เกิดมาเซ (ตอนที่ 1)

เกิดมาเซ-1

      

      จากข่าวของนายทหารประจำกรมการทหารสื่อสาร ช่วยราชการกองส่งกำลังบำรุง กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก ที่ประสบกับโรคสูญเสียการทรงตัวในวัย 47 ปี และเปิดเฟซบุ๊กเพจขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูล แนวทางการรักษา การดูแลตัวเองและเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่เจ็บป่วยไม่ว่าด้วยโรคอะไรก็ตาม

      นายทหารผู้นั้นได้กล่าวว่า มีคนทักว่าเดินเซจึงได้ไปทำการตรวจกับแพทย์ ผลการวินิจฉัยเบื้องต้นคาดว่าเป็นโรคเดินเซจากพันธุกรรม (Spinocerebellar Ataxia) หรือเรียกย่อว่า SCA ระดับ SCA3 และได้ความว่าโรคนี้เป็นแล้วจะรักษาไม่หาย มีแต่ทรงกับทรุด หากดูแลตัวเองดีก็จะทรงตัว แต่ถ้าไม่ดูแลตัวเองเลยก็จะทรุด

      นายทหารกล่าวเพิ่มเติมถึงอาการของโรคสูญเสียการทรงตัวว่า มีอาการการเดินไม่ดี การเคลื่อนไหวลำบาก การยืนต้องมีการจับ การกลืนจะยากเพราะว่าจะสำลักอยู่บ่อยๆ รวมถึงการพูดด้วย แต่เมื่อนั่งแล้วก็จะไม่มีปัญหาอะไร

      โดยโรคนี้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ โอกาสที่จะเกิดโรคนี้คิดเป็นร้อยละ 50 ทุกการเกิดจะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นปู่มีพี่น้อง 6 คน เป็นโรค 3 คน สู่รุ่นพ่อมี 4 คน พี่น้องเป็นโรคนี้ 2 คน และสู่รุ่นตนเองที่มี 2 คน ซึ่งตนเองเป็นโรคนี้แต่พี่ชายไม่เป็น ซึ่งคุณปู่เป็นโรคนี้ตอนอายุ 65 ปี คุณพ่อเป็นโรคนี้ตอนอายุ 60 ปี ส่วนตนเองมีอาการตอนอายุ 42 ปี

      ทั้งนี้ มีข้อมูลจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าที่ระบุว่า โรคเดินเซจากพันธุกรรม ทำให้สมองน้อยและไขสันหลัง และระบบประสาทส่วนปลายซึ่งต่อมาจากไขสันหลังของผู้ป่วยทำงานผิดปกติ จะมีการฝ่อลีบลงของสมองน้อย

      โรคนี้จะปรากฏช้าคือเป็นในวัยผู้ใหญ่ไม่เกิดในเด็ก และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สามารถยับยั้งได้ มีอัตราการเกิด 16:100,000 คน

      ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะสูญเสียความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของตน เกิดภาวะเดินเซ พูดไม่เป็นความ พูดไม่ชัด และมีอาการตากระตุก นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการสั่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และภาวะผิดปกติของการนอนหลับ ทั้งยังมีโรคแทรกซ้อนขึ้นมาในระหว่างการป่วยได้

      ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดในผู้ป่วยโรคนี้ และไม่มีวิธีฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยให้กลับเป็นปกติเช่นเดิมได้ แต่สามารถบรรเทาอาการของความรุนแรงได้ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีกว่าไม่รักษา โรคนี้ดูแลโดยอาศัยการทำกายภาพบำบัดและรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนพร้อมรักษาอาการก่อนเป็นมาก

      โรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานจากสมองน้อยและไขสันหลัง หรือ โรคเดินเซจากพันธุกรรม (Spinocerebellar Ataxia = SCA / Spinocerebellar atrophy / Spinocerebellar degeneration) เป็นโรคทางระบบประสาทที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เกิดจากภาวะเสื่อมของสมองควบคุมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า สมองน้อย (Cerebellum) หรือบางทีก็เกิดจากไขสันหลัง (Spinal cord)

      โรคนี้สามารถถ่ายทอดได้ทั้งทางพันธุกรรมลักษณะเด่น (Autosomal dominant) และลักษณะด้อย (Autosomal recessive) สำหรับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมลักษณะเด่นนั้น เมื่อบุคคลได้รับยีนผิดปกติเพียงยีนหนึ่งจากพ่อหรือแม่ก็มีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ถึงร้อยละห้าสิบ เช่นเดียวกับลูกของผู้ป่วยซึ่งมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ถึงร้อยละห้าสิบเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี บางคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นพาหะจนกระทั่งลูกของตัวเองเกิดอาการผิดปกติ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. เผยชีวิต “เสธ.วีร์” นายทหารสื่อสาร ประสบ “โรคสูญเสียการทรงตัว” ในวัย 47 ปี. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000092923 [2019, March 10].
  2. Spinocerebellar ataxia. https://rarediseases.info.nih.gov/diseases/10748/spinocerebellar-ataxia [2019, March 10].
  3. Spinocerebellar ataxia. https://en.wikipedia.org/wiki/Spinocerebellar_ataxia [2019, March 10].