขัน การนำเสนอเพื่อโน้มน้าวผู้บริโภคให้เลือก ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นๆ
- ขั้นตอนการผลิต ที่ต้องมีผู้ควบคุมที่ชำนาญในการใช้เครื่องจักร อย่างเช่น ถังผสม เครื่องบรรจุ รวมไปถึงพนักงานที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
- การตรวจสอบคุณภาพทั้งในระหว่างการผลิต ตลอดจนเป็นสินค้าสำเร็จรูป เพื่อ เป็นการประกันคุณภาพของสินค้าก่อนถึงมือผู้บริโภค
- ขั้นตอนการจัดเก็บในคลังสินค้า เพื่อรอการจัดจำหน่าย
- การกระจายหรือขนส่งผลิตภัณฑ์ไปยังห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ตามคำสั่งซื้อ
เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวมีส่วนประกอบอะไรบ้าง?
องค์ประกอบของเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวหนัง มีความแตกต่างกันออกไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์ และอาจสรุปออกมาในภาพรวมดังนี้
1. สารออกฤทธิ์(Active ingredient) เป็นสารแสดงคุณสมบัติของเครื่องสำอาง เช่น การชำระล้าง การถนอมผิว การเคลือบผิวหนัง การป้องกันรังสียูวี เป็นต้น
2. สารเพิ่มปริมาณ(Diluent) ที่ช่วยเจือจางให้สารออกฤทธิ์มีความเข้มข้นอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ สารเพิ่มปริมาณยังอาจทำหน้าที่อื่นอีก เช่น ช่วยสนับสนุนให้สารออกฤทธิ์ทำงานได้ดีขึ้น
3. สารยับยั้งเชื้อ (Preservative) เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของ แบคทีเรีย หรือของเชื้อรา ในตัวผลิตภัณฑ์ขณะอยู่ในภาชนะบรรจุและหลังการเปิดใช้งาน
4. สารคีเลต(Chelating agent) มีหน้าที่ดักจับโลหะหนัก เช่น เหล็ก สังกะสี ทองแดง ฯลฯ ที่อาจปนเปื้อนมากับวัตถุดิบต่างๆ โลหะหนักดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียโดยทำให้การคงตัวของผลิตภัณฑ์ลดน้อยลง
5. สารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxidants) จะช่วยป้องกันการเหม็นหืนของผลิตภัณฑ์และช่วยทำให้ความคงตัวของผลิตภัณฑ์ดีขึ้น
6. น้ำหอม(Fragrance) เพื่อช่วยปรับสภาพกลิ่นของเครื่องสำอางนั้นๆ ก่อให้เกิดความพึงพอใจต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นด้วยสารเคมีต่างๆที่เป็นองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้น(ข้อ-6) ล้วนแต่เป็นสารประกอบ/สารสังเคราะห์ที่มีกลิ่นเฉพาะตัวและสร้างความรำคาญต่อผู้บริโภคได้
7. รงควัตถุ(Pigment) หรือสีที่ใช้เป็นส่วนประกอบทำให้เครื่องสำอางดูสดใส เตะตาและเป็นที่ชื่นชอบ ในกลุ่มรงควัตถุยังต้องคัดเลือกชนิดที่สามารถละลายในน้ำหรือในไขมัน(Dye and lake pigment) ทั้งนี้ขึ้นกับสูตรตำรับของเครื่องสำอางแต่ละประเภท
อนึ่ง จากส่วนประกอบที่กล่าวมาทั้งหมด ในบางสูตรตำรับของเครื่องสำอางอาจจะใส่จนครบทุกรายการหรือไม่ก็ได้ และปัจจุบันเครื่องสำอางได้เพิ่มจุดขายโดยใช้สารสกัดจากธรรมชาติ น้ำมันหอมระเหย ทองคำ ฯลฯ ที่นอกเหนือจากสารประกอบหลักดังที่กล่าวมาผสมในสูตรตำรับเพื่อใช้เป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์
เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร?
