เกร็ด 10 คำถามถามบ่อยเกี่ยวกับโรคลมชัก (Epilepsy Q and A)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 27 มกราคม 2556
- Tweet
โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคที่พบบ่อย ประมาณ 1% ของประชากรทั้งหมด และเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความตกใจต่อผู้พบเห็นหรือต่อญาติ ผู้ป่วยต้องถูกห้ามทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การขับรถ การเล่นกีฬาทางน้ำ เป็นต้น การรักษาต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานาน 2-3 ปี ดังนั้น ผู้ป่วยและญาติมักจะมีคำถามที่เกี่ยวกับโรคลมชักเป็นจำนวนมาก ในที่นี้จะกล่าวถึง 10 คำถามที่พบบ่อยและควรรู้
คำถามที่ 1 โรคลมชักคืออะไร?
โรคลมชัก คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอา การผิดปกติได้หลายแบบ เช่น
- การชักเกร็งกระตุกทั้งตัวและหมดสติ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “โรคลมบ้าหมู”
- การชักเกร็งหรือกระตุกเฉพาะส่วนของร่างกาย เช่น แขน ขา ใบหน้า
- การนั่งนิ่งเหม่อลอยเป็นพักๆ
- รวมทั้ง พฤติกรรมแปลกๆ
- อาการดังกล่าวจะเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลาสั้นๆ เช่น 1-3 นาที และมีอาการเกิดซ้ำโดยมีลักษณะคล้ายเดิมๆ
คำถามที่ 2 โรคลมชักเกิดจากสาเหตุอะไร?
สาเหตุของโรคลมชักที่พบบ่อยในแต่ละช่วงอายุแตกต่างกัน เช่น
- วัยแรกเกิดมีสาเหตุจากภาวะสมองขาดออกซิเจน การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์
- วัยเด็กเล็กมักเกิดจากภาวะติดเชื้อในสมอง ไข้ขึ้นสูง
- วัยรุ่นเกิดจากอุบัติเหตุต่อศีรษะ เช่น มอเตอร์ไซค์ล้ม หรือ ไม่ทราบสาเหตุ
- วัยกลางคนเกิดจากภาวะเนื้องอกสมอง
- วัยสูงอายุเกิดจากโรคอัมพาต โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเนื้องอกสมอง
คำถามที่ 3 โรคลมชักรักษาหายหรือไม่?
โรคลมชัก เป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรค (โอกาสรักษาหาย) ที่ดีโรคหนึ่ง โดย 2 ใน 3 ของผู้ป่วยสามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยที่เหลือครึ่งหนึ่งสามารถรักษาให้ไม่มีอาการชักได้ เพียงแต่ต้องรับประทานยากันชักอย่างต่อเนื่อง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น (ประมาณ 10%) ที่ไม่สามารถหยุดอาการชักได้ด้วยยา และต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
คำถามที่ 4 โรคลมชักมีวิธีการรักษากี่วิธี?
การรักษาโรคลมชัก มี 2 วิธีหลัก
- วิธีแรก คือ การรับประทานยากันชัก ซึ่งผู้ป่วยมากกว่า 95% รับประทานยากันชัก
- วิธีที่สอง คือ การผ่าตัดสมอง ในกรณีผู้ป่วยมีสาเหตุการชักจากสมองมีความผิดปกติ เช่น โรคเนื้องอกสมอง ภาวะเลือดออกในสมอง เป็นต้น หรือในกรณีผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยากันชักและมีสมองส่วนกลีบขมับฝ่อ (Hippocampal sclerosis) การผ่าตัดก็เป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาโดยการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (Vagus nerve, ประสาทที่ออกจากสมองเส้นที่10) เพื่อช่วยยับยั้งการทำงานที่ผิดปกติของสมองที่กระตุ้นให้เกิดการชัก ซึ่งเป็นวิธีที่ยังใช้กันไม่มากเพราะทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์รักษาโรคลมชักเท่านั้ ผลการรัก ษาก็ไม่แตกต่างกับวิธีอื่นๆ มีค่าใช้จ่ายสูง และสิทธิ์การรักษาทั้ง 3 สิทธิ์ยังไม่คอบคลุมการรัก ษาด้วยวิธีนี้
คำถามที่ 5 ต้องรับประทานยากันชักนานเท่าใด?
