อีมีทีน (Emetine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- อีมีทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อีมีทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีมีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีมีทีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากไม่ได้รับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- อีมีทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีมีทีนอย่างไร?
- อีมีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีมีทีนอย่างไร?
- อีมีทีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- โรคบิดมีตัว โรคบิดอะมีบา (Amebic dysentery)
- โรคบิด (Dysentery)
- โรคฝีตับ (Liver abscess)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
บทนำ
ยาอีมีทีน(Emetine หรือ Emetine Hydrochloride หรือ Emetine HCl) เป็นยาต้านเชื้อโปรโตซัว(Antiprotozoal agent) สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้ออะมีบาซึ่งเป็นต้นเหตุของ โรคบิดมีตัว โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้ออะมีบาของผิวหนัง และฝีตับ สารประกอบอีมีทีนถูกค้นพบอยู่ในรากของพืชจำพวกIpecac (พืชชนิดหนึ่ง ถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้)ที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ผู้ที่รับประทานยาเกิดอาการอาเจียน ด้วยอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)นี้เอง ทำให้ยาอีมีทีนถูกลดบทบาทจากยารับประทาน เปลี่ยนมาเป็นยาฉีด โดยต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือไม่ก็ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
หลังได้รับการฉีดยาอีมีทีน ตัวยานี้สามารถกระจายแพร่ผ่านเข้าในกระแสเลือด และในหลายอวัยวะ เช่น ตับ ไต ปอด และม้าม เป็นต้น ร่างกายต้องใช้เวลานานประมาณ 40–60 วันเพื่อกำจัดยานี้ออกไปกับปัสสาวะ
โดยทั่วไป การใช้ยาฉีดอีมีทีนจะมีแต่ในสถานพยาบาลและถูกระบุให้ใช้กับผู้ใหญ่เท่านั้น แพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายการใช้ยานี้ได้เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด ระหว่างที่ใช้ยานี้ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจประเมินการทำงานของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อ และของไตร่วมด้วยตามคำสั่งแพทย์ เพราะยาอีมีทีนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงกับอวัยวะดังกล่าวได้
ทางคลินิกได้ระบุระยะเวลาในการใช้ยาอีมีทีนเพื่อรักษาการติดเชื้ออะมีบาระยะ ลุกลามเป็นเวลา 10 วัน
สำหรับข้อจำกัดการใช้ยาอีมีทีนที่ควรทราบ มีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับทั้งมารดาและทารก
- ห้ามใช้กับผู้ที่มี โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคของระบบกล้ามเนื้อ/โรคกล้ามเนื้อ ด้วยยานี้จะทำให้อาการของโรคดังกล่าวรุนแรงได้มากขึ้น
- ระหว่างที่ได้รับยานี้แล้วมีอาการผิดปกติของหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
ปัจจุบันในตลาดการค้ายา เราสามารถพบเห็นยาที่มีโครงสร้างเลียนแบบและคล้ายกับยาอีมีทีน ซึ่งมีชื่อสามัญว่า Dehydroemetrine โดยการบริหารยากลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว
อีมีทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอีมีทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษา โรคบิดมีตัว โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคฝีตับ ที่มีสาเหตุจากเชื้ออะมีบา
อีมีทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
จากผลงานศึกษาวิจัยพบว่า ยาอีมีทีนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวยาจะส่งผลยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนในสิ่งมีชีวิตเล็กๆอย่างอะมีบา โดยตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมของเชื้ออะมีบาที่เรียกว่า ไรโบโซม(Ribosome) ส่งผลให้เชื้ออะมีบาหมดสภาพในการเจริญเติบโตตลอดจนในการกระจายพันธุ์ เชื้ออะมีบาจึงตายลงในที่สุด
อีมีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีมีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Emetine Hydrochloride 30 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
อีมีทีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอีมีทีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนังขนาด 60 มิลลิกรัม/วัน โดยใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลา 10 วัน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีมีทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ช้าแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคกล้ามเนื้อ รวมทั้ง กำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีมีทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากไม่ได้รับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
การใช้ยาอีมีทีน มีใช้แต่เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น และต้องใช้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการฉีดยานี้จึงเป็นไปได้น้อยมาก
อีมีทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีมีทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อหัวใจ: เช่น การตรวจECG ให้ผลผิดปกติ/การทำงานของหัวใจผิดปกติ หัวใจล้มเหลว
- ผลต่อไต: เช่น เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้อีมีทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอีมีทีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วย โรคหัวใจ โรคไต ผู้ที่มีภาวะเส้นประสาทอักเสบ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีตะกอนผงในยา
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในเด็ก
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอีมีทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อีมีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ข้อมูลปฏิกิริยาระหว่างยาอีมีทีนกับยาชนิดอื่นๆ มีเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะไม่มากเท่าใดนัก จึงไม่มีข้อมูลในการสืบค้น อย่างไรก็ตาม หากพบว่าการใช้ยาชนิดใดร่วมกับยาอีมีทีน แล้วเกิดอาการผิดปกติขึ้น ควรรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีเพื่อ ได้รับการรักษาโดยเร็ว
ควรเก็บรักษาอีมีทีนอย่างไร?
ควรเก็บยาอีมีทีนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อีมีทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีมีทีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Emetine injection (อีมีทีน อินเจ็คชั่น) | Stembin |
บรรณานุกรม
- http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=273&type=1[2017,July29]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/emetine/?type=brief&mtype=generic[2017,July29]
- http://www.mims.com/india/drug/info/emetine?type=full&mtype=generic#Indications[2017,July29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Emetine#Use_as_anti-amoebic[2017,July29]
- https://www.scribd.com/document/344146576/Emetine-Hydrochloride-30-Mg-ML-Sterile-Injection[2017,July29]
- https://books.google.co.th/books?id=cJdplH5a6-IC&pg=SA7-PA3&lpg=SA7-PA3&dq=emetine+injection+brand+name&source=bl&ots=iMlqZUFzNF&sig=sKoZf6oawWeH6KKv3i1FpsMGLzE&hl=th&sa=X&ved=0ahUKEwjZhLm-s_DUAhUKvo8KHbjvD4QQ6AEIWDAG#v=onepage&q=emetine%20injection%20brand%20name&f=false[2017,July29]