เคนาล็อกป้ายปาก(Kenalog in orabase)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 กันยายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- เคนาล็อกป้ายปากมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เคนาล็อกป้ายปากมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เคนาล็อกป้ายปากมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เคนาล็อกป้ายปากมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- เคนาล็อกป้ายปากมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เคนาล็อกป้ายปากอย่างไร?
- เคนาล็อกป้ายปากมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเคนาล็อกป้ายปากอย่างไร?
- เคนาล็อกป้ายปากมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สเตียรอยด์ ยาสเตียรอยด์ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
- ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone)
- แผลร้อนใน
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ
บทนำ
ยาเคนาล็อกป้ายปาก(Kenalog in orabase)เป็นยาที่มีส่วนประกอบสำคัญ คือตัวยา Triamcinolone (Triamcinolone acetonide) ขนาดความเข้มข้น 0.1% ลักษณะของยาเคนาล็อกป้ายปาก จะเป็นรูปแบบคล้ายกับยาสีฟัน หรือที่เรียกว่ายาป้าย/เพส(Paste) ซึ่งตัวยาTriamcinolone นี้เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยา คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
ทางคลินิก ยาเคนาล็อกป้ายปาก/ยาเคนาล็อกฯ จะช่วยลดการอักเสบและอาการคันของแผลที่เกิดที่เยื่อเมือกในช่องปาก และยังทำให้หลอดเลือดในเยื่อเมือกที่สัมผัสยานี้หดตัว จึงช่วยลดการอักเสบของเยื่อเมือกช่องปากลงได้อีกวิธี ซึ่งถือเป็นข้อสนับสนุนของการรักษาอาการอักเสบของเยื่อเมือกในช่องปากได้อีกทางหนึ่ง
ยาเคนาล็อกฯ มีวัตถุประสงค์การใช้เพื่อบรรเทาการอักเสบหรือแผลภายในช่องปากเพียงระยะสั้นๆ ซึ่งห้ามใช้ยานี้ป้ายปากกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้ รวมถึงผู้ที่มีการติดเชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย ภายในช่องปากและคอ โดยทั่วไป การใช้ยานี้ไม่เกิน 7 วัน ก็จะทำให้แผลภายในช่องปากฟื้นสภาพและหายเป็นปกติ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรต้องรีบกลับมาปรึกษากับแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับการรักษา
ยาเคนาล็อกฯ สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ หรือระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายได้ เช่น ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือมีน้ำตาลปนมากับปัสสาวะ(ภาวะปกติ จะไม่มีมีน้ำตาลในปัสสาวะ) เป็นต้น
ยาเคนาล็อกป้ายปาก ถูกออกแบบมาให้ใช้ป้ายริมฝีปากและป้ายเนื้อเยื่อ/เยื่อเมือกภายในช่องปากเท่านั้น ห้ามนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ อย่างเช่น นำมาป้ายตา หรือทาผิวหนัง
อนึ่ง ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่ม ที่ไม่เหมาะกับการใช้ยาเคนาล็อกฯ เช่น
- กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ ด้วยตัวยาTriamcinolone สามารถทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้ หรือ
- การใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ก็ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่เพียงพอที่จะมาสนับสนุนความปลอดภัยของทารกจากการที่มารดาใช้ยานี้ และ
- การใช้ยานี้กับเด็ก และผู้สูงอายุ ควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น
ก่อนการใช้ยาเคนาล็อกป้ายปาก ผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรที่ประจำตามร้านขายยา
โดยทั่วไป สามารถพบเห็นการใช้ยาเคนาล็อกป้ายปากได้ในสถานพยาบาลต่างๆ ในคลินิกทันตกรรม และยังมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป
เคนาล็อกป้ายปากมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเคนาล็อกป้ายปากมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดและบรรเทาอาการอักเสบของแผลในปากชนิดที่ไม่มีการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือ แบคทีเรีย