ขั้นตอนการตรวจสอบว่า เครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว ต่างๆ นั้นเหมาะสมต่อตนเองหรือไม่ ให้ตรวจสอบดังต่อไปนี้
1. ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นที่น่าพอใจ เช่น แชมพูสระผมสามารถชำระล้างทำความสะอาดผมได้หมดจรด ไม่ทำให้ผมแข็งกระด้าง หรือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหลายแบรนด์ยังระบุข้อบ่งใช้ว่าเหมาะกับผู้ที่มี ผิวแห้ง ผิวมัน หรือผิวที่แพ้ง่าย เป็นต้น สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ผู้บริโภคควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งาน หลีกเลี่ยงการใช้งานแบบผิดวัตถุประสงค์ อาท นำสบู่ล้างมือมาใช้สระผมหรือฟอกใบหน้า
2. ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อส่วนต่างๆของร่างกาย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชนิดเดียวกันอาจเหมาะสมกับผิวพรรณของผู้บริโภคได้แตกต่างกัน จึงควรเลือกใช้เครื่องสำอางที่ตรงกับผิวพรรณตนเอง และไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง หรือเกิดร่องรอยด่างดำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
3. มีความคงตัวทนต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม เช่น สีสันไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อเปิดใช้งาน สามารถรักษาลักษณะการคงสภาพของเนื้อผลิตภัณฑ์ อาทิ ความใส ความขุ่น ความเหลว การแขวนตะกอน หรือ กลิ่นตลอดจนกระทั่งมีอายุการใช้งานหลังเปิดใช้ได้ยาวนานอย่างเหมาะสม
4. บนฉลากผลิตภัณฑ์ระบุรายละเอียดสำคัญ เช่น ไม่ว่าจะเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนการใช้งาน ชื่อวัตถุออกฤทธิ์ ผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย วัน-เดือน-ปีที่ผลิต วันหมดอายุ ขนาดบรรจุ เลขทะเบียนที่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย(เช่น อย., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) และข้อความในฉลากจะต้องไม่ระบุสรรพคุณเกินความเป็นจริง
5. ภาชนะบรรจุ สามารถปกป้องผลิตภัณฑ์ภายในได้เป็นอย่างดี สะดวกต่อการ เปิดใช้งาน ปัจจุบันภาชนะบรรจุเครื่องสำอางส่วนมากจะแสดงสัญลักษณ์การนำกลับมาแปรรูป(Recycle) เพื่อช่วยลดขยะที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์
6. เครื่องสำอางที่ดี ต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป ไม่แอบอ้างหรือมีขั้นตอนการผลิต-การจัดจำหน่ายที่ผิดกฎหมาย โดยตรวจสอบสัญลักษณ์ทางคุณภาพ เลขทะเบียนการรับรองของหน่วยงานราชการ (เช่น อย., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) หรือสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง
เลือกใช้เครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวอย่างไร?
ขั้นตอนการเลือกใช้เครื่องสำอาง เครืองประทินผิว ที่ระบุดังต่อไปนี้ เป็นเพียงทางเลือกที่มาจากหลากหลายความคิดเห็น ไม่ได้ยึดเป็นบรรทัดฐานตายตัว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้อ่านว่าจะนำไปใช้ปฏิบัติหรือไม่
- เลือกเพราะคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ใช้แล้วตอบสนองต่อความต้องการได้จริง
- เลือกจาก ความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากร้านขายยา หรือสถานพยาบาลหลายแห่งที่ได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้อย่างถูกต้อง
- เลือกแบบสลับสับเปลี่ยนไม่ให้ซ้ำ ด้วยเกรงเรื่องการสะสมสารปนเปื้อนในร่างกาย
- เลือกจากแบรนด์/ยี่ห้อ เช่น “แชมพูแบรนด์ A มีคนใช้มากมายเพื่อนบ้านเราก็ใช้สระผมได้ดี”
- เลือกจาก ราคาสินค้าประเภทเดียวกัน ใช้แล้วก็มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ไม่ก่อให้เกิด อาการแพ้แต่อย่างใดที่เข้าข่ายคำพูดที่ว่า “ถูกและดี”
- เลือกจาก แคมเปญ ลดแลกแจกแถม ในข้อนี้ควรต้องพิจารณาคุณภาพมา ประกอบกัน การลดแลกแจกแถมในช่วงเปิดตัวสินค้าให้เป็นที่รู้จัก เป็นช่องทางที่จะสื่อสารให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าชนิดนั้นๆได้เป็นอย่างดี การเลือกใช้ในระยะยาว ควรใช้ดุลยพินิจอย่างเหมาะสม
- เลือกจากอยากสนับสนุน เช่น เลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากชุมชน หรือสินค้า OTOP
- เลือกที่จะ ผลิตใช้เองในครัวเรือน เกิดความภาคภูมิใจ และปลอดภัย
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_cosmetics [2018,June16]
- https://www.epa.govt.nz/everyday-environment/cosmetics-and-toiletries/ [2018,June16]
- http://www.dictionary.com/browse/toiletries [2018,June16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Cosmetics [2018,June16]
- http://hoshicorp.jp/?gclid=CjwKCAjwiurXBRAnEiwAk2GFZlwzzcq-rLv4H0xqXV_xJ_K1139DsgMiNz_jH1kLRFt1d1TZUZHHghoCAAkQAvD_BwE [2018,June16]
- https://luxaderme.in/blogs/news/16121303-8-tips-for-choosing-the-right-cosmetics-for-your-skin-type [2018,June16]