อีโทโนเจสเตรล (Etonogestrel)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 ธันวาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- อีโทโนเจสเตรลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อีโทโนเจสเตรลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีโทโนเจสเตรลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีโทโนเจสเตรลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฝังยาคุมกำเนิดอีโทโนเจสเตรลควรทำอย่างไร?
- อีโทโนเจสเตรลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีโทโนเจสเตรลอย่างไร?
- อีโทโนเจสเตรลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีโทโนเจสเตรลอย่างไร?
- อีโทโนเจสเตรลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- การคุมกำเนิด (Contraception)
- การวางแผนครอบครัว (Family planning)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ประจำเดือนผิดปกติ (Menstrual disorder)
- ประจำเดือน (Menstruation)
บทนำ
ยาอีโทโนเจสเตรล(Etonogestrel หรือ 11- Methylenelevonorgestrel หรือ3-keto-desogestrel) เป็นยาประเภทฮอร์โมนเพศที่ใช้คุมกำเนิด มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันที่ใช้ฝังใต้ผิวหนัง(ยาฝังคุมกำเนิด) โดยตัวยาจะถูกบรรจุในแท่งพลาสติกเล็กๆ การใช้งานต้องให้แพทย์ฝังเข้าใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขนส่วนบน ยาอีโทโนเจสเตรลมีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ในสตรี และทำให้ปากมดลูกและเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงจนยากต่อการฝังตัวของไข่ รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อสเปิร์ม(Sperm หรือ ตัวอสุจิ)ที่จะว่ายผ่านปากมดลูกเข้าไปในมดลูก การฝังฮอร์โมนอีโทโนเจสเตรลครั้งหนึ่งสามารถคุมกำเนิดได้ยาวนานถึง 3 ปี ปัจจุบัน จะรู้จักยาคุมกำเนิดชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Implanon”
ผู้บริโภคควรทราบข้อมูลสำคัญๆบางประการของยาอีโทโนเจสเตรลดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้ยาอีโทโนเจสเตรลกับผู้ป่วย โรคตับ มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก โรคหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมถึงผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
- ห้ามใช้กับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ และเด็ก
- การใช้ยาฮอร์โมนอีโทโนเจสเตรล กับสตรีที่สูบบุหรี่จัด จะเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด โรค/ภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วนมากๆ
ทั้งนี้ ก่อนที่จะใช้ยาอีโทโนเจสเตรล ควรต้องพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจประเมินร่างกาย และโรคประจำตัวบางอย่างที่อาจได้รับผลกระทบ(อาการแย่ลง)อย่างมากหากใช้ยาอีโทโนเจสเตรล เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง(โรคไขมันในเลือดสูง) สตรีที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดก็ถูกจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่แนะนำให้ใช้ยาฮอร์โมนชนิดนี้ และรวมถึงสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วย
หลังจากได้รับการฝังยาคุมกำเนิดอีโทโนเจสเตรลแล้ว ปรากฏว่ามีประจำเดือนมาผิดปกติ ควรต้องรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
อนึ่ง ในช่วงเวลาที่ใช้ฮอร์โมนอีโทโนเจสเตรล ผู้บริโภคควรตรวจคลำก้อนเนื้อ เต้านมของตนเองเป็นระยะๆตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ และควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง เพื่อแพทย์ตรวจร่างกาย ตรวจมะเร็งเต้านม และเมื่อครบเวลา 3 ปี ก็ให้แพทย์นำแท่งพลาสติกที่บรรจุยาออกจากท้องแขนให้เป็นที่เรียบร้อย
ยาอีโทโนเจสเตรล เป็นยาประเภทยาอันตราย มีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงมากมาย การใช้ยาฮอร์โมนชนิดนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
อีโทโนเจสเตรลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร ?
ยาอีโทโนเจสเตรลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ช่วยคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์
อีโทโนเจสเตรลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธ์ของยาอีโทโนเจสเตรลคือ ตัวยาซึ่งเป็นสารเมตาโบไลท์ (Metabolite,สารที่เกิด/สังเคาระห์จากกระบวนการทางเคมี) ของยา Desogestrel ที่สามารถออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิด โดยยับยั้งการตกไข่ของสตรี และทำให้ปากมดลูกและเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดสารเมือกข้นเหนียวที่ทำให้ยากต่อการฝังตัวของไข่ และเป็นอุปสรรคต่อตัวอสุจิมิให้ว่ายเข้าสู่โพรงมดลูก จากกลไกที่กล่าวมาจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ตามสรรพคุณ
อีโทโนเจสเตรลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีโทโนเจสเตรลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาคุมกำเนิดชนิดฝังใต้ผิวหนัง โดยบรรจุฮอร์โมนสังเคราะห์อีโทโนเจสเตรล ขนาด 68 มิลลิกรัม ในแท่งพลาสติกเล็กๆ
อีโทโนเจสเตรลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอีโทโนเจสเตรล มีขนาดการบริหารยาใช้ยา เช่น
- ผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: ฝังหลอดยาฮอร์โมนนี้ใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขนส่วนบน 1 แท่ง โดยใช้หัตถการที่ถูกต้องในสถานพยาบาล การฝังฮอร์โมนนี้ให้กระทำในวันที่ 1 – 5 ของการมีประจำเดือน หรือฝังยาฮอร์โมนนี้หลังจากรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเม็ดสุดท้ายเสร็จสิ้น
*อนึ่ง
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- การฝังแท่งฮอร์โมนนี้ แพทย์จะฝังในตำแหน่งท้องแขนเพื่อหลบสายตา ไม่ให้เป็นที่สังเกตเห็นได้ง่าย
- ขณะได้รับการฝังแท่งฮอร์โมนนี้ ผู้บริโภคจะยังสังเกตเห็นร่องรอยและสัมผัสได้ว่าแท่งยาฮอร์โมนยังอยู่ในตำแหน่งเดิมใต้ผิวหนัง หากพบว่าแท่งยาฮอร์โมนนี้หายไป หรือคลำไม่พบ ให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลด่วน ไม่ต้องรอถึงวันนัด
- ให้แพทย์นำแท่งยาฮอร์โมนออก เมื่อใช้ไปแล้วครบ 3 ปี และสามารถใช้แท่งยาฮอร์โมนนี้ใหม่ได้ โดยเป็นไปตามคำสั่งหรือตามความเห็นชอบของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีโทโนเจสเตรล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดตีบตัน โรคไมเกรน หลอดเลือดำขอด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีโทโนเจสเตรล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฝังยาคุมกำเนิดอีโทโนเจสเตรลควรทำอย่างไร?
ยาอีโทโนเจสเตรล เป็นยาที่ใช้ได้ระยะเวลานาน (3 ปี) ถึงจะฝังยาหลอดใหม่ได้ จึงไม่น่าใช่เรื่องเสี่ยงต่อการหลงลืมการใช้ยาแต่อย่างใด
อีโทโนเจสเตรลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีโทโนเจสเตรล สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อบริเวณผิวหนังที่ฝังยาคุมกำเนิดนี้: เช่น รู้สึกเจ็บบริเวณที่ฝังยา
- ผลต่อผิวหนังทั่วไป: เช่น เกิดสิวตามผิวหนังได้ทั่วไป
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้
- ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ภายในเพศหญิง: เช่น มีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ/ประจำเดือนผิดปกติ ช่องคลอดอักเสบ ขาดประจำเดือน เกิดตกขาว
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน กระสับกระส่าย
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไซนัสอักเสบ คออักเสบ เกิดการติดเชื้อ ระบบทางเดินหายใจส่วนบน
มีข้อควรระวังการใช้อีโทโนเจสเตรลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอีโทโนเจสเตรล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยเนื้องอกตับหรือมะเร็งตับ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม โรคหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ระวังการใช้ยาอีโทโนเจสเตรลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน/อ้วน ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะบ่อย โรคไมเกรน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- หยุดการสูบบุหรี่ และการดื่มสุราระ หว่างที่มีการใช้ยาคุมกำเนิดนี้
- อาการข้างเคียงต่างๆ อาจจะเกิดกับผู้ที่ใช้ยาอีโทโนเจสเตรลได้ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
- เมื่อใช้ยานี้ หมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองตามแพทย พยาบาล เภสัชกร แนะนำ เพื่อดูว่ามีก้อนเนื้อ(ก้อนเนื้อในเต้านม)เกิดขึ้นหรือไม่
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด ว่าผิดปกติหรือไม่ ตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมอีโทโนเจสเตรลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อีโทโนเจสเตรลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
อีโทโนเจสเตรลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอีโทโนเจสเตรลร่วมกับยาต้านไวรัส เช่น Amprenavir อาจเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาอีโทโนเจสเตรลด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอีโทโนเจสเตรลร่วมกับยา Rifampin และ Phenobarbital อาจทำให้ ระดับยาอีโทโนเจสเตรลในเลือดลดต่ำลง และส่งผลให้มีภาวะเลือดออกจากช่องคลอดติดตามมา(ประจำเดือนผิดปกติ) หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาอีโทโนเจสเตรลร่วมกับยาTheophylline อาจทำให้ระดับยา Theophylline ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมา กรณีต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาอีโทโนเจสเตรลอย่างไร?
ควรเก็บยาอีโทโนเจสเตรล ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และพ้นสัตว์เลี้ยง
อีโทโนเจสเตรลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีโทโนเจสเตรลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Implanon NXT (อิมพลานอน เอ็นเอ็กซ์ที) | MSD |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Nexplanon, Implanonand , NuvaRing