เครียดซะจน... (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 20 กรกฎาคม 2562
- Tweet
ร่างกายของมนุษย์ถูกออกแบบมาให้รู้จักกับความเครียดและมีการตอบสนองต่อความเครียด โดยความเครียดที่เป็นบวกจะทำให้เราตื่นตัว มีแรงกระตุ้น และพร้อมที่จะหลบหลีกจากภยันตรายต่างๆ ส่วนความเครียดที่เป็นลบเกิดจากการที่เราไม่รู้จักปลดปล่อยหรือผ่อนคลาย ระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายจะสร้างปฏิกริยาตอบสนองกับความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุให้กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป
โดยความเครียดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ความเครียดฉับพลัน (Acute stress) – ความเครียดชนิดนี้จะหายไปได้เร็ว มักเกิดขึ้นเมื่อเราต้องทำสิ่งใหม่ๆ หรือสิ่งที่น่าตื่นเต้น ทุกคนล้วนมีความเครียดฉับพลันได้
2. ความเครียดเรื้อรัง (Chronic stress) - ความเครียดที่กินเวลานานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน หรือชินจนเราไม่รู้สึกว่านี่คือปัญหา
ความเครียดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และสะสมจนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง จะเป็นสาเหตุให้ทั้งร่างกายและจิตใจเกิดความเสียหาย ซึ่งสัมพันธ์กับสาเหตุหลักของการเสียชีวิต เช่น
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจ
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วน
- โรคตับ
- หดหู่ซึมเศร้า
- มีปัญหาเรื่องผิวหนัง เช่น เป็น สิว
- มีปัญหาเรื่องรอบเดือน
- อุบัติเหตุ
- ฆ่าตัวตาย
นอกจากนี้ ความเครียดยังทำให้คนหันไปหาพฤติกรรมหรือพึ่งสารเสพติดต่างๆ เพื่อคลายเครียด เช่น กินอาหาร ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เสพยา เล่นการพนัน มีเพศสัมพันธ์ ช้อปปิ้ง และท่องในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นการเพิ่มความเครียดและก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น จนติดอยู่ในวงจรอุบาทว์
จากงานวิจัยไม่นานนี้ พบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่สามารถทำให้เกิดความเครียดได้ โดยสาเหตุลบที่ติดอันดับต้นๆ ได้แก่ การสูญเสียคนรัก การหย่าร้าง การตกงาน และการมีปัญหาด้านการเงิน ส่วนสาเหตุบวกที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น การย้ายไปอยู่บ้านที่ใหญ่ขึ้น การได้เลื่อนตำแหน่งงาน เป็นต้น
แหล่งข้อมูล:
- Stress. https://www.mentalhealth.org.uk/a-to-z/s/stress [2019, July 19].
- Stress and your health. https://medlineplus.gov/ency/article/003211.htm [2019, July 19].
- Stress. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/11874-stress [2019, July 19].