ฮีสตาออฟ (Hista-oph)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 เมษายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ ยาอะไร?
- ฮีสตาออฟมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ฮีสตาออฟมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฮีสตาออฟมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฮีสตาออฟมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?
- ฮีสตาออฟมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฮีสตาออฟอย่างไร?
- ฮีสตาออฟมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฮีสตาออฟอย่างไร?
- ฮีสตาออฟมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- แอนตาโซลีน (Antazoline)
- เตตระไฮโดรโซลีน (Tetrahydrozoline) หรือเตทริโซลีน (Tetryzoline)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
ยาหยอดตาฮีสตาออฟ/ฮีสตาออฟ (Hista oph) คือ ยาช่วยลดอาการระคายเคืองที่ตา (อ่านเพิ่มเติม ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา) ประกอบด้วยตัวยา 2 ชนิด คือยา Antazoline 0.05% และยา Tetrahydrozoline 0.04%
ก. Antazoline: เป็นสารต้านฮีสตามีน (Histamine) มีคุณสมบัติลดอาการแพ้, อาการคั่งของน้ำมูก, รวมถึงอาการระคายเคืองที่ตา
ข. Tetrahydrozoline: เป็นสารในกลุ่มยา แอลฟา-1 อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Alpha -1 adrenergic receptor agonist) ออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดหดตัวจึงช่วยลดอาการ บวม แดง ยาชนิดนี้หากรับประทานเข้าไปอาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงได้
ยาทั้ง 2 ตัวถือเป็นสารสำคัญที่คอยออกฤทธิ์ในการรักษา สูตรตำรับนี้ไม่มียาฆ่าเชื้อหรือยาสเตียรอยด์ใดๆเป็นองค์ประกอบ การเลือกใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค ควรได้รับการคัดกรองจากแพทย์/จักษุแพทย์ก่อนทุกครั้ง
ฮีสตาออฟมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาฮีสตาออฟ มีสรรพคุณการรักษา/ข้อบ่งใช้:
- ลดและบรรเทาอาการแพ้ ระคายเคือง อาการบวมแดง ในบริเวณตา
ฮีสตาออฟมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ฮีสตาออฟมีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้
- ยา Antazoline จะออกฤทธิ์ต่อต้านสารฮีสตามีน (Histamine) ที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อาการระคายเคืองภายในตา
- สำหรับตัวยา Tetrahydrozoline จะทำให้หลอดเลือดฝอยภายในตาหดตัวลงทำให้ลดอาการ บวม แดง
จากกลไกของยาทั้ง 2 ตัว จึงทำให้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ฮีสตาออฟมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฮีสตาออฟมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาหยอดตา ขนาดบรรจุ 5 และ 10 มิลลิลิตร /ขวด
ฮีสตาออฟมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาฮีสตาออฟมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา: เช่น
- ผู้ใหญ่: หยอดตาครั้งละ 1 - 2 หยดวันละ 4 - 6 ครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในการใช้ยานี้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ:
- หลังเปิดใช้ยาแล้วควรเก็บยาภายในตู้เย็นและใช้ต่อได้ไม่เกิน 1 เดือน
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฮีสตาออฟ/ยาหยอดตาฮีสตาออฟ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฮีสตาออฟอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?
หากลืมหยอดตาด้วยยาฮีสตาออฟ สามารถหยอดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ หยอดตาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ฮีสตาออฟมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฮีสตาออฟอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น อาจพบ
- อาการตาระคายเคือง
- การมองภาพไม่ชัดเจน หรือ
- ไม่พบอาการข้างเคียงใดๆเลยก็ได้
มีข้อควรระวังการใช้ฮีสตาออฟอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฮีสตาออฟ: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบของสูตรตำรับนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่เป็น ต้อหิน ประเภท Narrow-angle glaucoma
- ขณะหยอดยาหยอดตานี้ ห้ามมิให้ปลายหลอดยาสัมผัสกับนิ้วมือ เปลือกตา/หนังตา ลูกตา เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ
- ห้ามใช้ยานี้กับ เด็กทารก และการใช้ยานี้ในเด็กต้องได้รับคำสั่งยืนยันจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- การใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรได้รับคำยืนยันจากแพทย์ผู้รักษาโดยพิจารณาเป็นกรณีๆไป
- หยุดใช้ยานี้เมื่ออาการดีขึ้น ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้เป็นเวลานานเกินไป ระยะเวลาของการใช้ยานี้ควรเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์/จักษุแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฮีสตาออฟด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฮีสตาออฟมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ใช้หยอดตาซึ่งจัดเป็นยาใช้ภายนอก จึงยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษาฮีสตาออฟอย่างไร?
สามารถเก็บยาฮีสตาออฟ:
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ฮีสตาออฟมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฮีสตาออฟ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Allergis (อัลเลอจิส) | Thai Nakorn Patana |
Antazallerge (แอนตาซาเลิจ) | Siam Bheasach |
Histaoph (ฮีสตาออฟ) | Seng Thai |
Opsil-A (ออฟซิล-เอ) | Silom Medical |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Antazoline [2021,April24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tetryzoline [2021,April24]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682563.html#side-effects [2021,April24]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/hista-oph?type=full [2021,April24]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Allergis/ [2021,April24]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Opsil-A/?type=brief [2021,April24]