ฮาโลแฟนทรีน (Halofantrine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฮาโลแฟนทรีน(Halofantrine หรือ Halofantrine hydrochloride หรือ (Halofantrine HCl) เป็นยารักษาโรคมาลาเรียซึ่งใช้ได้ผลดีกับเชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยา Chloroquine รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาฮาโลแฟนทรีนเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้าๆ โดยใช้เวลาประมาณ 3–7 ชั่วโมง จึงจะทำให้ยาในกระแสเลือดมีระดับสูงที่สุด และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6–10 วันเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด

ยาฮาโลแฟนทรีน เหมาะที่จะใช้เป็นยารักษามาลาเรียมากกว่านำมาใช้เป็นยาป้องกัน ด้วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดพิษ/ผลข้างเคียงที่รุนแรงและการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของยานี้ไม่ค่อยแน่นอน ยานี้สามารถต่อต้านโรคมาลาเรีย ที่มีสาเหตุจากเชื้อ Plasmodium(P) falciparum หรือ Plasmodium vivax โดยตัวยาจะทำลายเชื้อมาลาเรียในเลือดที่เชื้อยังอยู่ในระยะไม่มีเพศเท่านั้น

มีข้อจำกัดสำคัญบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยาฮาโลแฟนทรีน ดังนี้ เช่น

  • ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อมาลาเรีย (P. vivax) แบบเฉียบพลัน อาจไม่เหมาะที่จะใช้ยานี้เพื่อรักษา ด้วยตัวยาฮาโลแฟนทรีนไม่สามารถทำลายเชื้อมาลาเรียในระยะเฉียบพลัน(เชื้อมีชีวิตในระยะ Exoerythrocytic/Hepatic phase)จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้อาการโรคทรุดลง ดังนั้น แพทย์จะเป็นผู้คัดกรองและเลือกใช้ยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาผู้ป่วย
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีภาวะคลื่นไฟฟ้า หัวใจผิดปกติ ผู้ที่ร่างกายอยู่ในภาวะขาดไทอะมีน(Thiamine) หรือร่างกาย มีสมดุลของเกลือแร่ผิดปกติ
  • ห้ามใช้กับผู้ที่รับประทานยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงยา Mefloquine
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ยานี้ควรรับประทานช่วงท้องว่างเพราะจะเพิ่มการดูดซึมยาได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร การรับประทานยาพร้อมอาหารอาจลดการดูดซึมตัวยาและก่อผลเสียต่อผู้ป่วยเอง
  • ระหว่างการใช้ยานี้ หากมีอาการวิงเวียน ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่พาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรต่างๆด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการออกแดดเพราะจะเกิดผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย ผู้ป่วยควรสวมเสื้อปกปิดผิวหนังให้มิดชิดเมื่อต้องการออกในที่โล่งแจ้ง/ออกแดด หรือใช้โลชั่น/ยากันแดดทาผิวหนังเพื่อป้องกัน

การใช้ยาฮาโลแฟนทรีน อาจพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อื่นๆได้เช่นกัน อาทิเช่น ไอ ท้องเสีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน โดยทั่วไป อาการข้างเคียงเหล่านี้จะหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยานี้

*สำหรับผู้ที่ได้รับยาฮาโลแฟนทรีนเกินขนาด อาจสังเกตได้จากมีอาการขาดสติ เกิดอาการชัก ท้องเสียรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว ปวดท้อง หรือเป็นตะคริวที่ท้อง และอาเจียนรุนแรง กรณีเช่นนี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

การใช้ยาฮาโลแฟนทรีนได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด และห้ามมิให้ผู้ป่วยซื้อยานี้มารับประทานเอง และ/หรือ ปรับขนาดการรับประทานยานี้ด้วยตนเองเด็ดขาด

ฮาโลแฟนทรีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ฮาโลแฟนทรีน

ฮาโลแฟนทรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ

  • ใช้บำบัดรักษาการติดเชื้อมาลาเรียที่มีสาเหตุจากสายพันธุ์ P.falciparum และ P.vivax โดยตัวยาสามารถทำลายเชื้อมาลาเรียในกระแสเลือดในระยะที่เชื้อยังไม่มี เพศ(Asexual blood form)

ฮาโลแฟนทรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ข้อมูลทางคลินิก ระบุว่ากลไกการออกฤทธิ์ของยาฮาโลแฟนทรีนต่อเชื้อมาลาเรียยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าตัวยาฮาโลแฟนทรีนทั้งก่อนและหลังจากถูกเปลี่ยนรูปทางเคมี(Metabolite)โดยตับ สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อมาลาเรียในกระแสเลือดได้ จึงทำให้อาการของผู้ป่วยทุเลาและดีขึ้นตามลำดับ

ฮาโลแฟนทรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฮาโลแฟนทรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Halofantrine HCl ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด

ฮาโลแฟนทรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฮาโลแฟนทรีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง ให้รับประทานยา 3 ครั้งแต่ละครั้งให้เว้นเวลาห่างกันทุก 6 ชั่วโมง และแพทย์อาจต้องใช้ยาซ้ำหลังจากใช้ยา 3 ครั้งแรกในสัปดาห์ถัดมา ทั้งนี้ให้เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ที่เห็นเหมาะสม
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง: อาจสรุปการใช้ยานี้ให้เข้าใจง่ายๆ คือ วันแรกและวันที่ 7 ให้รับประทานยา ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมงวันละ 3 ครั้ง และต้องรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง อย่างไรก็ตาม ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาให้ขึ้นกับคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฮาโลแฟนทรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฮาโลแฟนทรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เนื่องจากการรับประทานยาฮาโลแฟนทรีน มีกำหนดเพียง 3 มื้อในวันแรก และอาจให้ยาซ้ำในวันที่ 7 ดังนั้น กรณีที่ลืมรับประทานยานี้ มื้อใดมื้อหนึ่ง ให้ผู้ป่วยต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณษปรับแนวทางการให้ยาใหม่

ฮาโลแฟนทรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฮาโลแฟนทรีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้น ผิดจังหวะจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก อาเจียน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นหรืไม่ก็ลดลง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน มีอาการชัก ซึม ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อย
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ ปอดบวม
  • ผลต่อตับ: ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวาย

มีข้อควรระวังการใช้ฮาโลแฟนทรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฮาโลแฟนทรีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนแปลงไป
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
  • ใช้ยานี้ตรงขนาดและตรงเวลาตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฮาโลแฟนทรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฮาโลแฟนทรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฮาโลแฟนทรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาฮาโลแฟนทรีนร่วมกับยา Amiodarone, Mefloquine, Moxifloxacin, ด้วยจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดปกติตามมา
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาฮาโลแฟนทรีนร่วมกับน้ำผลไม้ เช่น Grapefruit juice ด้วยจะทำให้ระดับยาฮาโลแฟนทรีนในกระแสเลือดเพิ่มสูง จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงรุนแรงจากยานี้ตามมา
  • การใช้ยาฮาโลแฟนทรีนร่วมกับยา Loperamide ในปริมาณมากๆ อาจเป็นเหตุให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงขั้นหยุดเต้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาฮาโลแฟนทรีนอย่างไร?

เก็บยาฮาโลแฟนทรีนภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ฮาโลแฟนทรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฮาโลแฟนทรีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
HALFAN (ฮาลแฟน)King Pharmaceuticals, Inc

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Halofantrine[2017,April22]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2002/20250s7s8lbl.pdf[2017,April22]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/halofantrine/?type=brief&mtype=generic[2017,April22]
  4. https://www.drugs.com/cdi/halofantrine.html[2017,April22]