ฮอร์โมนทดแทนบำบัด (Hormone replacement therapy)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 มกราคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ฮอร์โมนทดแทนบำบัดคืออะไร?
- ทราบได้อย่างไรว่าต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนบำบัด?
- ฮอร์โมนทดแทนบำบัดเหมาะที่จะรักษาอาการหรือโรคประเภทใดบ้าง?
- ฮอร์โมนที่นำมาใช้ทดแทนบำบัดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- การทำฮอร์โมนทดแทนบำบัดมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ฮอร์โมนทดแทนบำบัดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฮอร์โมนทดแทนบำบัดอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับฮอร์โมนทดแทนบำบัด?
- ควรเก็บรักษายาประเภทฮอร์โมนอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาอินซูลิน (Insulin)
- เลโวไทรอกซีน ไทรอกซิน เอลทรอกซิน (Levothyroxine)
- โกรทฮอร์โมน (Human Growth Hormone Drugs)
- อนาบอลิก-แอนโดรจีนิกสเตียรอยด์ (Anabolic-androgenic steroids)
- ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชาย
- ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง
บทนำ
ฮอร์โมน เป็นสารชีวโมเลกุลที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ ผลิตจากอวัยวะระบบต่อมไร้ท่อที่อยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย ฮอร์โมนจะทำหน้าที่เหมือนผู้นำข่าวสารหรือเป็นผู้นำสัญญาณต่างๆไปยังอวัยวะเป้าหมายให้ทำงานตามคำสั่งของฮอร์โมนแต่ละชนิด การส่งฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อที่เป็นแหล่งกำเนิดไปยังอวัยวะเป้าหมายต้องอาศัยระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นสำคัญ นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งฮอร์โมนของร่างกายเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ฮอร์โมนที่เป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโนหรือเอมีนฮอร์โมน(Amine Hormone) เป็นกลุ่มฮอร์โมนที่มีต้นกำเนิดหรือโครงสร้างพื้นฐานมาจากกรดอะมิโนที่เป็นหน่วยย่อยๆของโปรตีนในร่างกาย เช่น
- เมลาโทนิน ฮอร์โมน(Melatonin) มีต้นกำเนิดจากกรดอะมิโนที่ชื่อ ทริปโตแฟน (Tryptophan)
- ไทรอยด์ฮอร์โมน(T4, T3) มีต้นกำเนิดจากกรดอะมิโนที่ชื่อ ไทโรซีน (Tyrosine)
- โดพามีน(Dopamine), อิพิเนฟริน(Epinephrine) และ นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ก็จัดเป็นกลุ่มฮอร์โมนที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า แคทีโคลามีน (Catecholamine) หรือนักวิทยาศาสตร์หลายคนจะเรียกแคทีโคลามีนว่าเป็นสาร สื่อประสาทประเภทหนึ่งก็ได้ ฮอร์โมนกลุ่มแคทีโคลามีนมีต้นกำเนิดจากกรดอะ มิโนที่ชื่อว่า ฟีนิลอะลานีน(Phenylalanine) และไทโรซีน (Tyrosine)
ทั้งนี้ ฮอร์โมนที่มีต้นกำเนิดจากกรดอะมิโนต่างชนิดกัน จะแสดงฤทธิ์ต่ออวัยวะเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป เช่น เมลาโทนิน จะเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการนอนหลับ ขณะที่ไทรอยด์ฮอร์โมน จะควบคุมเรื่องระบบการเผาผลาญพลังงานและการเจริญเติบโตของเซลล์ ส่วนอิพิเนฟริน จะมีความสัมพันธ์กับการกระตุ้นร่างกายให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่คับขัน เช่น ระหว่างการต่อสู้ เป็นต้น
2. เปปไทด์ ฮอร์โมน(Peptide Hormone) เป็นฮอร์โมนที่มีโครงสร้างของสายโปรตีนซึ่งประกอบไปด้วยกรดอะมิโนหลายชนิดมาเรียงต่อกันเป็นสาย หากการเรียงต่อของกรดอะมิโนและได้สายโปรตีนสั้นๆ เราจะเรียกว่า เปปไทด์ ฮอร์โมน แต่ถ้าการเรียงตัวของกรดอะมิโนเป็นสายยาวมากๆ เราจะเรียกว่า โปรตีน ฮอร์โมน(Protein hormone)
