อ้วนลงพุง (ตอนที่ 1)

อ้วนลงพุง-1

      

Marie K. Christakis, MD, MPH ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสูตินรีเวชวิทยา (Obstetrics and gynecology) ที่ St. Michael’s Hospital และ University of Toronto ได้กล่าวว่า โรคอ้วนลงพุง หรือ Metabolic syndrome ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ในการเสียชีวิตของผู้หญิง

โดยเธอและทีมงานได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลของผู้หญิง 12,611 ราย ที่มีอายุระหว่าง 45-85 ปี ที่ได้เข้าร่วมในการศึกษาระยะยาวตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2558 โดยแบ่งเป็น ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal women) จำนวน 10,035 ราย และ ผู้หญิงก่อนหมดประจำเดือน (Premenopausal women) จำนวน 2,576 ราย และพบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีโอกาสสูงในการเป็นโรคอ้วนลงพุงมากกว่าผู้หญิงก่อนหมดประจำเดือน

โรคอ้วนลงพุง หรือ ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกี่ยวข้องและมีสาเหตุมาจากความอ้วนซึ่งมีมูลเหตุมาจากการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติ (Metabolism) การเกิดกลุ่มอาการจะก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้มากกว่าการมีอาการใดอาการหนึ่ง โดยร้อยละ 23 ของผู้ใหญ่จะมีโอกาสสูงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease) โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับไขมันที่ผนังหลอดเลือด

อาการที่ปรากฏชัดของโรคอ้วนลงพุงก็คือ การมีรอบเอวที่ใหญ่ ซึ่งหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือเป็นเบาหวาน จะมีอาการกระหายน้ำและปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย และมองไม่ชัดด้วย

สำหรับสาเหตุของโรคอ้วนลงพุงเกิดจากการมีน้ำหนักตัวมากและไม่ออกกำลังกาย นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะที่เรียกว่า “ภาวะดื้อต่ออินซูลิน” (Insulin resistance) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายสามารถตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ

ทั้งนี้ โดยปกติระบบย่อยอาหารจะแปลงสภาพอาหารให้กลายเป็นน้ำตาล ในขณะที่ฮอร์โมนอินซูลินซึ่งสร้างโดยตับอ่อนจะทำหน้าที่นำน้ำตาลในกระแสเลือดไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกายเพื่อเผาผลาญเป็นพลังงาน

แต่กรณีของผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ฮอร์โมนอินซูลินจะไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าไปยังเซลล์เพื่อให้เกิดการเผาผลาญเป็นพลังงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น กลายเป็นโรคเบาหวานได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเมแทบอลิกซินโดรมเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • อายุที่มากขึ้น
  • โรคอ้วน
  • โรคเบาหวาน
  • โรคอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันพอกตับ (Nonalcoholic fatty liver disease) ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome) หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)

ส่วนโรคแทรกซ้อนที่เกิดตามมาหลังภาวะเมแทบอลิกซินโดรม ได้แก่

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes)
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด

แหล่งข้อมูล:

  1. Risk for metabolic syndrome rises after menopause. https://www.healio.com/news/endocrinology/20200729/risk-for-metabolic-syndrome-rises-after-menopause?utm_source=selligent&utm_medium=email&utm_campaign=news&m_bt=2412463177520[2020, August 13].
  2. Metabolic syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/metabolic-syndrome/symptoms-causes/syc-20351916 [2020, August 13].
  3. About Metabolic Syndrome. https://www.heart.org/en/health-topics/metabolic-syndrome/about-metabolic-syndrome [2020, August 13].
  4. Metabolic Syndrome. https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/metabolic-syndrome [2020, August 13].