โดยทั่วไปต้องรับประทานยากันชักติดต่อกันนานประมาณ 2 ปี นับจากควบคุมอาการชักได้ หลังจากนั้นจะค่อยๆลดขนาดยาลงอย่างช้าๆภายในระยะเวลา 6-12 เดือน สรุปแล้วผู้ป่วยต้องรับประทานยากันชักนานประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปีนับตั้งแต่เริ่มรับประทานยากันชัก
คำถามที่ 6 จำเป็นต้องรับประทานยากันชักทุกคนหรือไม่?
ผู้ป่วยโรคลมชักไม่จำเป็นต้องรับประทานยากันชักทุกคน เช่น ในผู้ป่วยที่มีการชักเพียงครั้งเดียว การชักนานๆครั้ง (น้อยกว่า 1 ครั้งต่อปี) หรือในกรณีที่มีการชักชนิดไม่รุนแรงและการชักเป็นเฉพาะช่วงที่นอนหลับเท่านั้น ผู้ป่วยเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยากันชัก เพราะมีโอกาสการชักซ้ำน้อยมากและผลเสียจากการชักก็น้อยมากเช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่มีการชักตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป และเป็นการชักทั้งตัว หมดสติ มักจำเป็นต้องรับประทานยากันชัก แต่อย่างไรก็ตามความจำเป็นต้องรับประทานยากันชักหรือไม่ ต้องพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวกับ ข้อดี – ข้อเสีย ของการรับประทานยากันชักหรือไม่รับประทานในผู้ป่วยเป็นรายๆไป
คำถามที่ 7 ผู้ป่วยโรคลมชักมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปหรือไม่?
โดยทั่วไปแล้วโอกาสเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคลมชัก ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป แต่มีราย งานจากต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่า จากภาวะเสียชีวิตกะทันหันแบบไม่ทราบสาเหตุ คล้ายกับผู้ป่วยไหลตาย (Sudden unexpected death in epileptic patient: SUDEP) ซึ่งยังไม่พบในผู้ป่วยโรคลมชักไทย ดังนั้นโอกาสการเสียชีวิตจึงขึ้นอยู่กับสา เหตุของโรคลมชักมากกว่า เช่น โรคเนื้องอกสมอง โรคอัมพาตจากหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการชัก เช่น ชักขณะขับรถ ชักขณะอยู่ในที่สูง ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกเนื่องจากขณะชักมีอาการหมดสติส่งผลให้เกิดอุบัติ เหตุและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้
คำถามที่ 8 การปฏิบัติตัวที่เหมาะสมเป็นอย่างไร?
การปฏิบัติตัวเป็นสิ่งที่สำคัญในการรักษาโรคลมชัก ผู้ป่วยต้องรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยากันชักเองทันที ควรงดหรือลดความถี่การขับรถเพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าเกิดอาการชักขณะขับรถ กรณีเจ็บป่วยเมื่อไปพบแพทย์ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเป็นโรคลมชักและรับประทานยาชนิดใด ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรอดนอน พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องปะทะกัน กีฬาที่ผาดโผน หรือกีฬาทางน้ำ การปฏิบัติตัวที่ดีจะนำ ไปสู่การควบคุมการชักที่ดี
คำถามที่ 9 อาหารแสลงในผู้ป่วยโรคลมชักมีหรือไม่?
ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิดที่ถูกสุขลักษณะทางโภชนาการ ไม่มีอาหารต้องห้ามใดๆ รวมทั้งเนื้อหมูก็รับประทานได้ มีผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปจำนวนหนึ่งเข้า ใจว่าเนื้อหมูเป็นของต้องห้าม เพราะเชื่อว่าโรคลมชักเกิดจากเทพเจ้าที่มีหมูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะโรคลมชักคนทั่วไปเรียกว่าโรคลมบ้าหมู
คำถามที่ 10 ผู้ป่วยหญิงโรคลมชักสามารถแต่งงานและมีบุตรได้หรือไม่?
ผู้ป่วยหญิงโรคลมชักสามารถแต่งงานและมีบุตรได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่มีข้อแนะนำว่าถ้าต้องการมีบุตรนั้น ต้องควบคุมการชักได้เป็นอย่างดี และหยุดยากันชักได้แล้วจะดีที่สุด แต่ถ้าต้องรับประทานยากันชักในช่วงการตั้งครรภ์ ก็ควรเป็นในขนาดต่ำๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์