ตัวอย่างของฮอร์โมนในหมวดนี้ ได้แก่ Amylin, Thyrotropin-releasing hormone, Corticotropin-releasing hormone, Growth hormone-releasing hormone, Growth hormone inhibitory hormone (Somatostatin) , Gonadotropin-releasing hormone ,Growth hormone, Thyroid-stimulating hormone , Adiponectin Adrenocorticotropic hormone , Prolactin , Vasopressin, Oxytocin, Follicle-stimulating hormone , Luteinizing hormone , Calcitonin, Insulin ,Glucagon , Parathyroid hormone Human chorionic gonadotropin, Human somatomammotropin, Renin , Erythropoietin และอื่นๆ
3. สเตียรอยด์ ฮอร์โมน(Steroid Hormone) มีโครงสร้างต่างจาก เอมีน ฮอร์โมน และเปปไทด์ ฮอร์โมน เพราะฮอร์โมนประเภทนี้มีต้นกำเนิดจากกรดไขมันซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นของการสังเคราะห์สารหลายชนิดในร่างกาย สเตียรอยด์ ฮอร์โมนสามารถละลายในเนื้อเยื่อชั้นไขมันได้ดี การออกฤทธิ์ของสเตียรอยด์ ฮอร์โมนมีความโดดเด่นตรงที่ว่า สเตียรอยด์ ฮอร์โมน สามารถถูกดูดซึมเข้าภายในเซลล์เมื่อเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ในนิวเคลียสของเซลล์ และจะเกิดเป็นสารเชิงซ้อนที่จะเข้าไปรวมตัวกับสารพันธุกรรม(DNA) ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในระดับกายภาพของเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้าม ฮอร์โมนที่ไม่จัดเป็น สเตียรอยด์ ฮอร์โมน ส่วนมากจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับในบริเวณผิวนอกของเซลล์และไม่ สามารถเข้าจับกับสารพันธุกรรมเหมือนสเตียรอยด์ ฮอร์โมน
ตัวอย่างของฮอร์โมนในกลุ่มนี้ที่น่าสนใจ ได้แก่ Dehydroepiandrosterone , Androstenedione, Dihydrotestosterone ,Cortisol , Aldosterone , Estradiol , Estrone, Estriol , Testosterone , Progesterone, Calcidiol , Calcitriol , Atrial natriuretic peptide , Gastrin ,Cholecystokinin, Leptin, Secretin
4. เอโคซานอยด์(Eicosanoids) เป็นสารชีวโมเลกุลที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมน โดยมีพื้นฐานโครงสร้างถูกสังเคราะห์มาจากกรดไขมันที่มีชื่อว่า อะแรคิโดนิก (Arachidonic acid) เอโคซานอยด์จะส่งสัญญาณหรือแสดงบทบาทในกระบวน การอักเสบ การแพ้ ทำให้เกิด อาการไข้ การคลอดบุตร การแท้ง ความเจ็บ/ปวด การเจริญเติบโตของเซลล์ ความดันโลหิต ตัวอย่างของเอโคซานอยด์ ได้แก่ Prostaglandins, Leukotrienes, Prostacyclin, และ Thromboxanes
ฮอร์โมนทดแทนบำบัดคืออะไร?
ธรรมชาติสร้างฮอร์โมนแต่ละตัวขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป การรักษาสมดุลของฮอร์โมนเหล่านั้นให้อยู่ในภาวะสมดุลจะทำให้กระบวนการดำรงชีวิตของร่างกายเป็นไปอย่างราบรื่น/ปกติ บุคคลใดมีฮอร์โมนมากหรือน้อยเกินไปจะก่อให้เกิดสัญญาณสั่งการให้ร่างกายมีการตอบสนองในเชิงลบเสียเป็นส่วนมาก ความก้าวหน้าของการแพทย์แผนปัจจุบันทำให้มนุษย์สามารถสังเคราะห์สารชีวโมเลกุลที่เลียนแบบฮอร์โมนของร่างกายได้หลายชนิด และนำมารักษาผู้ป่วยที่มีภาวะพร่อง/ขาดฮอร์โมน/ฮอร์โมนมีระดับต่ำกว่าปกติ ที่เรียกว่า “ฮอร์โมนทดแทนบำบัด หรือฮอร์โมนชดเชยบำบัด หรือทั่วไปเรียกว่า ฮอร์โมนเสริม หรือการเสริมฮอร์โมน (Hormone replacement therapy ย่อว่า HRT)” เช่น
- ผู้ป่วยด้วยไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ต้องรับประทานยาไทรอยด์ฮอร์โมน/ ยาไทรอยด์สังเคราะห์เข้าไปทดแทนไทรอยด์ ฮอร์โมนธรรมชาติ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 เป็นภาวะร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทางการแพทย์จะให้ยาอินซูลินเข้าไปชดเชย เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยสามารถนำน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดมาใช้ได้อย่างปกติ
จากตัวอย่างข้างต้น พอจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของฮอร์โมนทดแทนบำบัดได้ดียิ่งขึ้น
ทราบได้อย่างไรว่าต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนบำบัด?
ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมน จะต้องเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ รวมถึง การตรวจเลือด เพื่อดูความผิดปกติของระดับฮอร์โมนตัวที่ต่ำเกินไปในเลือด พร้อมกับตรวจสอบอาการที่เกิดขึ้นว่าสอดคล้องกันหรือไม่กับระดับฮฮร์โมนนั้นๆในเลือด การคาดเดาจากอาการเพียงอย่างเดียวโดยไม่ตรวจหาระดับฮอร์โมน มีความเสี่ยงต่อการวิเคราะห์อาการโรคผิดสูง ผู้บริโภคหรือผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับภาวะพร่องฮอร์โมนได้จากแพทย์ผู้ชำนาญทางระบบต่อมไร้ท่อจากสถานพยาบาลทั่วประเทศไทย
ฮอร์โมนทดแทนบำบัดเหมาะที่จะรักษาอาการหรือโรคประเภทใดบ้าง?
ฮอร์โมนทดแทนบำบัด มักจะใช้รักษาอาการโรคที่มีสาเหตุจากภาวะฮอร์โมนธรรมชาติของร่างกายมีระดับต่ำจนทำให้เสียสมดุลภาพในการดำเนินชีวิต อย่างเช่น
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 สาเหตุจากเซลล์ของตับอ่อนเสื่อมสภาพ ทำให้การผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอต่อการใช้งานของร่างกาย
- โรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ สาเหตุจากต่อมไทรอยด์เสื่อมสภาพหรือถูกตัดทิ้งหรือเป็นมะเร็ง (มะเร็งต่อมไทรอยด์) จึงเป็นเหตุให้การผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
- ภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ อาจมีสาเหตุจากต่อมพาราไทรอยด์ถูกตัดหรือเกิดเนื้องอก ส่งผลให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ การฉีดยาพาราไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นทางเลือกที่แพทย์สามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
- ภาวะต่อมใต้สมองทำงานน้อย(Hypopituitarism) สามารถส่งผลกระทบทำให้ฮอร์โมน 3 ตัวขึ้นไปลดต่ำลง เช่น Follicle-stimulating hormone, Luteinizing hormone, Growth hormone
- ภาวะเบาจืด(Diabetes insipidus) ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะมาก กระหายน้ำบ่อย สาเหตุเกิดจากมีความเสียหายที่สมองส่วนไฮโปธาลามัส เป็นเหตุให้ฮอร์โมน Vasopressin ลดต่ำลง การใช้ยา Desmopressin ที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับ ฮอร์โมน Vasopressin จะช่วยบรรเทาอาการเบาจืดได้เป็นอย่างดี
- ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย (Hypoandrogenism/Androgen deficiency) ส่งผลทำให้มวลกล้ามเนื้อต่ำลง มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล อ่อนเพลีย หรือรู้สึกร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากอายุมาก
- ภาวะพร่องฮอร์โมนในเพศหญิงเมื่อหมดประจำเดือน(Menopause) สังเกตได้จาก มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน ช่องคลอดแห้ง คันช่องคลอด ปัสสาวะขัด ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น/น้ำหนักตัวเกิน ภาวะมีสาเหตุจากรังไข่หมดความสามารถในการผลิตฮอร์โมน หรือถูกตัดออกก่อนวัยหมดประจำเดือน เช่น ในมะเร็งรังไข่
อนึ่ง ยังมีบางเงื่อนไขทำให้ร่างกายพร่องฮอร์โมนบางชนิดได้ชั่วคราวโดยมีสาเหตุจากผลข้างเคียงจากยาบางประเภท เช่น ยาเคมีบำบัด การขาดแคลนสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างฮอร์โมน หรือได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณอวัยวะที่สร้างฮอร์โมน กรณีนี้แพทย์อาจจะรักษาโดยใช้วิธีฮอร์โมนบำบัดหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ตลอดจนกระทั่งความรุนแรงของการพร่องฮอร์โมนเป็นสำคัญ
ฮอร์โมนที่นำมาใช้ทดแทนบำบัดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาหรือเภสัชภัณฑ์ของกลุ่มฮอร์โมนทดแทน มีทั้งลักษณะแบบ
- ยาฉีด
- ยารับประทาน
- ยาครีม
- พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