เคนาล็อกป้ายปากมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเคนาล็อกฯ คือตัวยา Triamcinolone จะออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสารโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Lipocortins ทำให้เกิดการควบคุมการสังเคราะห์สารที่เป็นสื่อกลางของการอักเสบ เช่นสาร Prostaglandins และ Leukotrienes จากกลไกนี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาการอักเสบได้ตามสรรพคุณ
เคนาล็อกป้ายปากมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเคนาล็อกฯมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็นยาชนิดใช้ป้ายรอยโรค/เพส (Paste) ที่มีความเข้มข้นของยา Triamcinolone acetonide 0.1%
เคนาล็อกป้ายปากมีขนาดการบริหารยาอย่างไร
ยาเคนาล็อกป้ายปากมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: บีบยาจากซองหรือจากหลอดให้มีระยะความยาวยาประมาณ 1/4 นิ้ว ป้ายช่องปากบริเวณที่เป็นแผล วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน หรือป้ายยาบ่อยตามคำสั่งแพทย์ กรณีที่ต้องป้ายยาวันละ 2 – 3 ครั้ง ให้ป้ายยาหลังจากรับประทานอาหารแล้ว
- เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
* อนึ่ง ล้างมือทำความสะอาดทุกครั้งก่อนและหลังป้ายยานี้
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเคนาล็อกฯ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเคนาล็อกฯ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต่างๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาเคนาล็อกฯ สามารถใช้ยาเคนาล็อกป้ายปากเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาเคนาล็อกป้ายปากในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า
เคนาล็อกป้ายปากมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเคนาล็อกป้ายปากสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น อาจทำให้รู้สึกแสบคันในบริเวณที่ป้ายยานี้ และการใช้ยานี้ในปริมาณมาก หรือใช้ต่อเนื่องยาวนาน ยานี้อาจถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้มาก จนอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ หรือระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายได้ เช่น ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือมีน้ำตาลปนมากับปัสสาวะ(ในภาวะปกติ จะไม่มีน้ำตาลปนมาในปัสสาวะ) เป็นต้น นอกจากนั้น การใช้ยานี้ต่อเนื่องยาวนานในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ยานี้อาจชะลอการเจริญเติบโตของเด็กได้
มีข้อควรระวังการใช้เคนาล็อกป้ายปากอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเคนาล็อกป้ายปาก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้ ป้ายตา หรือป้ายผิวหนังภายนอก
- ห้ามใช้ยานี้นานติดต่อกันเกินคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับแผลในปากที่มีการติด เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเคนาล็อกป้ายปากด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เคนาล็อกป้ายปากมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยยาเคนาล็อกป้ายปาก มีการใช้ต่อครั้งเป็นปริมาณน้อย และใช้ป้ายเฉพาะที่ที่มีแผลในช่องปาก จึงยังไม่มีรายงานปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดอื่นๆ
ควรเก็บรักษาเคนาล็อกป้ายปากอย่างไร?
สามารถเก็บยาเคนาล็อกฯในช่วงอุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
เคนาล็อกป้ายปากมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง
ยาเคนาล็อกฯที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Generlog (เจเนอล็อก) | General Drugs House |
Kanolone Dental Paste (คาโนโลน เดนทอล เพส) | L.B.S. |
Kenalog In Orabase (เคนาล็อก อิน ออราเบส) | Bristol-Myers Squibb |
Metoral (เมโทรัล) | Unison |
Musaral Oralbase (มูซารัล ออรัลเบส) | T.Man Pharma |
Oral-t (ออรัลที) | Silom Medical |
T-Ora (ทีออรา) | 2M(Med-Maker) |
บรรณานุกรม
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2002/12097s16lbl.pdf [2016,Aug20]
- https://www.drugs.com/pro/kenalog-orabase.html [2016,Aug20]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/kenalog%20in%20orabase/ [2016,Aug20]
- http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/2533385 [2016,Aug20]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/generlog/?type=brief [2016,Aug20]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/metoral/?type=brief [2016,Aug20]