- สเปรย์สำหรับฉีดพ่น
- ยาเม็ดสำหรับสอดช่องคลอด
- ห่วงหรือวงแหวนสำหรับสอดช่องคลอด
การทำฮอร์โมนทดแทนบำบัดมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การรักษาโดยฮอร์โมนทดแทนบำบัด ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาหรือเภสัชภัณฑ์ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และยังต้องมารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
ฮอร์โมนทดแทนบำบัดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ฮอร์โมนทดแทนบำบัด เป็นการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์หรือตัวยาที่ผลิตขึ้นมาเลียนแบบฮอร์โมนธรรมชาตินั้นๆ ฮอร์โมนเหล่านั้นสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (อาการข้างเคียง /ผลข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อเอง การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ผลต่อระบบประสาท มีอาการทางผิวหนัง ทางการมองเห็น ระบบขับถ่ายปัสสาวะ/ระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงาน ของไต ของตับ การทำงานของระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลที่มีการตอบสนองต่อฮอร์โมนสังเคราะห์ที่แตกต่างกันออกไป
มีข้อควรระวังการใช้ฮอร์โมนทดแทนบำบัดอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ฮอร์โมนทดแทนบำบัด เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยาฮอร์โมนนั้นๆ
- ห้ามปรับขนาดการใช้ฮอร์โมนด้วยตนเอง
- การใช้ยาอื่นใดขณะได้รับฮอร์โมนทดแทนบำบัด ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกาย การตรวจเลือดตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ไม่ใช้ยาหมดอายุ
- ไม่เก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมฮอร์โมนทดแทนบำบัดด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับฮอร์โมนทดแทนบำบัด?
อาจใช้หลักปฏิบัติง่ายๆเพื่อดูแลตนเองหลังจากได้รับยาฮอร์โมนทดแทนดังนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด เช่น การพักผ่อน การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนตามธรรมชาติ
- ใช้ฮอร์โมนที่แพทย์สั่งจ่ายอย่างถูกต้องตรงตามคำสั่งของแพทย์
- หากพบอาการผิดปกติหลังได้รับฮอร์โมนทดแทน เช่น มีอาการหน้าอก/เต้านมโต มีเลือดออกทางช่องคลอด ใบหน้าบวม ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด เกิดผื่นคันตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- รับการรักษาต่อเนื่องครบระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด และไม่ควรหยุดการรักษา/หยุดยาฮอร์โมนโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
ควรเก็บรักษายาประเภทฮอร์โมนอย่างไร?
ควรเก็บยาฮอร์โมนต่างๆภายใต้เงื่อนไขที่ระบุมาในเอกสารกำกับยา ฮอร์โมนสังเคราะห์หลายชนิดต้องเก็บภายในตู้เย็นแต่ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง ยาฮอร์โมนบางประเภทสามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น แต่ทุกชนิด ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาฮอร์โมนให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และไม่เก็บยาฮอร์โมนที่เปลี่ยนสภาพหรือที่หมดอายุแล้ว
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_human_hormones [2017,Dec23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hormone [2017,Dec23]
- http://www.rajaha.com/types-hormones/ [2017,Dec23]
- http://www.ikonet.com/en/visualdictionary/static/us/hormones [2017,Dec23]
- https://blog.cognifit.com/types-of-hormones/ [2017,Dec23]
- http://www.healthguidance.org/entry/15893/1/List-of-Human-Hormones-and-Their-Importance.html [2017,Dec23]